การพูดคุยสันติสุขภาคใต้ยังดำเนินต่อไป ท่ามกลางเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้น: ผู้เข้าร่วมการพูดคุย

ภิมุข รักขนาม และนานี ยูโซฟ
2016.04.08
กรุงเทพฯ และ กรุงวอชิงตัน
TH-carbomb-1000 เจ้าหน้าที่เก็บกู้ระเบิดตรวจรถยนต์ที่ไหม้จากเหตุระเบิด จังหวัดปัตตานี วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
เอเอฟพี

รัฐบาลไทยและกลุ่มกองกำลังสู้รบที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยกล่าวว่า กำลังวางแผนการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างไม่เป็นทางการอีกรอบ ในปลายเดือนนี้ แม้เหตุการณ์รุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นก็ตาม

เหตุยิงและเหตุระเบิดหลายครั้งที่คร่าชีวิตคนอย่างน้อย 30 คน ในช่วงแปดสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจกระตุ้นให้รัฐบาลทหารไทยเร่งกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ให้เร็วยิ่งขึ้น โฆษกขององค์กรตัวแทนร่วมในการเจรจาของกลุ่มก่อความไม่สงบ และกลุ่มย่อย ในภาคใต้ บอกแก่เบนาร์นิวส์

นายอาบู ฮาฟิซ โฆษกของกลุ่มมารา ปาตานี กล่าวว่า เหตุความรุนแรงดังกล่าวอาจถูกมองว่าเป็น “การกดดันรูปแบบหนึ่งให้ไทยต้องจริงจังเกี่ยวกับกระบวนการสันติสุข เพื่อทำให้กระบวนการนี้เป็นทางการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

“กระบวนการนี้ยังไม่เป็นทางการ และยังไม่มีการตกลงกันอย่างเป็นทางการใด ๆ เกี่ยวกับการลดหรือหยุดการโจมตีจากทั้งสองฝ่าย” เขากล่าวทางอีเมล โดยเสริมว่า ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบหวังว่าจะจัดการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการอีกรอบหนึ่งกับรัฐบาลไทยก่อนเดือนพฤษภาคม

“ดังนั้น จึงไม่น่าฉงนว่า เหตุใดการโจมตีจึงยังคงมีอยู่ต่อไป ทั้งนี้เป็นเพราะยังไม่มีการตกลงกันของทั้งสองฝ่าย” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทย ปฏิเสธคำกล่าวที่ว่า ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งมาเลเซียเป็นตัวกลาง เขาแสดงความมั่นใจว่า

การพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 โดยมีตัวแทนเต็มคณะ จากทั้งสองฝ่ายที่โต๊ะเจรจา จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปลายเดือนเมษายนนี้

“เหตุการณ์รุนแรง ไม่เกี่ยวกับการพูดคุย ถึงผมไม่พูดคุย ทางเขา(ผู้ก่อความไม่สงบ) ก็ก่อเหตุรุนแรงอยู่แล้ว แต่การพูดคุยเพื่อสันตินั้น อยู่ที่เราคุยว่า แบบไหน ถึงจะไปได้” พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข บอกแก่เบนาร์นิวส์

ความรุนแรงกลับมาอีก

รัฐบาลทหารของไทยได้พยายามใช้การพูดคุยนอกรอบ เพื่อโน้มน้าวกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ ให้กลับมาพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 เมื่อการเจรจายุติลงภายใต้รัฐบาลพลเรือนของไทย

และจากความพยายามอย่างยิ่งยวดเมื่อปีที่แล้วของรัฐบาลทหาร และการก่อตั้งกลุ่มมารา ปาตานี ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 ในฐานะองค์กรตัวแทนการเจรจา ที่ทำการเจรจาแทนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม การพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการยังไม่มีความคืบหน้าเกินกว่าขั้นการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่น ดังที่นายอาบู ฮาฟิซ กล่าวไว้ว่า ทั้งสองฝ่ายยังไม่ยอมตกลงที่จะหยุดยิงกัน

การก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและพูดภาษามาเลย์ เกิดขึ้นเมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้ว แต่เพิ่มจำนวนขึ้นอีกในปี 2547 หลังจากที่การต่อสู้กันสงบลงเป็นเวลานาน

ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงที่เกี่ยวกับความขัดแย้งดังกล่าว ทำให้มีผู้สูญเสียชีวิตกว่า 6,500 คน และผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 11,000 คน ตามรายงานจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch หรือ DSW)

ท่ามกลางความพยายามที่จะเริ่มการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างเป็นทางการ เมื่อปีที่แล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นผลมาจากความขัดแย้ง มีจำนวนลดลงเหลือ 246 คน ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้รายงาน

แต่ความรุนแรงจากการโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบ และการปะทะกันระหว่างผู้ก่อความไม่สงบและหน่วยความมั่นคงของไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยได้บุกทะลายแหล่งหลบซ่อนของผู้ก่อความไม่สงบ ในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์

ความขัดแย้งกันเองในหมู่ผู้ก่อความไม่สงบ

ผู้วิเคราะห์เหตุการณ์ของทั้งสองฝ่ายให้เหตุผลว่า ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจาก ความเห็นต่างเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในหมู่ผู้ก่อความไม่สงบด้วยกันเอง

สมาชิกบางคนของกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ใหญ่และมีอำนาจที่สุด และมีตัวแทนอยู่ในกลุ่มมารา ปาตานี ได้แยกตัวออกมาจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เพราะไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยดังกล่าว อดีตผู้สั่งการคนหนึ่งของกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเผยเพียงชื่อตนเองว่า “นายอับดุลเลาะ” กล่าว

“ทราบมาล่าสุดจากสมาชิกขบวนการ กลุ่มขบวนการ BRN ในพื้นที่ หรืออาจมี PULO ร่วมกันจัดตั้งกำลังใหม่ เพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่ และแสดงจุดยืนไม่ต้องการการพูดคุยสันติสุขที่ไม่มีความจริงใจ และไม่ยอมรับกลุ่มมารา ปาตานี ที่ร่วมจัดฉากพูดคุย” นายอับดุลเลาะ (สงวนนามสกุล) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ ที่จังหวัดปัตตานี โดยอ้างถึงองค์กรปลดปล่อยปาตานี (พูโล) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอีกกลุ่มหนึ่ง

กลุ่มลับกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า แผนกสารสนเทศของกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้ประกาศคัดค้านกระบวนการสันติภาพในปัจจุบัน เป็นจำนวนสองครั้งเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่ได้ระบุชื่อกลุ่มมารา ปาตานี

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม กลุ่มดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์ยาวสี่หน้าฉบับหนึ่ง เพื่อเรียกร้องให้มีผู้ไกล่เกลี่ยจากนานาประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพนี้ด้วย และให้ไทยยอมรับอธิปไตยของ "ปาตานี" นี่เป็นคำเรียกร้องเดียวกันกับที่ทำโดยผู้นำของกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นผลให้การพูดคุยอย่างเป็นทางการรอบที่แล้วล้มเหลวลง เมื่อเดือนธันวาคม สามปีที่แล้ว

นางอังคณา นีละไพจิตร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในฐานะส่วนตัว ว่า “ในความเห็นส่วนตัวของดิฉัน กองกำลังสู้รบ ไม่คิดว่าบุคคลที่อยู่บนโต๊ะเจรจา เป็นผู้แทนของเขา ถึงแม้จะมีการบอกว่า มีตัวแทนจากบีอาร์เอ็น”

นางอังคณาเป็นภรรยาของทนายความชาวมุสลิมคนหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ซึ่งหายตัวไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว โดยลูกความของเขาเป็นผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบ และอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ให้ความเห็นว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกำลัง “ต้องการต่อต้านอำนาจรัฐ และตอบโต้การปฏิบัติการของภาครัฐ” โดยการก่อเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้น

“กลุ่ม BRN เขาได้ยิงคนของภาครัฐและพลเรือนเป็นปกติ หรืออาจมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะจะเตรียมจะก่อเหตุใหญ่ เพราะต้องการต่อต้านอำนาจรัฐ และตอบโต้การปฏิบัติการของภาครัฐ” ผศ.ศรีสมภพ บอกแก่เบนาร์นิวส์

“แต่เชื่อว่า แนวทางการพูดคุยสันติสุขที่ทุกคนยอมรับและเห็นด้วยว่าจะเกิดสันติภาพในพื้นที่”

‘บางกลุ่มอยู่นอกเหนือการควบคุมของกลุ่มมารา’

นายอาบู ฮาฟิซ โฆษกของกลุ่มมารา ปาตานี ยอมรับว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและกลุ่มย่อยบางกลุ่มไม่ได้อยู่ภายใต้องค์กรร่วมการเจรจาของกลุ่มผู้เห็นต่างนี้

“มีกลุ่มกองกำลังสู้รบที่อยู่ในสังกัดของกลุ่มมารา และบางกลุ่มอยู่นอกเหนือการควบคุมของกลุ่มมารา รวมทั้ง ที่มาจากกลุ่มที่ไม่เป็นที่รู้จักด้วย” เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์

“กลุ่มกองกำลังสู้รบเหล่านี้ มักจะถูกก่อตั้งขึ้นโดยผู้ก่อความไม่สงบที่รับจ้างรบ เชื่อกันว่าพวกนี้เกี่ยวข้องในการลอบสังหารคน และการยิงแบบไม่เลือกหน้าในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ เช่น ร้านกาแฟ หรือ ตามหมู่บ้านต่าง ๆ” นายอาบูกล่าว

แม้นักวิเคราะห์บางคนจะไม่เชื่อเช่นนั้นก็ตาม แต่ พลโท นักรบ กล่าวว่า ผู้นำสองคนของกลุ่มบีอาร์เอ็น ผู้ที่เป็นสมาชิกในคณะเจรจาของกลุ่มมารา ปาตานี ตั้งแต่ต้นเมื่อปีที่แล้ว คือ นายอาวัง จาบัต และนายสุกรี ฮาริ ยังไม่ได้ถอนตัวออกจากองค์กรตัวแทนร่วมเจรจานี้ และยังคงมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

แต่เลขานุการของคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยยอมรับว่า มีความแตกแยกเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพนี้เกิดขึ้นภายในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ และในฝ่ายไทยด้วย กระบวนการนี้มีเป้าหมายเพื่อยุติการนองเลือดที่มีมานานหลายทศวรรษ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.ท.นักรบ เห็นว่า ไม่ช้าก็เร็ว พวกนี้จะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากทำตามความต้องการของคนในพื้นที่นั้น โดยยกผู้นำกลุ่มบีอาร์เอ็นที่คัดค้านการพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นตัวอย่าง

“ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งเราและผู้ก่อความไม่สงบ มีทั้งผู้ที่เห็นด้วย ผู้ที่รู้สึกเฉย ๆ และผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยเพื่อสันติสุข แต่ในที่สุดแล้ว ผู้ที่คัดค้านการพูดคุยจะต้องอยู่กับผู้สนับสนุนของตน และ [จะ] ต้องเห็นด้วย” พล.ท.นักรบ บอกแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง