ศาลอาญาสั่งจำคุก พลโทมนัส 27 ปี ในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และภิมุข รักขนาม
2017.07.19
กรุงเทพฯ
TH-trafficking-620 พลโทมนัส คงแป้น (คนขวามือ) หนึ่งในผู้ต้องสงสัยในขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศ ถูกนำตัวมายังศาลอาญากรุงเทพ รัชดาภิเษก วันที่ 13 พ.ย. 2558
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

ศาลอาญา กรุงเทพฯได้พิพากษาจำคุกอดีตนายทหาร พลโทมนัส คงแป้น และจำเลยอีก 61 คน ในคดีร่วมกันค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นับจากมีรายงานการขุดพบศพชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศมากกว่า 30 ศพ ในปี 2558 ทางภาคใต้ของไทย ใกล้แนวชายแดนมาเลเซีย

ในวันพุธ (19 กรกฎาคม 2560) นี้ ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาจำคุก พลโทมนัส คงแป้น เป็นเวลา 27 ปี ในข้อหาร่วมค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ และแกนนำขบวนการค้ามนุษย์ไทย-โรฮิงญารายใหญ่สามราย ถูกสั่งจำคุกมากกว่าเจ็ดสิบปีขึ้นไป แต่ลดเหลือจำคุก 50 ปี ตามข้อกำหนดการจำคุกไม่เกิน 50 ปี โดยศาลพิพากษาว่ามีความผิดทั้งสิ้น 62 คน และยกฟ้อง 40 คน

โดยในวันนี้ ศาลอาญา รัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาหมายเลขดำ คม.27/2558, คม.28/2558 และ คม.29/2558 ได้ตัดสินว่า นายบรรณจง ปองผล หรือโกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา จำเลยที่ 1 นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล จำเลยที่ 29 และพล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 จำเลยที่ 54 มีความผิดจริง ในข้อหาร่วมองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันค้ามนุษย์

“จำเลยที่ 54 ร่วมกับพวกค้ามนุษย์คนต่างด้าวชาวโรฮิงญาผู้เสียหายในคดีนี้ ใช้โอกาสที่ต้องดำเนินการผลักดัน หรือปฎิเสธการเข้าเมืองของคนต่างด้าวชาวโรฮิงญา เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้ามนุษย์” คำพิพากษาส่วนหนึ่งระบุ

ส่วนโกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ ถูกตัดสินจำคุก 78 ปี โกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ถูกสั่งจำคุก 75 ปี  และนายซอเนียง อานู หัวหน้าขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา ถูกสั่งจำคุก 94 ปี โทษต่อจำเลยทั้งสาม ลดเหลือเพียงคนละ 50 ปี ตามข้อกำหนดที่ว่าให้จำคุกนักโทษได้ไม่เกิน 50 ปี

รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจสี่นาย ถูกตัดสินจำคุก และทหารหนึ่งราย ที่เป็นอดีตผู้ช่วยของอดีตนายทหาร พลโทมนัส ถูกปล่อยตัว เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอ

นายสมพร มูสิกะ ทนายความของจำเลยที่ 74 กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ลูกความของตนถูกตัดสินจำคุกน้อยที่สุด เป็นเวลา 19 ปี แต่จะอุทธรณ์คดีภายใน 30 วัน

สำหรับคดีนี้ มีจำเลยทั้งสิ้น 102 คน (เดิม 103 คน แต่เสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวหนึ่งคน) ถูกพิพากษาว่ามีความผิด รวม 62 คน และศาลยกฟ้อง 40 คน โดยนอกจากจะมีข้อหาหลักในการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 2556 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 แล้ว แต่ละบุคคล ยังถูกฟ้องร้องในข้อหาอื่นๆ ตามวาระกรรม เช่น การร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังบุคคล เพื่อให้ได้ค่าไถ่ การร่วมเอาคนลงเป็นทาส จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ อันตรายได้รับความสาหัสหรือถึงแก่ความตาย  การร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การร่วมกันนำพาบุคคลต่างด้าวมาในราชอาณาจักร การร่วมกันซ่อนเร้นศพ การมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น

ชนชาวโรฮิงญาที่มีถิ่นฐานในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา และส่วนหนึ่งลี้ภัยไปอยู่ในบังกลาเทศ ได้หลบหนีออกจากถิ่นที่อยู่เดิม เพราะสถานการณ์ความขัดแย้ง จนมีการปะทะกับชาวยะไข่ หรือเพราะความยากจน โดยเดินทางผ่านทางประเทศไทย มุ่งหน้าไปยังมาเลเซีย เป็นส่วนใหญ่ และมีปลายทางที่อินโดนีเซียบ้างประปราย

ทั้งนี้ ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศมานานรายหนึ่ง กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา การนำพามนุษย์ข้ามแดนหนึ่งคน ขบวนการคิดค่าหัวประมาณ 30,000 ถึง 60,000 บาท ส่วนปัจจุบัน ราคาพุ่งสูงถึง 150,000 บาท เมื่อญาติๆ ในมาเลเซียหรือที่บ้านเกิดไม่มีเงินจ่ายให้นายหน้า ก็จะมีการทำร้ายถึงชีวิต หรือหลายๆ คน ป่วยตายในระหว่างการเดินทาง

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 มีการเปิดเผยการพบหลุมศพของผู้อพยพชาวโรฮิงญาลักลอบนำเข้าเมืองบนเทือกเขาแก้ว ในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ใกล้พรมแดนไทย-มาเลเซีย จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจของนักสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ โดยมี พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจ ภาค 8 ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าฝ่ายสอบสวนคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2558 พนักงานอัยการได้เริ่มฟ้องในความผิด 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ พ.ศ. 2556 ต่อจำเลย 88 คน และภายหลังได้มีการโอนคดีจากศาลนาทวีมาพิจารณาที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญาในเดือนตุลาคม 2558 และสามารถจับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดีได้เพิ่มขึ้น รวมเป็น 103 ราย

หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ได้หาทางร่วมมือกันในการสกัดกั้นการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติ และทางกองทัพเรือได้เฝ้าระวังการเดินทางเข้ามาของชาวโรฮิงญา ทำให้การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายลดลง อย่างไรก็ตาม ยังคงพบการลักลอบเดินทางเข้ามาบ้างอย่างประปราย ซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา มีชาวพม่าและโรฮิงญา 62 ราย ถูกนายหน้าทอดทิ้งในทาวเฮ้าส์ร้าง ในปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา สงขลา

ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย

นายสุณัย ผาสุก นักวิจัยองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การตัดสินคดีในวันนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ที่มีการลงโทษนายทหาร ตำรวจ และนักธุรกิจที่มีอิทธิพล รวมทั้งจำเลยคนอื่นๆ ร่วมร้อยราย อย่างไรก็ตาม ชาวโรฮิงญายังประสบปัญหาที่ทางการไทยไม่ยอมให้องค์กรผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติทำการมอบสถานะผู้ลี้ภัยให้แก่พวกเขาเหล่านี้ หากต้องหลบซ่อนหรือถูกกักตัว

กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2560 (Trafficking in Persons Report 2017 หรือ TIP Report 2017) เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2560 เพื่อประเมินการดำเนินงานของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในช่วงปีที่ผ่านมาในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามดำเนินงานทั่วโลกของสหรัฐฯ เพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญนี้ โดยในปีนี้ประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ในระดับเดิม สองปีซ้อน คือ กลุ่มที่ 2 ประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) หลังจากเมื่อสองปีก่อนหน้า คือ ปี 2557 ได้ถูกจัดอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง