มติ กกต.ล่าสุดให้ศาลฯ ยุบพรรคอนาคตใหม่ อาจก่อเหตุป่วนเมือง

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2019.12.12
191212-TH-abuza-1000.jpg นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (กลาง) หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ชูมือทักทายผู้สนับสนุนที่มาให้กำลังใจ ขณะเดินทางออกจากศาลรัฐธรรมนูญ ในกรุงเทพฯ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562
เอพี

การลงมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ที่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ อาจเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการลุกฮือต่อต้านรอบใหม่ และอาจส่งผลต่อรัฐบาลที่หนุนโดยทหาร

กกต. ระบุว่า จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ หลังจากพิจารณาว่าการที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ให้พรรคยืมเงิน 191 ล้านบาทในระหว่างการเลือกตั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติพรรคการเมือง

พรรคอนาคตใหม่ได้ก่อตั้งขึ้น เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 แต่ได้รับคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งถึง 6 ล้านเสียง หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของคะแนนเลือกตั้งทั่วประเทศ และได้ที่นั่งในรัฐสภา ร้อยละ 16 ของทั้งหมด 500 ที่นั่ง ทำให้อนาคตใหม่กลายเป็นพรรคใหญ่อันดับสามของประเทศ  โดยมี สส.แบบเขต 31 คน และปาร์ตี้ลิสต์ 50 คน

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้พรรคที่อายุไม่ถึงสองปีนี้ กลายเป็นขั้วที่สามในการต่อสู้ทางอำนาจ ระหว่างทหารที่จับขั้วกับกลุ่มชนชั้นนำที่จงรักภักดีต่อพระราชวงศ์ มาต่อสู้กับกลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุน อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

พรรคการเมืองสองพรรคที่อยู่ภายใต้ปีกของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ซึ่งก็คือ พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน ถูกยุบพรรคอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2551 ตามลำดับ ซึ่งหลายวันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ประกาศยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคที่แตกออกมาจากพรรคเพื่อไทย  เหตุมาจากที่พรรคไทยรักษาชาติได้เสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี  นำไปสู่พระราชโองการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

แนวทางการตัดสินในกรณีต่าง ๆ ของกกต.ที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองที่ผ่านมา ที่ขาดความเป็นอิสระและโปร่งใส ในการจัดการผลการเลือกตั้ง มีการยุติบทบาทของนักการเมืองหลายคน และทั้งการคิดค้นสูตร สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือ เพื่อลงโทษฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร

เช่นเดียวกับคดีที่คล้ายคลึงกัน แต่เกิดขึ้นกับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล เป็นไปได้มากว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคดีไว้พิจารณา

ได้รับความนิยมในหมู่คนหนุ่มสาว

ในขณะที่ฝ่ายทหารจับจ้องทุกความเคลื่อนไหวของพรรคที่มีสายสัมพันธ์กับนายทักษิณ อนาคตใหม่ก็คว้าชัยอย่างไม่คาดหมายจากการเลือกตั้งโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ

พรรคได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มหนุ่มสาวในเมือง ที่เกิดคับข้องใจจากการใช้อำนาจของทหารที่ห้ามแสดงความเห็นแย้ง รวมทั้งการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ไร้ฝีมือ รวมทั้งพรรคเพื่อไทยเองก็แสดงท่าทีออกมาทำนองว่าอยู่ในปีกเดียวกัน แต่กลับกลายเป็นผลร้ายต่ออนาคตใหม่ ทำให้ทหารเพิ่มแรงกดดันมากขึ้น

นับตั้งแต่การเลือกตั้ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคจึงถูกทหารจับจ้องตลอดมา เพราะว่าเขาแสดงตัวอย่างเด่นชัดว่า ต้องการท้าชิงกับพล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา ในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมิถุนายนที่รัฐสภา ซึ่งนายธนาธรก็พ่าย พล.อ.ประยุทธ์ไปเพียง 7 คะแนนเท่านั้น

แม้จะเป็นพรรคฝ่ายค้าน อนาคตใหม่ก็ทำให้พรรครัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำในสภาอยู่ในภาวะลำบาก

ฝ่ายทหารไม่พอใจข้อเสนอของอนาคตใหม่ที่ให้เลิกเกณฑ์ทหาร และเรียกร้องให้ลดค่าใช้จ่ายทางการทหาร ซึ่งเพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 2 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 แม้ว่าจะไม่มีวี่แววของศีกสงครามจากนอกประเทศเลยก็ตาม

พรรคนี้ก็ยังเรียกร้องให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีความประสงค์จะไม่ให้ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แม้ว่าจะไม่มีใครพูดออกมาอย่างเปิดเผย แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า ทหารมองพรรคอนาคตใหม่เป็นเมล็ดพันธ์แห่งการสร้างรัฐแบบใหม่ ที่อาจนำไปสู่การสิ้นสุดของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ

การที่นายธนาธรเข้าร่วมในวงพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการพูดเขตการปกครองตนเองในฐานะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่อาจแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เป็นอยู่ได้ ทำให้ทหารไม่พอใจอย่างหนัก จนออกมาระบุว่าแนวคิดนี้เป็นภัยต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติไทย

เมื่อเดือนที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติบทบาทสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จากเหตุถือหุ้นบริษัทสื่อ แม้ว่าบริษัทดังกล่าวจะเลิกกิจการไปแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ นายธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ยังเผชิญหน้ากับคดีความอีกมากมาย ยิ่งไปกว่านั้น พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ก็ยังแสดงความสงสัยด้วยว่า พรรคอนาคตใหม่มีแนวทางสังคมนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่เคยเป็นศัตรูตัวฉกาจของทหารไทยในอดีต

รัฐบาลไทยวิตกว่า จะเกิดการประท้วงแบบในฮ่องกง

สิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาล และผู้สนับสนุนรัฐบาลทั้งหลายหวังก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะเดินหน้ายุบพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่อันดับสองอย่างรวดเร็ว และนายธนาธรจะถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี  บรรดา สส.ของพรรคอนาคตใหม่ก็จะกระจัดกระจายไปสังกัดพรรคที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นพรรคหลักในรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ก็ไม่น่าจะเลือนหายไปจากความทรงจำของคนไทยได้อย่างรวดเร็ว และการยุบพรรคอาจจะหมายถึงแรงกระตุ้นให้เกิดการเดินประท้วงบนถนนระลอกใหม่ก็ได้

พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เป็นเพียงพรรคการเมือง หากแต่เป็นกระแสที่กระตุ้นให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะพวกเขาไม่อยากให้ประเทศถอยกลับไปสู่ระบอบเดิม ๆ ที่เคยมีมาในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน

ผู้มีสิทธิออกเสียงสมัยใหม่จำนวนไม่น้อย มีการศึกษาและสนใจการเมือง พร้อมทั้งไม่อยากเห็นชนชั้นนำสามารถสะสมโภคทรัพย์และอำนาจโดยที่คนกลุ่มอื่นต้องเสียสละ นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายได้ (Gini Coefficient) ของไทยแสดงให้เห็นว่า ช่องห่างทางรายได้ของคนกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศถูกถ่างกว้างขึ้นตลอดมา

ผู้สนับสนุนของพรรคอนาคตใหม่ เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ของรัฐบาลไทย ที่ได้แบบอย่างจากรัฐบาลจีน มากที่สุด

แม้ว่านายธนาธรจะพูดติติง การประท้วงโดยพวกเสื้อเหลืองและเสื้อแดง นำไปสู่การรัฐประหาร โดยพล.อ.ประยุทธ แต่ภาพถ่ายคู่ของนายธนาธร กับโจชัว หว่อง ผู้นำการประท้วงในฮ่องกง ก็ทำให้เหล่าผู้นำทหารเกิดวิตกกังวลมาก

หากผู้สนับสนุนของพรรคอนาคตใหม่ลงถนนประท้วง รัฐบาลจะใช้กำลังปราบปรามทันที เนื่องจากไม่อยากเห็นการประท้วงที่ลุกลามออกไป

อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่และลูกหลานของเขา เป็นชนชั้นกลางที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม คะแนนที่พวกชนชั้นกลาง ในกรุงเทพฯ เทให้กับพรรคอนาคตใหม่ น่าจะเตือนใจรัฐบาลได้เป็นอย่างดีว่า การกดดันประชาชนนั้นต้องมีขอบเขต รวมทั้งการลงโทษฝ่ายต่อต้านรัฐ หากได้ละเว้นการลงโทษฝ่ายรัฐและผู้สนับสนุนรัฐเอง

การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ

หลายอย่างไม่ได้เป็นไปอย่างใจของรัฐบาล

โพลสำรวจความคิดประชาชนของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า ความเชื่อมั่นในนายกรัฐมนตรีลดลง ผู้แสดงความคิดเห็นเกือบร้อยละ 34 เห็นว่า พล.อ.ประยุทธทำงานได้ย่ำแย่, ร้อยละ 61.2 คิดว่าเขาไม่มีความสามารถพอที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศได้, ส่วนในประเด็นเรื่องความโปร่งใส ร้อยละ 51.5 บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ขาดความโปร่งใส

แทนที่จะอดทนต่อคำแนะนำของพรรคฝ่ายค้านที่อธิบายเหตุผลว่า ทำไมประเทศจึงควรต้องปฏิรูประบอบการปกครอง รัฐบาลก็เดินหน้าใช้กฎหมายจัดการกับพวกเขา

แม้ว่าในอดีต ทหารและกลุ่มชนชั้นนำจะเคยล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และดับความหวังของคนที่เลือกรัฐบาลนั้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ครั้งนี้ จะกระทบกับประชาชนหลายภาคส่วนของสังคม ทั้งในเมือง และต่างจังหวัด

และความจริงนี้จะกลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง ในที่สุดแล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรจะรับรู้ ก็คือ พรรคอนาคตใหม่ให้ความสำคัญกับอนาคตของประเทศไทย

พล.อ.ประยุทธ และรัฐบาลต้องการจะกลับไปหาอดีตที่รุ่งเรือง และพวกเขากำลังพยายามดึงประเทศให้ถอยหลังไปพร้อมกับพวกเขาด้วย

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในวอชิงตัน และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ “Forging Peace in Southeast Asia: Insurgencies, Peace Processes, and Reconciliation” ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง