แม่ทัพภาคสี่: สถานการณ์ใต้ดีขึ้น วัดจากความเจริญในพื้นที่

มารียัม อัฮหมัด
2018.01.03
ปัตตานี
180103-TH-deepsouth-620.jpg ชาวบ้านในอำเภอเมือง จังหวัดยะลา ล้อมวงพูดคุยถึงการแก้ปัญหาไฟใต้ของภาครัฐในอดีตที่ผ่านมา วันที่ 3 มกราคม 2561
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ในโอกาสครบรอบ 14 ปี ที่ไฟใต้ลุกโชน ในวันนี้ (4 มกราคม 2561) พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น โดยวัดจากความเจริญตามในพื้นที่ โดยเฉพาะตามถนนหนทางจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไปจนถึงอำเภอเบตง จังหวัดยะลา หากชาวบ้านและเครือข่ายชาวพุทธเห็นว่าสถานการณ์ยังคงเลวร้ายอยู่ และฝ่ายขบวนการมีกำลังอยู่ในการปฏิบัติการ เพียงแต่รอจังหวะ

ในปี 2560 ที่ผ่านมา ตัวเลขความสูญเสียในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงต่ำสุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง ในอำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547

“เชื่อว่าสถานการณ์ความไม่สงบจะดีขึ้น ไม่ได้วัดจากสถิติการก่อเหตุหรือการเสียชีวิตลดลง แต่พิจารณาจากเส้นทางอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไปจนถึงอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ตลอดสองข้างทางมีร้านค้า รีสอร์ต และปั๊มน้ำมัน เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก" พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวแก่สื่อมวลชน

ในขณะที่ นายศีรวัฒน์ เจ๊ะกา พนักงานฝ่ายเร่งรัดหนี้สิน บริษัท ชูเกียรติ ลีสซิ่ง ปัตตานี เปิดเผยวานนี้ว่า ปัญหาราคายางพาราตกต่ำมีส่วนสำคัญทำให้ลูกค้าของบริษัทไม่สามารถจ่ายเงินค่างวดรถยนต์ได้ตามนัด ทำให้ลูกค้าจำนวนหนึ่งถูกยึดรถยนต์ ซึ่งสะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันได้ดี

“นับตั้งแต่ราคายางพาราตกต่ำ ทำให้ชาวสวนยางที่เช่าซื้อรถจากบริษัทอยู่ในภาวะที่แย่สุด ๆ ขาดส่งค่างวดรถยนต์เป็นจำนวนมาก อย่างยอดเดือนธันวาคมเดือนเดียว มีรถยนต์ที่ยึดมาได้ทั้งหมด 540 คัน พนักงานเร่งรัดหนี้สินต้องติดตามลูกหนี้เกือบทุกวัน นี่เฉพาะตัวเลขบริษัทเดียว และเดือนเดียวเท่านั้น” นายศีรวัฒน์ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์เมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า นับตั้งแต่ ปี 2556 เป็นต้นมา เหตุรุนแรงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ มีผู้เสียชีวิต 235 ราย บาดเจ็บ 356 ราย จากเหตุรุนแรง 545 ครั้ง (นับถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้) ในขณะที่ ในปี 2547 มีผู้เสียชีวิต 892 คน และบาดเจ็บ 1,681 คน ส่วนจำนวนความนั้นมีเกิดขึ้นทั้งหมด 19,579 ครั้ง

แม้ว่าจะถอนกำลังทหารหลักที่มาจากภาคอื่นออกไป แต่ทางการไทย ยังประจำการทหารไว้ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ประมาณ 60,000 นาย โดยปรับเปลี่ยนเป็นกำลังเป็นทหารพรานทดแทน รวมทั้ง ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาสาสมัครรักษาดินแดนร่วมปฏิบัติหน้าที่อีกหน่วยละประมาณ 20,000 นาย นอกจากนั้น ยังจะมีการจัดตั้งชุดคุ้มครองหมู่บ้านจำนวนกว่า 160 หมู่บ้าน

ส่วนปืนที่ถูกปล้นชิงไปในหลายเหตุการณ์ อยู่ในระหว่าง 1,272 ถึง 2,076 กระบอก ยึดกลับคืนมาได้ 900 กว่ากระบอก ตามตัวเลขที่เจ้าหน้าที่ทหาร กอ.รมน. ภาค 4 เคยรายงานไว้ แต่ในปัจจุบันไม่ได้มีการปรับปรุงยอดหรือการรายงานยอดที่ชัดเจน

ในช่วงปีใหม่นี้ พล.ท.ปิยวัฒน์ ได้ให้สำภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวว่า มีนักการเมืองราว 10 ราย ที่ให้การสนุบสนุนกลุ่มขบวนการด้วย ซึ่งทางการได้ล็อคเป้าหมายไว้แล้ว

นายรักชาติ สุวรรณ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวแสดงทัศนะว่า การแก้ปัญหาในพื้นที่ ต้องใช้ความเข้าใจบริบทคนท้องถิ่น และไม่ใช้มาตรการปราบปรามอย่างรุนแรง

“หลายคนมองว่าการใช้ยาแรงจะได้ผล คือ การปราบปรามอย่างจริงจัง การปิดล้อมการสู้ การวิสามัญฯ แล้วมันจะได้ผล 13 ปีมานี้ เห็นผลชัดเจนว่าพื้นที่นี้ถ้าใช้ความรุนแรง ไม่ได้ผลทั้งหมด จะต้องสร้างความเข้าใจให้กับคนในพื้นที่ด้วย รัฐต้องเข้าใจ บริบทของคนในพื้นที่ คนพื้นที่ก็ต้องเรียนรู้ข้อแตกต่างซึ่งกันและกัน เพื่อจะอยู่ร่วมกัน” นายรักชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“มองว่ารัฐมีการเปลี่ยนแปลง ค่อนข้างดีกว่าเมื่อก่อน โดยส่วนตัวผมไม่เคยมองว่ากำลังของกลุ่มขบวนการลดลง การปฏิบัติหน้าที่ของเขาอ่อนแอ ไม่น่าใช่ เขายังมีกำลังอยู่ในการปฏิบัติการเพียงแต่ว่าอยู่ในช่วงจังหวะ หรือ ช่วงที่เขากำลังปรับอะไรหรือเปล่า” นายรักชาติ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านอดีตแกนนำบีอาร์เอ็นผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม ที่เคยเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รายหนึ่ง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า "จำนวนเหตุลดลงเพราะทุกวันนี้ การที่กลุ่มขบวนการจะขยับอะไรต้องใช้ความระมัดระวัง ทหารกดอยู่ทุกพื้นที่มีทหารอยู่เต็มพื้นที่ คนเหล่านั้นจึงถูกกด”

ในส่วนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ที่ส่วนหนึ่งจะมีการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยนั้น พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ในขณะนี้ กำลังร่วมมือดำเนินการอยู่

“เรากำลังร่วมมือกันเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังคุยกันอยู่ โดยเฉพาะฝ่ายเทคนิคสุดท้ายมาตรการทั้งหมดอยู่ที่ประชาชนที่จะต้องตัดสิน ตลอด 3 ปีมานี้ ที่เรามีการพูดคุย เหตุการณ์ก็ลดลงเป็นลำดับ ปัญหาที่เกิด คือ ไม่ปลอดภัย เราก็จะต้องทำให้มันปลอดภัย” พล.อ.อักษรา กล่าว

แต่ชาวบ้านอย่างนายมูฮัมหมัดมูซอ เจะอีซอ จากนราธิวาส มองเห็นว่าหากสถานการณ์ยังคงเลวร้ายอยู่

"13 ปี ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รัฐบอกว่าดีขึ้น แต่ชาวบ้านมองว่ายังไม่ดี ช่วงนี้จะครบรอบ 13 ปี ทหารจัดวางกำลังรักษาความปลอดภัยเยอะมาก คงกลัวว่าคนร้ายจะมาปล้นปืนหรือมาก่อเหตุเพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์ แล้วเหตุการณ์มันดีตรงไหน ถ้าคนร้ายยังสามารถก่อเหตุได้ ทหารยังมีเต็มพื้นที่ ภาพเหล่านี้ไม่ได้บอกเลยว่าดีขึ้น" นายมูฮัมหมัดมูซอ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง