นายกรัฐมนตรีกล่าวแก่ชาวระแงะว่า ความไม่สงบต้องยุติลงในปี 2560

รพี มามะ และ นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.01.06
นราธิวาส และ กรุงเทพฯ
TH-prayuth-620 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดคุยกับชาวบ้านในอำเภอระแงะ นราธิวาส วันที่ 6 มกราคม 2560
เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์ (6 มกราคม 2560) นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้กล่าวในระหว่างการมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ว่าความไม่สงบในสามจังหวักชายแดนใต้ต้องคลี่คลายและยุติลงในปี 2560 นี้

ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่นราธิวาส เพื่อประชุมงานด้านความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก่อนเข้าประชุมอย่างเป็นทางการ ได้ประชุมหารือกลุ่มเล็กด้านความมั่นคงที่ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส ในส่วนของภารกิจของผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และความรับผิดชอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รวมถึงการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ โดยที่ไม่อนุญาตให้สื่อทุกแขนงเข้าทำข่าว

ในช่วงบ่าย พลเอกประยุทธ์ พร้อมคณะฯ ได้เดินทางไปยังอาคารเอนกประสงค์ที่ว่าอำเภอระแงะ เพื่อพบปะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยและวาตภัย พร้อมมอบถุงยังชีพจำนวน 2,000 ถุง

ในช่วงปราศรัย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า “ปี 60 เหตุความรุนแรงต้องคลี่คลายและหมดไป เราเจรจาเพื่อสันติสุข ไม่ใช่ภัยสงครามหรือคู่สงครามตามสื่อบางสำนักว่า แค่เห็นต่าง ตอนนี้มีความคืบหน้า และทุกอย่างต้องชัดเจน ในปี 60 เพื่อความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้”

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องแก้ไขไปทีละก้าว คือ ต้องมีการปรับตัวเข้าหากัน ในขณะที่มีความแตกต่าง และต้องร่วมมือขจัดกลุ่มที่สร้างความขัดแย้งให้ออกไป

“รัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาทุกอย่าง คือ คน 70 ล้านคน เราก็ต้องแก้ไปพร้อมๆ กับคนกลุ่มน้อย ที่ต้องเดินไปด้วยกัน ไม่ใช่คนกลุ่มน้อยต่อต้านแล้วเราทิ้งเขาเลย ถ้าทำเช่นนั้นสังคมไทยจะสงบได้อย่างไร” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

6 ชีวิต สังเวยน้ำท่วม

นายอรุณ ศรีใส นายอำเภอระแงะ ได้รายงานสรุปสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 59 จนถึงปัจจุบันว่า มีจำนวน 7 ตำบล 61หมู่บ้าน ราษฏรได้รับผลกระทบจำนวน 3,176 ครอบครัว ประชาชนได้รับเดือดร้อน 9,528 ราย ซึ่งทางจังหวัดนราธิวาส ได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตภัยพิบัติ

ชาวบ้านในตัวเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องลุยน้ำในช่วงเช้า หลังน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมตัวเมือง จนกระทั่งตอนกลางวันของวันที่ 6 ม.ค. 2559 (ภาพโดย สุพรรษา ณัฐไสว)

ในขณะที่ 9 จังหวัดภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักถึงขั้นเส้นทางคมนาคม เช่น ถนน ทางรถไฟ และสนามบินใช้การไม่ได้ ล่าสุด ในวันศุกร์นี้ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วม 6 ราย

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสุราษฎร์ธานี ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีสถานการณ์น้ำท่วมหนักที่สุด ในขณะที่ชุมพร และตรัง เป็นจังหวัดที่สถานการณ์เริ่มรุนแรงจากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องช่วงค่ำที่ผ่านมา ส่วนสงขลายังเป็นจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง สถานการณ์ต่อเนื่อง

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยกระดับ 3 ซึ่ง รมว.มหาดไทยเป็นผู้บัญชาการ เมื่อยกระดับแล้ว ก็เป็นการบูรณาการทุกฝ่าย ทั้งทหาร พลเรือน ท้องถิ่น ศึกษาธิการให้นักเรียนอาชีวะมาช่วยเหลือ กระทรวงการคลังอนุมัติงบฉุกเฉินให้ผู้ว่าฯสามารถช่วยเหลือประชาชนได้” นายฉัตรชัยกล่าว

“สถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ ทั้งหมด 9 จังหวัด เริ่มมีปัญหาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม คลี่คลายไปแล้วมีใหม่กลางเดือน และนี่ต้นปีใหม่เป็นรอบที่ 3 ปัญหาที่เกิดขึ้นมี 3 ประเด็น หนึ่งฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก สองทะเลมีคลื่นลมแรง เรือเล็กไม่สามารถออกจากฝั่งได้ สามพื้นที่รับน้ำค่อนข้างเต็ม และความชุ่มน้ำทำให้ดินโคลนถล่ม” นายฉัตรชัย อธิบายถึงสภาพปัญหาปัจจุบัน

นายฉัตรชัยระบุว่า กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสงขลา เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการอุบัติภัยส่วนหน้าตามกฎหมาย และปลัดกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่ร่วมทำงานกับภาคส่วนอื่นๆ

“การคมนาคมรถไฟจะเดินทางถึงแค่จังหวัดชุมพร ทางการรถไฟ และส่วนราชการได้จัดรถยกสูง หรือเรือ มาอำนวยความสะดวกประชาชน ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชไม่สามารถใช้ได้ เครื่องบินเปลี่ยนไปลงสุราษฎรธานีซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียง สำหรับการเดินทางโดยถนน จุดที่สะพานขาดได้ทดแทนด้วยสะพานเหล็กชั่วคราว” นายฉัตรชัยเพิ่มเติม

สำหรับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ นครศรีธรรมราช น้ำท่วม 17 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 72,337 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 2 ราย  รองลงมาคือจังหวัดพัทลุง น้ำท่วม 11 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 29,327 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย  และจังหวัดนราธิวาส น้ำท่วม 13 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 29,535 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 2 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง