กลุ่มก่อความไม่สงบได้หน้า หลังประกาศยุติปฏิบัติการช่วงวิกฤตโควิด-19

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2020.04.07
ยะลา
200407-TH-pathan-1000.jpg เหตุคาร์บอมบ์ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ บริเวณหน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา วันที่ 17 มีนาคม 2563
รอยเตอร์

กลุ่มก่อความไม่สงบบีอาร์เอ็น ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา มักไม่ค่อยเปิดเผยตัวตน แต่ตอนนี้บีอาร์เอ็นได้ออกมาแสดงตัว และยังพยายามที่จะแสดงให้โลกรู้ว่า ตนเป็นกลุ่มกบฏที่มีความรับผิดชอบ

คำแถลงการณ์เมื่อศุกร์ที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมาว่า ของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ กลุ่มบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional - BRN) ประกาศยุติการปฏิบัติการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ได้โดยปลอดภัยนั้น เป็นปรากฏการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

เมื่อเดือนมกราคม 2563 บีอาร์เอ็น ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ยืนยงมาอย่างยาวนาน และควบคุมกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ลงนามในสัญญาแสดงเจตจำนงซึ่งร่างร่วมกับ เจนีวา คอล หน่วยงานเอ็นจีโอระหว่างประเทศที่ทำงานกับกลุ่มติดอาวุธทั่วโลก เพื่อให้กลุ่มเหล่านี้ยอมรับอนุสัญญาเจนีวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎกติกาสงคราม

หนึ่งเดือนต่อมา บีอาร์เอ็นแถลงออกทางยูทูบเรียกร้องให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ เข้ารับการรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาได้

ต่อมาบีอาร์เอ็นก็ได้ประกาศว่า จะยุติการปฏิบัติการจนกว่าสถานการณ์เรื่องโรคระบาดจะสิ้นสุดลง ซึ่งสอดคล้องกับการที่ อันโตนิโย กูร์แตร์เรซ เลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกร้องก่อนหน้านี้ โดยขอให้กองกำลังติดอาวุธทั่วโลกหยุดการโจมตีเพื่อมนุษยธรรม

การโจมตีของหน่วยความมั่นคงไทย

เมื่อไม่กี่วันก่อน กองกำลังหน่วยความมั่นคงทหารของไทยได้ออกปฏิบัติการค้นหาและทำลาย ในตำบลตาเซะ อ.เมือง จังหวัดยะลา เพื่อไล่กลุ่มขบวนการให้ออกจากพื้นที่นี้ โดยที่กองกำลังทหารไทยคาดผิดที่ว่าปฏิบัติการบดขยี้นี้จะง่ายดาย

สถานการณ์เปลี่ยน เมื่อมีภาพของสมาชิกฝ่ายกบฏที่ตายในการยิงต่อสู้ ถูกเปิดเผยออกมา เห็นว่าร่างของพวกเขามีร่องรอยของความรุนแรง ทำให้บีอาร์เอ็นโต้ตอบด้วยการเอาคาร์บอมบ์ไปจอดไว้ หน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนฝ่ายไทยให้ยุติการไล่ล่า

แหล่งข่าวในบีอาร์เอ็นกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้เป็นพวกก่อให้เกิดความรุนแรง นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดเข้ามาในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง หน่วยเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นบอกว่า พวกตนตกเป็นฝ่ายรับมาตลอด เริ่มจากการยิงกองกำลังแบ่งแยกดินแดนตาย 5 ศพ ในค่ายที่พักชั่วคราวของพวกเขา บริเวณเทือกเขาในนราธิวาส เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ และสัปดาห์ต่อมาก็มีการโจมตีกวาดล้างที่เขตพื้นที่ริมเขื่อน ในตำบลตาเซะ อำเภอเมืองยะลา

โดยมีความวิตกกังวลว่า หน่วยปฏิบัติการของกองทัพบกในพื้นที่ จะสร้างความเสียหายให้แก่การเจรจาสันติสุขระหว่างไทยกับบีอาร์เอ็น ซึ่งเพิ่งเริ่มต้นใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 ในมาเลเซีย แต่ถึงแม้จะไม่มีการต่อสู้ปะทะกันในพื้นที่เช่นนั้น การพูดคุยสันติสุขก็ดูเหมือนจะง่อนแง่นอยู่ดี

ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงการพูดคุยครั้งใหม่ ในวันที่ 20 มกราคมนั้น สมาชิกฝ่ายการเมืองของบีอาร์เอ็นได้พบปะกับผู้แทนฝ่ายไทย ที่ประเทศอินโดนีเซีย และเยอรมนี ด้วยความช่วยเหลือของหน่วยงานเอ็นจีโอต่างประเทศ

ความผิดพลาดของ บีอาร์เอ็น

ผู้แทนเจรจาของบีอาร์เอ็นเดินหน้าพูดคุยโดยที่ไม่มีความเห็นชอบจากฝ่ายกองกำลังในพื้นที่ ด้วยความคิดที่ว่า เงื่อนไขการพูดคุย หรือ TOR เป็นข้อเสนอที่เข้าใจระหว่างกันตามนั้นแล้ว แต่รัฐบาลไทยนั้น ไม่เคยที่จะทำข้อตกลงหรือพันธสัญญาใดกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมลายูปาตานีมาก่อน เพราะประเทศไทยไม่เคยประสงค์จะให้พันธสัญญาใด ๆ ที่ต้องปฏิบัติตาม

ทั้งผู้เจรจาฝ่ายไทยและฝ่ายการเมืองของบีอาร์เอ็น ต่างคาดหมายที่จะใช้เวลาทำความเข้าใจ ใน TOR ที่มีความยาว 7 หน้า ร่วมกันไประยะหนึ่ง แต่ไม่นานนักการหารือกันที่อินโดนีเซีย และเยอรมนีก็ถูกเปิดเผยออกมา

เป็นดังคาดที่ทางฝ่ายมาเลเซียถึงกับโกรธมาก ฐานะที่รับหน้าที่เป็นคนกลางอำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุข แต่กลับไม่รู้เรื่องเหล่านั้นอยู่ฝ่ายเดียว รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจยกความดีครั้งนี้ให้กับทางมาเลเซีย เพื่อเอาใจ โดยได้แสดงความชื่นชมเจ้าหน้าที่มาเลเซีย ที่ทำให้การพูดคุยสันติภาพเริ่มขึ้นได้อีกครั้ง และจากนั้นมา มาเลเซียก็ได้จัดให้มีการพูดคุย ระหว่างตัวแทนไทยร่วมกับฝ่ายการเมืองของบีอาร์เอ็นอีกสองครั้ง

แต่สำหรับกองกำลังฝ่ายปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเจรจา หรือการที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่มาเลเซียหลุดจากการมีส่วนร่วม แต่ปัญหาอยู่ที่ฝ่ายการเมืองของกลุ่ม ได้เริ่มเดินหน้าหารือโดยไม่ได้พูดคุยถึงคำถามที่เป็นประเด็นสำคัญภายในองค์กรเสียก่อน เพื่อแก้ไขความผิดพลาดในการเดินหน้าเจรจา โดยที่ฝ่ายตนก็ยังไม่พร้อมนั้น ทำให้เลขาธิการของกลุ่มบีอาร์เอ็นขอให้ฝ่ายการเมืองไปปรับความเข้าใจกับฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่เสียก่อน

แม้กระนั้นก็ตาม คนของบีอาร์เอ็นก็ยังไม่สามารถจะกำหนดท่าทีต่อการเจรจาให้ชัดเจนได้ มีคำถามหลายประการที่ฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ของบีอาร์เอ็นยังไม่ได้ให้คำตอบ อย่างเช่น บีอาร์เอ็นตั้งใจที่จะได้รับเพียง สิทธิในการกำหนดใจตนเอง หรือ ต้องการใช้การเจรจานี้เพื่อเดินหน้าสู่ การเป็นเขตปกครองตนเอง แล้วจากนั้นค่อยไปถึงการเป็นเอกราชหรือ? นี่เป็นคำถามจากฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับคำตอบ

ในขณะที่ฝ่ายการเมืองและกองกำลังของบีอาร์เอ็นกำลังหาคำตอบเหล่านี้ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ต้องเผชิญกับไวรัสโคโรนา จำนวนของผู้ที่ติดไวรัสพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากมีคนหลายร้อยกลับจากงานเผยแพร่ศาสนาของสมาชิกตับลีฆ จามาต (Tablighi Jamaat) ในมาเลเซีย และอินโดนีเซียที่จัดชึ้นในช่วงต้นเดือนและกลางเดือนมีนาคม

ฝ่ายไทยยังคงเงียบ

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายไทยยังไม่ได้ออกมาพูดอะไร ในการประกาศของบีอาร์เอ็นว่า จะหยุดปฏิบัติการจนกว่าสถานการณ์โรคระบาดจะดีขึ้น

อาจจะเป็นเพราะกลัวว่าการแสดงท่าทีที่เป็นบวก อย่างเช่น ชื่นชมกับท่าทีที่มีมนุษยธรรมของบีอาร์เอ็น อาจทำให้ผู้นำในรัฐบาลและในกองทัพไม่พอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก หลายคนกล่าวว่าเขาคัดค้านการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเชื่อว่า ประเทศไทยได้ยินยอมให้สิทธิประโยชน์กับอีกฝ่ายมากเกินไป

นอกจากนี้ พล.ต.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ก็ไม่สนใจที่จะมองความรุนแรงด้วยมุมมองของการเมือง อาจเป็นเพราะความกังวลที่ว่าต้องรักษาความสงบในพื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย

เมื่อสามเดือนที่แล้ว พล.อ.อภิรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้นำคณะผู้แทนเดินทางไป จังหวัดอาเจะฮ์ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อลงนามร่วมมือด้านความมั่นคง กับผู้บัญชาการทหารบกอินโดนีเซีย ซึ่งเขาประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ ผบ.ทบของอินโดนีเซีย เห็นด้วยในการร่วมกดดันและระงับกิจกรรมใด ๆ ของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่จะมีในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศที่มีพลเมืองมุสลิมมากที่สุดในโลก

นอกจากนี้ พลเอกอภิรัชต์ ยังได้รับความร่วมมือจาก กองกำลังอาเจะฮ์เสรี (Free Aceh Movement - GAM) ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้ทำข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลในกรุงจาการ์ตาในปี 2548 ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบการพูดคุยฯ ระหว่างไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยที่ตัวแทนผู้เจรจาฝ่ายรัฐบาลไทยและผู้อำนวยความสะดวกในกัวลาลัมเปอร์ไม่ได้รู้เห็นมาก่อน และตั้งข้อสงสัยว่า ความตั้งใจที่แท้จริงของ พลเอกอภิรัชต์ คืออะไร

เหนือสิ่งอื่นใด ทางการไทยหลีกเลี่ยงเสมอมาที่จะให้กองกำลังแบ่งแยกดินแดนในชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น เป็นคู่เจรจาที่มีสถานะทัดเทียมกัน

ตอนนี้ ทหารไทยก็ถอนตัวออกจากพื้นที่ริมเขือนปัตตานี ในตำบลตาเซะแล้ว แต่การเคาะประตูบ้านค้นหาตัวกองกำลังแบ่งแยกดินแดนก็ยังดำเนินต่อไป

บีอาร์เอ็นอาจจะทำคะแนนขึ้นมาในระดับนานาชาติ ด้วยการทำตามสิ่งที่สหประชาชาติร้องขอในการยุติการปฏิบัติการในช่วงที่มีโรคระบาด แต่การต่อสู้ในทุกมิติกับกองทัพไทยที่แข็งแกร่งนั้น ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้สร้างความไม่พอใจมากขึ้นให้กับกองทัพไทย เมื่อเห็นกลุ่มขบวนการได้รับการยอมรับมากขึ้นในระดับโลก

ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาและนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง