หัวหน้าคณะพูดคุยฯ คาดมีการเปลี่ยนแปลงในฝ่ายผู้เห็นต่าง

อารยา โพธิ์จา และภิมุข รักขนาม
2019.11.29
กรุงเทพ
191129_TH_DEEPSOUTH_WANLOP_1000.JPG พลเอกวัลลภ รักเสนาะ พูดคุยกับผู้สื่อข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ในการแถลงข่าวแนะนำตัวหลังรับตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คนใหม่ วันที่ 29 พ.ย. 2562
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในวันศุกร์นี้ว่า น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้ร่วมพูดคุยในฝ่ายผู้เห็นต่าง ในการพูดคุยครั้งต่อไป ที่คาดว่าจะมีในเร็วๆ นี้

ในการเปิดแถลงข่าวแนะนำตัวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นเดือนตุลาคม ศกนี้ ได้กล่าวยืนยันถึงเรื่องการพุดคุยกับฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยระบุว่า จะพูดคุยกับทุกฝ่าย และ “พยายามที่จะหากลุ่มที่เรียกว่า เป็นคนที่มีอิทธิพลก่อให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่”

“ก็ได้ประสานกับทางฝ่ายมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้ ทางฝ่ายมาเลเซียก็ยินดีที่จะสนับสนุน การดำเนินการดังกล่าวก็จะมีการจัดทีมที่จะมาพูดคุยกับฝ่ายไทย ซึ่งคาดว่าจะเร็วๆ นี้” พลเอกวัลลภ กล่าวแก่ผู้ฟังไทย-เทศ ประมาณ 200 คน

“โดยได้คุยกับเขาว่า เราต้องการคุยกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติการในพื้นที่ ขณะเดียวกันเราก็บอกว่า เราต้องการคุยกับทุกกลุ่ม (ทางมาเลเซีย)... ก็จะดำเนินการในการประสานกลุ่มขึ้นมาพูดคุยกับฝ่ายเรา ซึ่งเราไม่ชัดเจนว่าจะเป็นกลุ่มไหนบ้าง หรือจะมีใครเป็นแกนนำ ซึ่งก็จะต้องดูความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง” พลเอกวัลลภ กล่าวเพิ่มเติม

“โดยส่วนตัวคิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เป็นไปได้ทุกอย่างเลยครับ เพราะตอนนี้ อย่างที่ผมเรียนไปแล้วว่าเราได้พยายามที่จะประสานกับทางมาเลเซียว่าให้ช่วยดำเนินการตรงนี้ และทางมาเลเซียก็กำลังช่วยดำเนินการให้อยู่” พลเอกวัลลภ กล่าวตอบ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีฝ่ายบีอาร์เอ็นเข้าร่วมหรือไม่ รวมทั้งสถานะของมาราปาตานี คู่เจรจาเดิม

นับตั้งแต่มีการเจรจากับมาราปาตานี ที่เป็นการรวมกลุ่มของฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบต่างๆ ในเดือนสิงหาคม 2558 การพูดคุยได้ชะงักลงอย่างชัดเจนเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งการพูดคุยได้เน้นไปที่การจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัย” ในอำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส ซึ่งไม่สามารถจัดตั้งได้

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า สาเหตุหลักๆ คือ กลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งคุมกองกำลังปฏิบัติการในพื้นที่ไม่ได้เข้าร่วมเจรจาด้วยโดยตรง แม้จะมีตัวแทนอยู่สามคนก็ตาม

“สิ่งแรกที่เราเรียนรู้จากบทบาท บทเรียนจากคราวที่แล้วที่ผ่านมาว่า ทำไมถึงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่ามีการไปตั้งกรอบตั้งเงื่อนไขอะไรไว้ก่อน... ทางที่ดีที่สุดให้เราได้เจอเขา ใช่คนที่เราจะคุยด้วย มันจะตรงกับการแก้ไขปัญหา มันก็จะไม่ผิดไป” นายธนากร บัวรัษฎ์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวในการแถลงข่าว

“จะบอกสั้นๆ ว่าให้มาคุยกันเถอะครับ เพราะว่าที่เราพูดถึงเงื่อนไขและพูดถึงบริบทต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี ทำให้มีความคิดได้กว้างขึ้น ขณะเดียวกันมันก็จะกลายไปเป็นเงื่อนไข จะทำให้คนที่อยากจะพูดคุยลังเล คิดแล้วคิดอีก ทำให้กระบวนการเกิดความล่าช้า” นายธนากร กล่าวเพิ่มเติม

วาระแห่งชาติ

นับตั้งแต่มีการปล้นปืนกว่า 400 กระบอก ไปจากค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ ในอำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส เมื่อเดือนมกราคม 2547 มีผู้เสียชีวิตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 7,000 คน ซึ่งพลเอกวัลลภ ยังได้ระบุในวันนี้ว่า การพูดคุยฯ ได้ถูกบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะกระทำอย่างต่อเนื่อง

“ก็ขอยืนยันต่อประชาชนต่างประเทศและสื่อมวลชนว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนปักษ์ใต้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญ มุ่งมั่นและจริงใจที่จะดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผล โดยมีการบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 - ปี 2580” พลเอกวัลลภ กล่าวและระบุว่า จะใช้ความจริงใจ ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ผลักดันดำเนินการเรื่องการพูดคุยให้ประสบผลสำเร็จ แม้ว่าจะไม่ได้มีแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาก็ตาม

ทั้งนี้ ก่อนการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายน นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษแก่เบนาร์นิวส์ว่า จะร่วมทำงานกับพลเอกวัลลภ เพื่อหาวิธีการทำให้สถานการณ์สงบลง เพราะมาเลเซียเห็นว่าประเทศไทยจะไม่ยอมให้ผู้เห็นต่างมีอิสระในการปกครองตนเอง หรือมีเอกราชเหนือดินแดน และอาจทำให้ประเทศไทยมีการจัดการที่รุนแรง และมีคนตายอีกมาก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามในเรื่องนี้ พลเอกวัลลภ กล่าวว่า ท่านคงมองจากประสบการณ์ของท่านว่าการต่อสู้ที่มีมาอย่างยาวนาน ควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในการที่จะไปยืนยันว่าจะเป็นเอกราช หรือเป็นออโตโนมีนั้น ลองมาคุยกันดูว่าจะมีวิธีการ ปรับเปลี่ยนกันอย่างไร

“ซึ่งในส่วนของคณะพูดคุยฯ ก็ยังไม่ได้รับฟังปัญหาเรื่องนี้... เรายังไม่ได้เจาะลึกไปถึงปัญหาต่างๆ ว่ามีอะไรบ้างอย่างลึกซึ้ง” พลเอกวัลลภกล่าว และระบุอีกว่า จะไม่มีการกดดันทางทหาร การพูดคุยต้องเกิดจากความสมัครใจ การให้เกียรติกัน และมีความจริงใจต่อกัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง