รัฐไทยใช้แนวทางใหม่ ตั้งข้อหาฆ่าผู้อื่นกับทหารสองนาย

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2019.12.30
ยะลา
191230-TH-islamic-visit-1000.jpg นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี พร้อมคณะ เดินทางไปที่มัสยิดนูรุลอีมาน อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพื่อเยี่ยมเยี่ยม ให้กำลังใจ และมอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ยิงชาวบ้านเสียชีวิต 3 ราย เมื่อกลางเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา บนเขาตะเว วันที่ 28 ธันวาคม 2562
มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์

หน่วยงานรัฐบาลในสามจังหวัดชายแดนใต้ใช้วิธีที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก เมื่อเจ้าหน้าที่สองนายถูกตั้งข้อหาฆ่าคนโดยเจตนา จากกรณียิงชาวบ้านสามรายที่ขึ้นไปตัดไม้บนเขาเสียชีวิต ที่นราธิวาส ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 3 ออกมายอมรับว่าเจ้าหน้าที่ยิง เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นพวกกองกำลังแบ่งแยกดินแดน

นับว่าไม่บ่อยนักที่จะเห็นกองทัพบกจะออกมายอมรับว่าทำผิดพลาด ในกรณีที่มีชาวบ้านเสียชีวิตจากปฏิบัติการไล่ล่ากองกำลังฝ่ายตรงข้าม ในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งกรณีที่เกิดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมนั้น เห็นได้ชัดว่ากองทัพใช้วิธีที่ต่างไปจากเดิม

ในอดีต เมื่อมีชาวบ้านเสียชีวิตขณะเกิดปฏิบัติการทางทหารในสภาพการณ์ที่น่าสงสัย ทางการมักจะซื้อเวลา โดยการบอกว่ากำลังสอบสวนอยู่

โดยหลังเกิดเหตุทำนองนี้ ขบวนการบีอาร์เอ็น กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีกองกำลังเคลื่อนไหวปฏิบัติการมากที่สุด มักมีการตอบโต้รุนแรง เพราะบีอาร์เอ็นเห็นว่า ทางการไทยละเมิด “กฎพื้นฐาน” ของความขัดแย้งที่มีมายาวนานนี้

การตอบโต้ คือ บีอาร์เอ็นจะทำมากกว่าปฏิบัติการตามปกติ คือ วางระเบิดไว้ตามข้างทาง ที่มักตามด้วยการยิงปะทะสั้น ๆ กับฝ่ายเจ้าหน้าที่

รูปแบบการเคลื่อนไหวของกลุ่มบีอาร์เอ็น ก็เป็นเหมือนกับกองกำลังต่อสู้รัฐบาลโดยทั่วไป คือ สื่อสารผ่านความรุนแรง

ในบริบทของจังหวัดชายแดนใต้ การสื่อสารในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมานั้น เป็นไประหว่างกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่มีบีอาร์เอ็นเป็นหัวหอก กับหน่วยงานความมั่นคงไทย คือ ตำรวจ ทหาร และกองทหารพราน

ในสายตาของกลุ่มบีอาร์เอ็น พลเรือนที่ติดอาวุธ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยอาสารักษาหมู่บ้าน ที่อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยเป็น "เป้าหมายอันชอบธรรม" เพราะพวกเขาได้ก้าวข้ามไปเป็นฝ่ายรัฐบาลแล้ว

การสังหารประชาชน 15 ราย ที่ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนติดอาวุธ ที่ยะลา เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน

แต่กรณียิงชายสามคนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม บนเขาตะเว ที่นราธิวาส ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมบีอาร์เอ็นยังไม่มีการโต้ตอบ

"อารมณ์ความรู้สึกในพื้นที่ เหมือนมีการเรียกร้องให้ตอบโต้ แต่ดูเหมือนว่าบีอาร์เอ็นจะยังสงบนิ่ง ส่วนทหารไทยก็แสดงท่าทีในลักษณะเดียวกัน เพื่อพิสูจน์หลักจริยธรรมที่ดีของทั้งสองฝ่าย โดยการพูดถึงประเด็นกฎเกณฑ์การปะทะ และการนำคนผิดมาลงโทษ ซึ่งมาพร้อมกับกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในพื้นที่ที่พรรคทหารจำแลงและเครือข่ายไม่ได้รับความนิยม จนต้องทบทวนแนวทางปฏิบัติใหม่" อัสมาดี บือเฮง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของ เดอะปาตานี (The Patani) องค์กรภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวเพื่อการกำหนดอนาคตตนเอง สำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีความขัดแย้ง

ขณะที่ นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก (Artef Sohko) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่โดดเด่นในพื้นที่ และประธานของเดอะปาตานี ให้ความเห็นว่า "ชาวบ้านได้สร้างความก้าวหน้าบางอย่างกับทางการ และบีอาร์เอ็นคงไม่อยากจะปฏิบัติการ ด้วยเกรงว่าอาจไปทำลายข้อตกลงที่บรรลุแล้วระหว่างภาครัฐทำกับญาติของผู้เสียชีวิต"

ในตอนแรก รายงานของหน่วยทหารพื้นที่ต่อ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 คือ ทหารพบกับกลุ่มคนตัดไม้ในเขตห้ามเข้า และสั่งให้พวกเขารายงานตัวเพื่อตรวจค้น

ขณะนั้นเอง เกิดเสียงปืนขึ้น 3-4 นัด ทำให้ชาวบ้านพากันวิ่งหนี

ชาวบ้านที่ขึ้นไปตัดไม้บริเวณเดียวกันในเวลานั้นที่วิ่งหนี และรอดชีวิต ไม่ยอมพูดอะไรกับนักข่าวเลย ยังไม่ชัดเจนว่าพวกเขามีข้อตกลงอะไรกับทางการไทย หรือเป็นห่วงความปลอดภัยของตัวเอง หรือไม่อยากให้สถานการณ์ยุ่งยากมากขึ้นในขณะที่สองฝ่ายเจรจากัน

นายอัสมาดีเห็นว่า ทางการสามารถยึดการอธิบายเหตุการณ์ตามรายงานเบื้องต้นต่อไปได้ เนื่องจากไม่มีพยานอื่นใด นอกจากคนตัดไม้อื่น ๆ ที่วิ่งหนีไปได้

แต่ทหารก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกได้แสดงความเสียใจต่อกรณีเสียชีวิตของชายทั้งสาม และแสดงความมุ่งมั่นที่จะใช้กระบวนการทางกฎหมายและวินัยต่อเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผบ.ทบ. ยังกล่าวด้วยว่าเจ้าหน้าที่ควรจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบวิธีการเข้าปะทะเสียใหม่

ยิ่งไปกว่านั้น พล.ท.พรศักดิ์ ก็ไม่ได้ยึดติดกับรายงานสถานการณ์เบื้องต้น ที่ว่าอาจมีการยิงต่อสู้กันเกิดขึ้นก่อนจะมีผู้เสียชีวิต

ผู้สันทัดกรณีระบุตรงกันว่า ผบ.ทบ.อาจต้องการชนะใจคนในพื้นที่ ซึ่งลงคะแนนเลือกพรรคฝ่ายค้านอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งเมื่อต้นปีนี้ และเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ แล้ว ประชาชนเชื้อสายไทย-มาเลย์ทางภาคใต้ออกมาใช้สิทธิ์สูงที่สุดในประเทศ

แม้กระบวนการทางการเมืองผ่านรัฐสภาของไทยยังไม่แข็งแกร่งมากนัก แต่ความจริงที่ว่าประชาชนเลือกพรรคฝ่ายค้านที่มีนโยบายต้านการใช้กำลังทหารในพื้นที่ ซึ่งอาจแปลได้ว่า รัฐบาลไม่ค่อยมีความหมายนักในสายตาคนในพื้นที่

การออกมาแสดงความเสียใจ และแสดงความมุ่งมั่นจะใช้กระบวนการทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนในการสังหารชาวบ้านที่ขึ้นเขาไปตัดไม้ แม้ไม่ได้มีความสำคัญขนาดจะก่อให้เกิดความพลิกผันอันใดต่อความขัดแย้ง ในจังหวัดชายแดนใต้ที่ดำเนินมาเนิ่นนาน แต่ก็เป็นหนทางที่ถูกต้อง หากว่ารัฐไทยต้องการจะเอาชนะใจ สร้างความปรองดองกับประชาชนเชื้อสายมลายูในพื้นที่

ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาและนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง