กลุ่มตับลีฆญะมาอะห์และโควิด-19 : หลายประเทศต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2020.04.20
ยะลา
200420-TH-Pathan-1000.jpg นักดับเพลิงในนิวเดลีพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดพื้นที่ ในนิซามุดดิน สถานที่ที่พบมีผู้ร่วมชุมนุมทางศาสนาอิสลาม หลาย ๆ คน ติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 2 เมษายน 2563
เอพี

บรรดาประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างพบว่า ตนเองตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ขณะรับมือกับภัยคุกคามจากโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์ก็แย่อยู่แล้ว ประเทศเหล่านี้ต้องรักษาสมดุลระหว่างการบังคับใช้มาตรการสาธารณสุข เพื่อควบคุมการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามทำให้คนศาสนาต่าง ๆ ไม่เสียความรู้สึก เช่น ในกรณีกลุ่มมุสลิมอนุรักษ์นิยมกลุ่มหนึ่ง ซึ่งชื่อถูกพาดหัวข่าวทั่วภูมิภาค ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยทั่วไปแล้ว การขอให้องค์กรศาสนาอิสลามให้ความร่วมมือกับมาตรการสาธารณสุขของรัฐบาล ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด แต่การตัดสินใจผิดพลาดของกลุ่มตับลีฆญะมาอะห์ (Tablighi Jamaat) กลุ่มปฏิรูปมุสลิมหัวอนุรักษ์นิยม เมื่อต้นเดือนถึงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลที่ร้ายแรง

สาวกหลายคนของกลุ่มเผยแพร่ศาสนาอิสลามดังกล่าวที่มีฐานอยู่ในอินเดีย ถูกตรวจพบว่า ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ หลังเข้าร่วมงานชุมนุมใหญ่เพื่อฟื้นฟูศาสนา ทั้งที่จัดขึ้นในประเทศมาเลเซีย อินเดีย และปากีสถาน แม้บุคลากรการแพทย์และชาวมุสลิมด้วยกันเองจะออกมาเตือนให้กลุ่มดังกล่าวปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล ในการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ สาวกคนอื่นที่เดินทางไปเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเข้าร่วมงานชุมนุมลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งถูกสั่งยกเลิกในที่สุด ก็ติดเชื้อไวรัสนี้ด้วยเช่นกัน

สาวกของกลุ่มเผยแพร่ศาสนา “ตับลีฆ” บอกว่า โชคชะตาของตนอยู่ในมือของพระเจ้า ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ในประเทศอินเดียสงสัยว่า นายเมาลานา สะอัด กันดัลวี ผู้นำกลุ่ม ไม่พยายามมากพอที่จะระงับการชุมนุมใหญ่ที่มีขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในมัสยิดของเขาที่กรุงนิวเดลี

เกือบหนึ่งในสามของจำนวนผู้ติดเชื้อ 4,400 คน ณ วันที่ 6 เมษายน พบว่ามีความเชื่อมโยงกับงานชุมนุมดังกล่าว ที่สำนักงานใหญ่ของกลุ่ม อยู่ในย่านนิซามุดดิน กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ทางการอินเดียกล่าว

ขณะนี้ หน่วยงานอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจเดลีกำลังสอบสวนนายเมาลานา สะอัด และบุคคลอื่น ๆ ฐานละเมิดคำสั่งรัฐบาลเกี่ยวกับการห้ามชุมนุมกัน หนังสือพิมพ์อินเดียทูเดย์รายงาน เมื่อวันที่ 15 เมษายน

ในมาเลเซีย ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม มีชาวมุสลิมจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อเข้าร่วมงานชุมนุมเผยแพร่ศาสนาอีกงานหนึ่งของกลุ่มตับลีฆ

หลังจากงานดังกล่าวในมาเลเซียไม่กี่สัปดาห์ เห็นได้ชัดว่างานนั้นเป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ทางการมาเลเซียประกาศว่า งานนั้นทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวน 1,946 ราย

ผู้ที่ติดเชื้อเหล่านี้ได้แพร่เชื้อต่อให้คนอื่นอีกห้าทอด และได้มีการทดสอบคนจำนวน 26,021 ราย ที่อาจสัมผัสกับผู้ติดเชื้อจากงานชุมนุมดังกล่าว สำหรับในบรูไนเพียงประเทศเดียว จากจำนวนสาวกของกลุ่มตับลีฆทั้งหมด 50 คน ที่เข้าร่วมงานเผยแพร่ศาสนาของกลุ่มในกรุงกัวลาลัมเปอร์ พบว่า 45 คน ติดเชื้อไวรัสนี้ รายงานฉบับหนึ่งระบุ

ชาวไทยมุสลิมสาวกกลุ่มตับลีฆ

ในประเทศไทย ชาวไทยมุสลิมสาวกกลุ่มตับลีฆจำนวนประมาณ 340 คน ผู้ที่ได้เข้าร่วมงานเผยแพร่ศาสนาของกลุ่มที่มาเลเซีย หรือได้เดินทางไปยังอินโดนีเซียเพื่อเข้าร่วมงานลักษณะเดียวกัน แต่ถูกยกเลิกเสียก่อน ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสนี้หลังกลับถึงประเทศไทย

จากจำนวนนี้ เป็นราษฎรของสามจังหวัดชายแดนใต้ 170 คน ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการแต่อย่างใดหลังกลับถึงประเทศไทย แต่หลังจากกลับมาไม่นาน คนเหล่านี้ต่างก็ทยอยกันไปรักษาตัวในโรงพยาบาล

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียงสี่รายเท่านั้น ในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย แต่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 280 คน เมื่อกลางเดือนเมษายน

เจ้าหน้าที่ไทยที่ปฏิบัติงานในสามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ เนื่องจากสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นฐานของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงกว่า 7,000 รายแล้ว

แต่ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (บีอาร์เอ็น) กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ควบคุมกองกำลังเกือบทั้งหมด ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของกลุ่มเยาวชนในท้องที่ เช่น The Patani, PerMAS และองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยประกาศหยุดก่อเหตุ จนกว่าจะควบคุมการระบาดใหญ่ของไวรัสนี้ได้

ระลอกแรกของเหตุก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2503 หรือ 50 ปี หลังจากที่ประเทศไทยซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่า สยาม ขีดเส้นแบ่งดินแดนกับรัฐบนคาบสมุทรมลายูที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ความรุนแรงจากเหตุก่อความไม่สงบนั้นเกิดขึ้นเพื่อเป็นการตอบโต้นโยบายของรัฐบาลในการกลืนกลายวัฒนธรรม ซึ่งชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่นั้นรู้สึกว่า มีขึ้นเพื่อต้องการทำลายอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาของพวกเขา

ราษฎรส่วนใหญ่จากจำนวนกว่า 2 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่เรียกตัวเองว่าคนไทย แต่เรียกตัวเองว่าคนมลายู และต่างก็รู้สึกไม่ไว้วางใจหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกันกับของกลุ่มบีอาร์เอ็น

สาวกกลุ่มตับลีฆญะมาอะห์ในสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นกลุ่มเล็ก มีจำนวนไม่กี่หมื่นคน แม้ว่าคนเหล่านี้จะคิดว่าตัวเองเป็นคนมลายู แต่ก็ไม่รับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของมาเลย์ปาตานีเสียทีเดียว อย่างน้อยก็ไม่ถึงกับทำให้ตัวเองลุกขึ้นมาจับอาวุธสู้กับรัฐบาลไทย

กลุ่มตับลีฆญะมาอะห์ เป็นกลุ่มที่ภูมิใจในตัวเองว่าไม่ฝักใฝ่การเมือง งานหลักของกลุ่มคือ การฟื้นฟูศรัทธาของชาวมุสลิมที่ “หย่อนยาน” เพื่อช่วยนำทางคนเหล่านั้นสู่สรวงสวรรค์ กลุ่มนี้เชื่อว่าชาวมุสลิมควรปฏิบัติตนอย่างที่ปฏิบัติกันในยุคที่ศาสดามูฮัมหมัดมีชีวิตอยู่ นี่หมายถึงการนอนบนเสื่อฟางแทนฟูกนุ่ม ๆ และใช้กิ่งไม้สีฟันแทนการใช้แปรงสีฟัน

แต่บางแง่ของการตีความศาสนาอิสลามของกลุ่มนี้ ก็เป็นปัญหาแก่ชาวมุสลิมที่อาจต้องการเข้าร่วมกับกลุ่ม เช่น การคารวะผู้ก่อตั้งกลุ่มและครอบครัวผู้ก่อตั้ง การประกอบพิธีกรรมตามพระคัมภีร์บางเล่ม และการออกตระเวนสั่งสอนเป็นเวลา 40 วัน ซึ่งสาวกทุกคนจำเป็นต้องทำในแต่ละปี ไม่ว่าจะมีความรู้เกี่ยวกับศาสนาลึกซึ้งเพียงใดก็ตาม

ในหนังสือของเขาชื่อ “Holy Ignorance: When Religion and Culture Part Ways” โอลิเวอร์ รอย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ในกรุงปารีส จัดให้กลุ่มตับลีฆญะมาอะห์อยู่ในจำพวกกลุ่มปฏิรูป หรือผู้ที่มีความเชื่อ “ที่เคร่งครัดขึ้น” ผู้ที่สร้างอัตลักษณ์ใหม่ของตนขึ้นมาด้วยการค้นพบศาสนาของตนอีกครั้ง เช่นเดียวกันกับกลุ่มวะห์ฮาบีและสาลาฟี กลุ่มปฏิรูปเหล่านี้แยกตัวเองออกมาจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตน

โอลิเวอร์ รอย ชี้ให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับชาวมุสลิมเท่านั้น ศาสนาคริสต์ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบนี้เช่นกัน จากนิกายคาทอลิกและโปรเตสแตนต์สายต่าง ๆ เช่น เมทอดิสก์และแองกลิคัน ไปเป็นรูปแบบที่ยึดความเชื่อตามคัมภีร์อย่างเคร่งครัด เช่น อีวานเจลิคัลและเพนเตคอส

กลุ่มปฏิรูปมักจะปฏิเสธวัฒนธรรม ปรัชญา และแม้กระทั่งเทววิทยาของศาสนา แต่เชื่อตามตัวอักษรในพระคัมภีร์และความเข้าใจสัจธรรมผ่านทางศรัทธาของแต่ละคน ขณะที่กลุ่มปฏิรูปเหล่านี้มุ่งมั่นให้ได้มาซึ่ง “ความบริสุทธิ์ทางศาสนา” แต่ก็มักจะขาดความประนีประนอม โอลิเวอร์ รอย เขียนในหนังสือของเขา

รัฐไทยอาจมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มตับลีฆญะมาอะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ซึ่งสมาชิกกลุ่มไม่ให้การสนับสนุนการก่อความไม่สงบเพื่อแบ่งแยกดินแดน

แต่อย่างไรก็ตาม การสื่อข้อความด้านสาธารณสุขให้ประชาชนในระดับรากหญ้าเข้าใจ ก็ยังคงเป็นสิ่งท้าทาย ประเทศไทยในฐานะเมืองพุทธ พยายามใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการออกคำสั่งรัฐบาลที่เจาะจงถึงชาวมุสลิมโดยเฉพาะ เช่น พิธีอาบน้ำศพ และการงดละหมาดเป็นกลุ่มที่สุเหร่าในชุมชน

หากรู้สึกว่าถูกรัฐบาลแทรกแซง ก็อาจทำให้สาวกกลุ่มตับลีฆญะมาอะห์ในไทย หันเข้าหาผู้นำกลุ่มในอินเดีย ที่มีการปฏิบัติที่สร้างความลำบากใจแก่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งกำลังพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะต่อสู้กับการระบาดใหญ่ครั้งนี้ และรักษาความปลอดภัยในสังคมและประเทศของตน

ดอน ปาทาน เป็นเจ้าหน้าที่โครงการอาวุโสของมูลนิธิเอเชีย - ประเทศไทย ความคิดเห็นในบทวิเคราะห์นี้เป็นของผู้เขียนเท่านั้น และไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง