ครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้นในสองปีล่าสุด

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2017.01.18
ปัตตานี
TH-teachers-620 ครูจากอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกในงานวันครู ปี 2560 ที่ อำเมือง จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560
เบนาร์นิวส์

ในโอกาสวันครูปีนี้ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 นี้ นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือครอบครัวครูชายแดนใต้ กล่าวว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น เพราะสังคมให้การปกป้องครูอย่างดี

“ปัจจัยที่ทำให้ครูมีความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับครู สังคมมีความเข้าใจปัญหามากขึ้น และได้มีส่วนร่วมในการปกป้องครู” นายบุญสมกล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นายบุญสม ได้แสดงสถิติว่า ในปี 2547 ที่เป็นปีแรกของเหตุการณ์รุนแรงระลอกล่าสุด มีครูเสียชีวิตจำนวน 12 ราย ส่วนปี 2548 มีจำนวน 27 ราย ปี 2549 จำนวน 26 ราย ปี 2550 จำนวน 27 ราย ปี 2551 จำนวน 17 ราย ปี 2552 จำนวน 16 ราย ปี 2553 จำนวน 13 ราย ปี 2554 จำนวน 13 ราย ปี 2555 จำนวน 10 ราย ปี 2556 จำนวน 10 ราย ปี 2557 จำนวน 9 ราย

และในสองปีล่าสุด คือ ปี 2558 และ 2559 มีครูเสียชีวิตปีละ 1 รายเท่านั้น

เมื่อถึงวันครูประจำปี 2560 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ คณะครู และข้าราชการทางการศึกษา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมจัดพิธีทำบุญตามหลักศาสนาของตน โดยทางศาสนาอิสลาม ได้จัดพิธีละหมาดฮายัต (การละหมาดขอพรตามศาสนาอิสลาม) ให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบสุข ส่วนทางศาสนาพุทธ มีการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับครูผู้สูญเสีย

“13 ปีของความรุนแรง เราสูญเสียครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เจ้าหน้าที่สรุปเหตุว่าเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ ที่เสียชีวิต 182 ราย ได้รับบาดเจ็บ 167 ราย มีนักเรียน-นักศึกษาเสียชีวิตอีก 56 ราย และได้รับบาดเจ็บ 212 ราย” นายบุญสม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีโรงเรียนของรัฐบาล โรงเรียนตาดีกา (โรงเรียนเด็กเล็ก) โรงเรียนปอเนาะ (โรงเรียนชั้นประถมศึกษา) และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา รวมกันประมาณ 4,000 โรงเรียน มีครูรวมกัน 52,295 คน และนักเรียนรวมกันกว่า 500,000 คน

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงเรื่องการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยที่ทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขกำลังเจรจากับฝ่ายมาราปาตานีโดยผ่านทางเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติว่า ให้ทางคณะพูดคุยฯ เจรจาการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยตามสถานที่ที่ควร แทนการจัดตั้งเป็นพื้นที่กว้างๆ ระดับตำบลหรือระดับอำเภอก็ได้

นายบุญสม กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีและต้องทำให้ได้ เพราะครูและโรงเรียน คือ บุคคลและสถานที่สำคัญที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เมื่อครูปลอดภัยทุกด้านจะดีขึ้นตามลำดับ

นอกจากเรื่องความปลอดภัยแล้ว นายบุญสมกล่าวว่า เรื่องสวัสดิการครูก็ถือว่าดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็ยังต้องการเรียกร้อง เรื่องเงินเยียวยา 4 ล้านบาทให้กับครูที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ และเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล ขอให้มีการดูแลการรักษาพยาบาลทายาท ทั้งพ่อ-แม่-ลูกของครูที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ได้สิทธิเบิกรักษาต่อเนื่องได้ด้วย

ตลอด 13 ปีของความรุนแรง องค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้ก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือครอบครัวครูชายแดนใต้ หรือ สกสค. เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 เพื่อช่วยเหลือครอบครัวครูทุกสังกัดที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทาง สกสค. จะมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวครูที่เสียชีวิต ทันที 5 แสนบาท ถ้าสามฝ่าย คือ ตำรวจ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทหาร) รับรองว่าเกิดจากสถานการณ์ใต้

นอกจากนั้น ยังจะได้รับเงินจากโครงการเทิดไทองค์ราชันย์อีก 1 หมื่นบาท ซึ่งได้จ่ายเงินส่วนนี้ให้แก่ครูไปแล้ว 7 ราย

สกสค. ยังได้รับทายาทของครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรี มีใบประกอบวิชาชีพครู เข้ามาเป็นครูแล้ว 182 ราย ตามจำนวนที่ครูและบุคคลากรทางการศึกษาเสียชีวิต ตอนนี้ พวกเขาสอนอยู่ในพื้นที่

ทางด้านนางสาวรอฮานา กามา ครูประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา กล่าวว่า ตนเองยังมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัย

“13 ปี ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ยังกลัวยังผวา ยังรู้สึกว่าครูไม่มีความปลอดภัย แต่ก็พยายามคิดเสมอว่า เราเท่านั้นที่จะช่วยตัวเองได้ ที่สุดก็พยายามใช้ชีวิตอย่างระวังไม่ไปไหนนอกเวลาที่วางแผนการรักษาความปลอดภัยอยากให้ดูแลขวัญกำลังใจครูให้มากกว่านี้” นางสาวรอฮานา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง