หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ ต้องการให้ผู้เห็นต่างทุกกลุ่มร่วมเจรจา

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2019.12.03
กรุงเทพฯ
191203-TH-Narathiwat-temple-1000.JPG เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ตรวจสถานที่เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบฝ่ายยิงพระสงฆ์มรณภาพสองรูป และบาดเจ็บอีกสองรูป ที่วัดรัตนานุภาพ ในอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส วันที่ 19 มกราคม 2562
รอยเตอร์

พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คนใหม่ ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะยุติความขัดแย้งในการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน ในขณะที่ได้แนะนำตัวเองและทีมเจรจาชุดใหม่ต่อนานาชาติ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาคนใหม่ เมื่อไม่นานมานี้ เขาแสดงท่าทีในระหว่างการแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า คณะผู้เจรจาตั้งใจที่จะเปิดการเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีอิทธิพลมากต่อการปฏิบัติการในท้องที่ แม้ว่าเขาจะไม่ได้เอ่ยชื่อขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional – BRN) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของชนเชื้อชาติมลายูปาตานี ที่กุมอำนาจฝ่ายปฏิบัติการของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนไว้ก็ตาม

หัวหน้าทีมเจรจาคนใหม่ ยังได้กล่าวอีกว่า การเจรจาสันติสุขกับผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ 20 ปี ของรัฐบาลไทย  ท่าทีของเขานั้นแตกต่างจากคำพูดเมื่อไม่นานมานี้ของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองทัพบก รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงคนอื่น ๆ ที่ว่ารัฐบาลควรจะจัดการกับความขัดแย้งที่มีผู้เสียชีวิตมากมายนี้อย่างไร

พล.อ.วัลลภ ยังได้ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ การประนีประนอม และเคารพความแตกต่าง ในระหว่างที่เขาพูดถึงวิธีการทำงานในตำแหน่งใหม่ ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์แสดงท่าทีแข็งกร้าว โดยการกล่าวว่า กลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนควรจะถูกบดขยี้ด้วยวิธีการใด ๆ ที่จำเป็น

ความรุนแรงที่เกี่ยวพันกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ซึ่งมีประชาชนส่วนหนึ่งนับถือศาสนามุสลิม และพูดภาษามลายู ปะทุขึ้นอีกครั้งในต้นปี 2547 และดำเนินเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน ความรุนแรงได้คร่าชีวิตประชาชนและเจ้าหน้าที่ไปแล้วมากกว่า 7,000 ราย

แนวคิดกระบวนการเจรจาเพื่อสันติก็เกิดขึ้น และมีความพยายามดำเนินการมาหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีครั้งใดที่ได้ผล เนื่องจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สำคัญมาก ซึ่งก็คือ บีอาร์เอ็น ปฏิเสธเข้าร่วมเจรจาทุกครั้งไป

นายธนากร บัวรัษฏ์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวในการแถลงข่าวเดียวกันกับ พล.อ.วัลลภ ว่า “เราสามารถเรียนรู้จากบทบาทในอดีต รวมทั้งบทเรียนต่าง ๆ ว่าทำไมการเจรจาจึงล้มเหลว วิธีที่ดีที่สุดก็คือ เจรจาให้ถูกคนเพราะจะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง”

ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่า การเจรจาสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานั้น ก็คือการลองผิดลองถูก

รัฐบาลไทยและกลุ่มก่อความไม่สงบมลายูปาตานี ได้เคยพบกันและพูดคุยกันมาหลายครั้งในเมืองต่าง ๆ ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในยุโรป นับตั้งแต่การจัดทำแผนสันติภาพที่ลังกาวีไปจนถึงการเจรจารอบเบอร์ลิน

หลายครั้งที่การหารือกันไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน และเพื่อลดความเสี่ยงต่อการล้มเหลวใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น คนที่เข้าร่วมการเจรจาเหล่านี้จึงเลี่ยงไปใช้คำว่า “การหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในกระบวนการสันติภาพ” แทน

กระบวนการสันติภาพที่ผ่านมา

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระบวนการสันติภาพไม่ก้าวหน้า ก็เพราะทางการไทยไม่มีความประสงค์ที่จะยื่นข้อเสนออันใดให้กับคู่เจรจา

แน่นอนว่าการเจรจานั้น เริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 จากรัฐบาลภายใต้การนำของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยที่ไทยให้มาเลเซียเข้ามาทำหน้าที่ประสานการเจรจา

แนวทางที่ริเริ่มในสมัยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์นั้นก่อให้เกิดความตื่นเต้นอย่างมาก เพราะนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยแสดงท่าทีอย่างเปิดเผยว่าจะพูดคุยกับฝ่ายแบ่งแยกดินแดน เพื่อแก้ไขความขัดแย้งต่าง ๆ โดยวิถีทางทางการเมือง

แต่ไม่นานนัก ความจริงก็ปรากฏว่า แนวทางริเริ่มนั้นเป็นส่วนผสมระหว่างความลวงและความหวังอันเลิศลอย เหนือสิ่งอื่นใด กระบวนการทั้งหมดนั้นดำเนินไปโดยที่ฝ่ายทหารของไทยไม่ได้มีส่วนรับรู้ และบีอาร์เอ็นก็ไม่เข้ามาร่วม พูดง่าย ๆ ก็คือ มีแววล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น

รัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเดือนพฤษภาคม 2557 แม้ว่ารัฐบาลทหารก็ลังเลที่จะเริ่มกระบวนการเจรจาอีกครั้ง แต่ไม่นานนัก พวกเขาก็แต่งตั้ง พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบกที่เกษียณแล้ว ให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย และมาเลเซียก็กลับมารับหน้าที่ประสานและอำนวยความสะดวกในการเจรจาอีกครั้ง

รัฐบาลมาเลเซียนั้นช่วยรวมกลุ่มเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนเข้าด้วยกัน บางกลุ่มนั้นเกิดขึ้นในช่วงต้นของการก่อความสงบช่วงราว พ.ศ. 2503  แต่อ่อนแรงลงไปนับตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา

ในกระบวนการเจรจาสันติสุขสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หน่วยงานรวมของกลุ่มก่อการ ที่เรียกว่าองค์กรร่ม อย่างมาราปาตานีนั้น ก็ไม่มีกลุ่มบีอาร์เอ็นเข้าร่วมด้วย เพราะบีอาร์เอ็นเห็นว่าไม่คิดว่ากระบวนการน่าเชื่อถือ

ในปลายปี 2561 พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ได้เข้ามาทำหน้าที่แทน พล.อ.อักษรา คำสั่งแรกของหัวหน้าคณะผู้เจรจาคนใหม่ก็คือ ยกเลิกโครงการนำร่องพื้นที่ปลอดภัย หรือเซฟตี้โซน เพราะเขารู้ว่ามาราปาตานีไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวสร้างความรุนแรงในพื้นที่ได้ ไม่เหมือนกับบีอาร์เอ็น และบีอาร์เอ็นก็ไม่เห็นประโยชน์จากการที่จะเข้าไปร่วมมือกับมาราปาตานีเอาเสียเลย

พล.อ.อุดมชัย พยายามหารือกับทุกฝ่ายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งประชาคมนานาชาติ เพื่อรวบรวมคำแนะนำที่จะทำให้การเจรจาเดินหน้าไปได้

แต่การตัดสินใจของ พล.อ.อุดมชัย ในการติดต่อกับพวกเอ็นจีโอต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเข้าถึงในกลุ่มคนระดับสูงของบีอาร์เอ็นได้ ทำให้คณะทำงานประสานและอำนวยความสะดวกการเจรจาของมาเลเซียไม่ชอบใจนัก และมองว่า พล.อ.อุดมชัย ละเมิดขั้นตอนการเจรจาที่ตกลงกันเอาไว้

รัฐบาลไทยมักจะชี้เสมอว่าตัวเลขการก่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วงสูงสุดในปี 2550 แต่บีอาร์เอ็นก็พยายามแสดงให้เห็นว่ากลุ่มของตนสามารถที่จะก่อความไม่สงบขึ้นได้เสมอ ซึ่งนำไปสู่การยิงพระสงฆ์สองรูป รวมทั้งครูและเจ้าหน้าที่โรงเรียนอีก 5 คน เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ และล่าสุดก็คือการโจมตีในเวลาใกล้กันสองครั้ง เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย ส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครป้องกันหมู่บ้านและตำรวจ ในตำบลลำพะยา ของจังหวัดยะลา

กฎเบื้องต้นของฝ่ายขบวนการในสามจังหวัดชายแดนใต้ ก็คือ จะไม่มีการแตะต้องเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร หรือประชาชน หากว่าเขาเหล่านั้นไม่ล้ำเส้น จนกลายเป็นเครื่องมือช่วยเหลือรัฐบาลในการปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าทั้ง 15 ชีวิตที่สูญเสียไปที่ลำพะยานั้น ไปล้ำเส้นอย่างไรเข้าหรือไม่

ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาและนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง