ไทยตรวจเข้มต่างชาติ กว่าแสนคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย อยู่เกินอายุวีซ่า

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.11.13
กรุงเทพฯ
171113-TH-foreign-tourist-1000.jpg ชาวต่างชาติเดินย่านซอยนานา ในกรุงเทพฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่จับตามองชาวต่างชาติที่เข้ามากระทำผิดกฎหมาย วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 (เบนาร์นิวส์)
Photo: Benar

ในวันจันทร์ (13 พฤศจิกายน 2560) นี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า รัฐบาลจะผลักดันชาวต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายและอยู่ในประเทศไทยเกินกำหนดอายุของวีซ่ากลับประเทศ เพื่อป้องกันกลุ่มอาชญากรที่อาจแฝงตัวมาก่อเหตุในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มรัฐอิสลาม (IS)

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า รัฐบาลกำลังผลักดันให้ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกินอายุของวีซ่ากลับประเทศ

“เราก็กวาดล้างอยู่แล้ว ถึงแสนเหรอไม่รู้ แต่ว่าลงไปจับทางด้านใต้ก็ได้ร้อยกว่าคน ก็ไปทำในพื้นที่ที่มีพวกโอเวอร์สเตย์ เราก็กลัวพวกแอบแฝงเข้ามาเป็นไอเอสอะไรพวกนี้ เจ้าหน้าที่มันไม่สามารถตรวจสอบได้ตลอด ดังนั้นเราก็ไปดำเนินการจับกุมพวกโอเวอร์สเตย์ทั้งหลายแหล่” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

การกล่าวถึงเรื่องนี้ของ พล.อ.ประวิตร สืบเนื่องจากมีการเปิดเผยของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองว่า ในปี 2017 ประเทศไทยพบว่า มีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกินอายุวีซ่าถึงกว่า 1 แสนคน

และล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่จับกุมตัวในจังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดภูเก็ตได้เริ่มทำการติดตามกวาดล้างชาวต่างชาติ 142 ราย ที่รับข้อมูลมาว่า มีการจ่ายสินบนถึง 100 ล้านบาทต่อเดือน แก่ตำรวจท้องที่ในการขอต่ออายุวีซ่าชั่วคราวในภูเก็ต

ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดภูเก็ตรายงานว่า ตั้งแต่วันอังคารถึงวันพฤหัสบดี ได้ทำการจับกุมชาวต่างชาติ 95 คน ที่อาศัยอยู่โดยผิดกฎหมาย ประกอบด้วย ชาวอินเดีย 62 คนชาวปากีสถาน 11 คน และชาวอียิปต์ 6 คน ซึ่ง 70 ราย เป็นผู้อยู่เกินกำหนดอายุของวีซ่า และที่เหลือเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตามรายงานบางกอกโพสต์

นับตั้งแต่ปี 2547 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของสงขลา มีผู้เสียชีวิตจากการโจมตี วางเพลิง และระเบิดแล้ว กว่า 7 พันคน ซึ่งหลายเหตุการณ์มีความเชื่อมโยงกับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional - BRN) แต่ผู้นำบีอาร์เอ็นไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ

ก่อนหน้านี้ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ในประเด็นเดียวกันว่า รัฐบาลพยายามจัดการกับปัญหาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย คนเข้าเมืองและอยู่เกินเวลาวีซ่า ด้วยการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน

“พวกที่มาแล้วก็กระทบความมั่นคงของชาติ มีหลายหน่วยต้องประสานการข่าวกัน แล้วเราต้องมาอุดโอกาสเกิดเหตุให้น้อยที่สุด ถ้าเราเข้มงวดไม่ให้มันเป็นสวรรค์สำหรับผู้ร้าย โอกาสที่เขาจะเข้ามาอยู่ก็จะลำบาก ต้องใช้กฎหมายในการควบคุม ผมยกตัวอย่าง สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติได้เพิ่มมาตรการ เช่น เมื่อเราจับผู้ต้องหาได้ โดยเฉพาะพวกกลุ่มบุคคลเป้าหมาย ชาติเป้าหมายก็ให้ตรวจสอบลายนิ้วมือแฝงด้วย” พล.ท.คงชีพกล่าว

“แต่ก่อนยังไม่เคยดำเนินการ เพราะว่าระหว่างที่เราจับเขาเรื่องโอเวอร์สเตย์  หรือว่าหลบหนีเข้าเมือง เราไม่รู้เลยว่าเขาหลบหนีก่อคดีอื่นไหม อาจจะก่อคดีด้วย มีลายนิ้วมือแฝงทิ้งไว้ก็ได้ ถ้าตรวจพบมีคดีเกิดขึ้นจะต้องดำเนินคดีเขาก่อน แจ้งข้อกล่าวหาก่อนที่จะส่งเขากลับ”

ทางภาคใต้ยังไม่มีเฟซดีเทคชั่น ทางผู้บังคับบัญชาเล็งเห็นความสำคัญ จึงได้มีโครงการนี้ขึ้น ในการตรวจสอบทางรูปใบหน้าที่มันเกือบจะได้ผลเกือบจะ 100 เปอร์เซนต์” พล.ท.คงชีพ กล่าวชี้แจงเพิ่มเติม

ด้าน พล.ต.ต.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า มาตรการการควบคุมการก่อเหตุโดยชาวต่างชาติที่มาอยู่ในประเทศไทยคือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมกงสุล เพื่อให้คัดกรองเอาคนที่มีความเสี่ยงจะก่อคดีในประเทศไทยไม่ให้เข้าประเทศได้ง่าย เป็นต้น

“เราก็ต้องส่งข้อมูลบางอย่างให้กับกรมการกงศุลบ้าง เพื่อให้ใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาในการออกวีซ่า คือ ออกยากขึ้น เช่น แต่ก่อนขอร้อยอาจจะออกทั้งร้อย เดี๋ยวนี้ขอ 100 อาจจะออกแค่ 50-60 คือตรวจสอบให้เข้มงวดขึ้นจากข้อมูลที่เราส่งไปให้ใช้พิจารณา เมื่อคนร้ายเข้ามาประเทศน้อยลง ในการก่อความผิด คดีเกิดขึ้นก็น้อยลง จากสถิติการจับกุมมาอยู่ในเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก” พล.ต.ต.อิทธิพลกล่าว

“เราจับอย่างต่อเนื่อง ไม่เอาไว้ เราต้องบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ออกวีซ่า เขาเข้ามาอยู่แล้ว เราดำเนินการกับตำรวจท่องเที่ยวทุกอาทิตย์ ตามแหล่งสำคัญๆ นานา บ้างอะไรบ้าง จับได้ครั้งละหลายสิบคน เราก็ทำประวัติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ให้ตรวจสอบว่า เมื่อจับมาแล้วมีคดีอื่นอีกไหม ไม่ใช่ส่งเลย เผื่อมีลายนิ้วมือแฝงไปทำคดีอื่นอีก ก็ให้ดำเนินการที่ประเทศไทยก่อนส่งกลับ” พล.ต.ต.อิทธิพล กล่าวเพิ่มเติม

ในปี 2018 ประเทศไทยคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 32 ล้านคน ส่วนพื้นที่ที่มีอาชญากรข้ามชาติเข้ามาในการท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น กรุงเทพฯ (ย่านนานา อ่อนนุช) เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา และเกาะสมุย

สำหรับชาติที่เข้ามาก่อปัญหานั้น ได้แก่ ไนจีเรียที่มีการปลอมแปลงเอกสาร เช่น พาสปอร์ต-วีซ่า ชาวรัสเซียซึ่งถูกกวาดล้างในพัทยา เมื่อเดือนตุลาคม ชาวไต้หวันที่เข้ามาตั้งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อหลอกลวงเอาเงินจากคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมทั้งปัญหาโสเภณีจากอัฟริกาและอาหรับ เป็นต้น

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ มีส่วนในรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง