ทหารปัตตานีเสียชีวิต 6 นาย ในเหตุลอบวางระเบิดริมถนน

มารียัม อัฮหมัด
2017.06.19
ปัตตานี
TH-attack-1000 เจ้าหน้าที่ตรวจจุดเกิดเหตุระเบิดทหารเสียชีวิตที่บริเวณถนนเข้าอ่างเก็บน้ำ บ้านชะมา ม.3 อำเภอทุ่งยางแดง ปัตตานี วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์ (19 มิถุนายน พ.ศ. 2560) เจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังเฉพาะกิจปัตตานี 25 นี้ โดนลอบโจมตีด้วยระเบิดเสียชีวิต 6 นาย บาดเจ็บอีก 4 นาย ในอำเภอทุ่งยางแดง ปัตตานี เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า น่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการสร้างสถานการณ์ นับเป็นหนึ่งในการสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังจากเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีทหารเสียชีวิต 6 นายเช่นกัน จากเหตุลอบระเบิด ในอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส

พันเอกปราโมทย์  พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้แถลงข่าวหลังจากเกิดเหตุการณ์ว่า คนร้ายได้ลอบวางระเบิด เพื่อทำร้ายที่เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจ 25 จำนวน 10 นาย ที่ลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี และ เมื่อลาดตระเวนมาถึงจุดเกิดเหตุบริเวณถนนเข้าอ่างเก็บน้ำ บ้านชะมา ม.3 อำเภอทุ่งยางแดง จึงได้จุดชนวน

“คนร้ายไม่ทราบจำนวน ได้จุดชนวนระเบิดแสวงเครื่องที่ซุกซ่อนฝังไว้ใต้ผิวถนน  เป็นเหตุให้กำลังพลเสียชีวิต 6 นาย เป็นนายทหารชั้นประทวน 1 นาย พลทหาร 5 นาย และได้รับบาดเจ็บ 4 นาย เป็นนายทหารชั้นประทวน 2 นาย พลทหาร 2 นาย โดยผู้บาดเจ็บอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดที่โรงพยาบาล 3 นาย และส่งต่อโรงพยาบาลศูนย์ยะลา 1 นาย” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

ด้าน พ.ต.ต.ป้อมเพ็ชร ชติกลาง สารวัตรสอบสวน สภ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า การก่อเหตุน่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการสร้างสถานการณ์

“จากการสอบสวนทราบว่าเหตุเกิดขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว อยู่ในระหว่างทำการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ ผมเชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่” พ.ต.ต.ป้อมเพ็ชร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

สำหรับผู้เสียชีวิต สูญหาย และได้รับบาดเจ็บ มีดังนี้ คือ 1. จ.ส.อ. สมปราถ ศรีวาจา 2. พลทหาร อภิชาต หอยแก้ว 3. พลทหาร อดิศักดิ์ ฤทธิเดช 4. พลทหาร กิตติพงศ์ บ่อหนา 5. พลทหาร เจษฏา รุ่งวงศ์ ส่วน 6. พลทหารวีรภูมิ บุบผา ยังหาตัวไม่พบ นอกจากนั้นยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 นาย คือ ส.อ.วุฒิพงค์ เรืองพุทธ ส.ท.นรินทร์ อึ่งฮง พลทหารวุฒิชัย ณ พัทลุง และ พลทหารเจ๊ะอามี หะยีบูละ ถูกนำส่งโรงพยาบาลทุ่งยางแดง

ป่วนรอมฎอน

นับตั้งแต่เริ่มดือนถือศีลอดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม จนถึงวันนี้ จากตัวเลขของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้มีผู้เสียชีวิตทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนแล้ว 25 ราย ได้รับบาดเจ็บ 26 ราย

ทั้งนี้ ในก่อนเริ่มเดือนถือศีลอด ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ได้เกิดเหตุระเบิดจนทำให้ทหารพราน ร้อย ร. 4702 เสียชีวิตสองนาย ที่บริเวณพื้นที่เขตรอยต่ออำเภอยะหากับอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา โดยพลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวว่า เป็นการก่อกวนต้อนรับเดือนถือศีลอดที่จะมาถึงในปลายเดือนพฤษภาคม

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงนี้ เป็นการกระทำของคนร้ายที่ต้องการสร้างสถานการณ์ ก่อนเข้ารอมฎอนเหมือนทุกปีที่ทำ เพราะคิดว่าทำเดือนนี้จะได้บุญ” พลโทปิยวัฒน์ กล่าวต่อเบนาร์นิวส์

สำหรับเหตุการณ์ในวันนี้ นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่เทียบเท่าเหตุระเบิดเมื่อปลายเดือนเมษายน ที่มีทหารเสียชีวิตถึง 6 นาย จากเหตุระเบิดในอำเภอจะแนะ นราธิวาส

ด้านนายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิ จังหวัดยะลา ได้ออกมาเรียกร้องให้ชาวมุสลิม งดการกระทำที่ไม่ดีในเดือนรอมฎอน

“สิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เป็นสิบวันที่มุสลิมจะต้องสร้างคุณงามความดี มีการให้แก่ผู้อื่น ไม่ทำร้าย ไม่ทำลาย ไม่เบียดเบียนให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเสียหาย มุสลิมส่วนใหญ่จะเสียใจมาก หากมีลูกหลานญาติมิตรกระทำการใดๆ ที่เพื่อนบ้านเดือดร้อน ที่สังคมในพื้นที่วุ่นวาย มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายในช่วงเดือนรอมฎอน” นายนิมุ กล่าว

นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ ในจังหวัดนราธิวาส เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยที่ไม่มีขบวนการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นบีอาร์เอ็น พูโล บีไอพีพี หรือจีเอ็มไอพี ออกมาแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งต่างไปจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือองค์การก่อการร้ายอื่นๆ  ในต่างประเทศ ตามการเก็บข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ปรากฏว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วราวเจ็ดพันคน

เมื่อปี 2556 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เจรจากับกลุ่มผู่ก่อความไม่สงบ แต่สะดุดลง หลังถูกรัฐประหาร ในปี 2557 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รื้อฟื้นการเจรจาขึ้นอีกครั้งในปลายปีเดียวกัน

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ นี้คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และองค์กรมาราปาตานี ได้บรรลุข้อตกลงในกรอบการดำเนินการเพื่อจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง” เพื่อเป็นการทดลองขึ้นหนึ่งเขต โดยในชั้นต้น ได้ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอพื้นที่ที่น่าจะเป็นไปได้ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 5 พื้นที่ ซึ่งจะคัดเลือกให้เหลือเพียงหนึ่งพื้นที่ ในขั้นสุดท้ายอีกครั้ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง