ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรงสุดในรอบ 24 ปี

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.03.22
กรุงเทพฯ
TH-drought-1000 เกษตรกรไทยเดินบนดินแห้งแล้งแตก ในอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดหนึ่งที่ปลูกข้าวจำนวนมากที่สุดกำลังเผชิญภัยแล้งรุนแรงที่สุดที่เคยมีมา ภาพถ่ายเมื่อ 2 กรกฎาคม 2558
เอเอฟพี

เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กล่าวในวันนี้ว่า เขื่อนหลักๆ ขนาดใหญ่สองแห่งที่ส่งน้ำหล่อเลี้ยงชุมชนเมืองในภาคกลางและเมืองหลวง จะมีน้ำใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภคไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม ศกนี้ เนื่องจากระดับน้ำที่สามารถใช้การได้ ในเขื่อนบางแห่ง มีปริมาณเหลือน้อยที่สุดในรอบ 24 ปี ในขณะที่กรมบรรเทาสาธารณภัยพบว่า ประชาชนในเกือบ 17,000 หมู่บ้านของ 42 จังหวัด ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมาตั้งแต่ปี 2556

นายรักษ์ชาติ เหล็กบุญเพชร วิศวกรแผนกเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เขื่อนภูมิพล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ระดับน้ำในเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ซึ่งเป็นเขื่อนที่มีปริมาณน้ำกักเก็บมากเป็นอันดับสองของประเทศไทย และเป็นเขื่อนคู่กับเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ในการส่งน้ำหล่อเลี้ยงจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เหลือน้ำเพียงประมาณ 4,482 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 33 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาตรน้ำกักเก็บสูงสุดที่ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปริมาตรน้ำที่สามารถใช้การได้เหลือเพียง 682 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ทั้งยังต้องระบายน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภควันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่หวังว่าจะมีฝนตกในช่วงปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคม ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้

ทางด้านเจ้าหน้าที่เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนที่มีปริมาณน้ำกักเก็บอันดับสาม ในจำนวนเขื่อนหลักๆ 33 แห่งทั่วประเทศ ได้กล่าวว่า ถึงตอนเย็นของวันนี้ ทางเขื่อนมีปริมาณอยู่ที่ 4,129 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำที่สามารถใช้การได้ 1,279.01 ล้านลูกบาศก์เมตร และปล่อยน้ำวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในเรื่องนี้ นายสาธิต ทรายแก้ว เจ้าหน้าที่เขื่อนภูมิพล กล่าวเสริมว่า ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนภูมิพล ถือเป็นปริมาณที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ ปี 2535 เป็นต้น สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากการคำนวณปริมาณน้ำผิดพลาดในปี 2555 เพราะได้ปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ไม่มีน้ำมาชดเชยให้กักเก็บในปีถัดมา

“ปริมาณน้ำปีนี้น้อยที่สุดนับตั้งแต่ ปี 2535 ซึ่งในปีนั้นต้องหยุดการผลิตไฟฟ้า” นายสาธิตกล่าว

ปรากฎการณ์ฝนแล้งจากเอลนิญโญ่ใกล้สิ้นสุด

นายพฤฒิพงศ์ ทัศน์อัญชุลีกุล ผอ. สำนักงานชลประทานรังสิตใต้ กล่าวว่า ในภาพรวม น้ำที่มีในเขื่อนหลักสี่แห่ง ที่ส่งเข้ามาหล่อเลี้ยงภาคกลาง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล  เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ 9,260 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 37 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำเก็บกักของเขื่อน และมีน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้รวม 2,564 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภค และเพื่อนิเวศน์ทางน้ำได้ถึง 30 กรกฎาคม ปีนี้ โดยคาดว่าหลังจากนั้นจะมีฝนตกมาลดปัญหา

“ตอนนี้เป็นเอลนิญโญ่ และช่วงปลายกรกฏาคมจะเริ่มปรากฏการณ์ลานิญญ่า จะเป็นรอยต่อระยะหน้าฝนพอดี จะมีฝนตก จะมีน้ำฝน แต่ต้องติดตามปรากฏการณ์ว่าจะมีฝนชุกในช่วงไหนของปรากฏการณ์ที่กินระยะเวลา 5 ปี อาจจะมีฝนเริ่มตกในช่วงปีที่หนึ่งถึงสอง แล้วในปีที่สาม ที่สี่ จะมีน้ำมากเกิดขึ้นก็ได้” นายพฤฒิพงศ์กล่าว

“น้ำจากการบริหารของกรมชลประทานเพียงพอแน่นอน แต่ต้องมีการรณรงค์จากภาคส่วนต่างๆ ให้ประหยัดน้ำ เพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภคของชุมชนเมือง  เมืองหลวง และภาคการเกษตร และมีการขอความร่วมมือเกษตรกร ไม่ให้ทำนาปรังครั้งที่สอง” นายพฤฒิพงศ์กล่าวเพิ่มเติม

เกษตรกรภาคอีสานได้รับผลกระทบหนัก

นายสิริ เอกโชติ ชาวนาในตำบลงัวบา อำเภอตาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ฝนที่เคยตกอย่างน้อยสามเดือนในหนึ่งปี กลับตกในแค่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2558 ในปริมาณที่น้อยมาก จากที่เคยปลูกข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวได้ผล 360 กระสอบ ในปีก่อนๆ กลับเหลือเพียง 160 กระสอบเท่านั้น

“ฝนตกเพียงช่วงกลางเดือนสิงหาคม และแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่จะให้เกษตรกรทำการเกษตรไม่มีเลย ชลประทานหนองซองแมว หนองสะแบง และหนองหัวคนมีน้ำเพียงน้อยนิด” นายสิริกล่าว

“ถ้าฝนไม่ตกหลังสงกรานต์ ชาวบ้านจะไม่มีน้ำให้วัวควายกิน จะปลูกล้มลุกก็ไม่ได้ ปี 58 เจ้าหน้าที่ มาสำรวจว่าใครต้องการน้ำบาดาลใน 19 หมู่บ้าน แต่ไม่มีความคืบหน้า ไม่มีการขุดลอกคลองสองแห่งที่ต่อจากชลประทานหนองซองแมวให้มีน้ำไว้ใช้ด้วย” นายสิริ กล่าวเพิ่มเติม

การผันน้ำโขงเข้าไทยชั่วคราวทางหนองคาย

แหล่งข่าวสำนักข่าวไทย-จากหนองคายรายงาน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กรมชลประทานได้เริ่มเดินเครื่องผันน้ำจากลำโขงทางจังหวัดหนองคาย เข้าสู่ลำน้ำห้วยหลวง เพื่อส่งน้ำช่วยในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรทั่วพื้นที่ พบว่าตลอดเส้นทางน้ำจากน้ำโขงไปจบยังพื้นที่ปลายทางที่จังหวัดอุดรธานี ระยะทาง 80 กิโลเมตร เป็นทางโล่ง และไร้สิ่งกีดขวาง ซึ่งแผนการดำเนินการผันน้ำโขงครั้งนี้ มีระหว่างวันที่ 15 มี.ค.-15 พ.ค. จนถึงก่อนเข้าฤดูฝน

กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

ประเทศจีนได้ตกลงที่จะแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการของเขื่อนในแม่น้ำโขง ที่รู้จักในชื่อ ล้านช้าง ในประเทศจีน แก่ประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ซึ่งมีจุดมุ่งหมาย เพื่อลดผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและการบริหารจัดการน้ำของตนในน้ำโขงส่วนบน ต่อประชากรหลายล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศตอนล่างและนิเวศน์ลุ่มน้ำโขง นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวแก่บางกอกโพสต์

นายสุพจน์ ได้กล่าวอีกว่า เป็นไปตามกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation) ที่จีนจะต้องกำหนดแนวทางในการร่วมมือกับหกประเทศสมาชิก คือ จีน ไทย กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม ที่จะมีขึ้นในการประชุมวันที่ 23-24 มี.ค. 2559 ที่ประเทศจีน

นายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด

ในก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวโทษรัฐบาลชุดก่อนที่มีโครงการรับจำนำข้าว และสนับสนุนให้เกษตรกรทำนาปรัง จนเขื่อนต่างๆต้องระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูก จนเหลือแค่น้ำรองก้นเขื่อน ทั้งยังได้เรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำอีกด้วย

“น้ำรองเขื่อนต่ำมาตั้งแต่ปี 2555 เพราะปล่อยน้ำมาทำนาจนเหลือเฟือ เพราะมันจำนำข้าวไงเล่า ก็ปลูกให้มากเข้าไปสิ เอาน้ำไปใช้ให้หมด น้ำที่ควรจะอยู่รองก้นเขื่อน พอฝนตกมาก็จะเติมน้ำในเขื่อน แต่วันนี้น้ำในเขื่อนต่ำลงกว่าเกณฑ์ตั้งแต่ปี 2555” นายกรัฐมนตรี กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวกรุงเทพธุรกิจ เมื่อปลายปี 2558

“ต้องช่วยกันประหยัดน้ำ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค หนึ่งคนใช้น้ำร้อยกว่าลิตรต่อวัน ควรอาบน้ำให้น้อยลง อาบน้ำปกติวันลงสองครั้ง แต่ใช้น้ำให้น้อยลง แล้วเอาน้ำรองไปใช้อย่างอื่นด้วย เช่น รดน้ำต้นไม้ ไม่ใช่เปิดก็อกน้ำตลอดทุกวัน เซฟได้ก็ช่วยกัน” นายกได้กล่าว

ใน ปี ค.ศ. 1992 องค์กรสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม เป็นวันน้ำโลก (World Water Day) พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อภัยแล้ง และได้กล่าวอีกว่า ภาวะภัยแล้งรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วไปทั้งในประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย เกิดจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ขณะที่ปริมาณน้ำสำรองที่มีอยู่น้อยของไทยเกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดในอดีต

สำหรับหนึ่งในมาตรการต้านภัยแล้งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการนั้น ได้มีการเปิดปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2559 พร้อมช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งและภัยพิบัติ ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลัก ในพื้นที่ 77 จังหวัด โดยพลเอกปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2559 ณ สนามบินนครสวรรค์ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนั้น ทางกระทรวงได้มีโครงการบรรเทาภัยแล้งพื้นที่ต่างๆ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง