นานาชาติควรร่วมมือต่อสู้เชิงจิตวิทยากับลัทธินิยมความรุนแรง คำบอกในที่ประชุมกรุงกัวลาลัมเปอร์

ฟาฮิรุล เอ็น. รามลี
2016.01.27
SEA-militants-620 ภาพจากวิดีโอถ่ายโดยกลุ่มอาบูไซยาฟ และถูกเผยแพร่โดยกลุ่มรัฐอิสลามหัวรุนแรง แสดงให้เห็นกลุ่มติดอาวุธรวมกลุ่มกัน หลังการสาบานแสดงความจงรักภักดีต่อนายอาบู บากร์ อัล-บักห์ดาดี ผู้นำกลุ่มไอเอส พิธีจัดขึ้นในจังหวัดบาซิลัน บนเกาะซูลู ประเทศฟิลิปปินส์
เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย ศูนย์นานาชาติเพื่อการวิจัยความรุนแรงทางการเมืองและการก่อการร้าย ประเทศสิงคโปร์

เราจะชนะสงครามต่อแนวคิดลัทธิสุดโต่งหัวรุนแรงไม่ได้เลย หากไม่เข้าถึงจิตใจของเยาวชนที่อาจถูกหลอกล่อให้เข้าสู่แนวคิดลัทธินิยมความรุนแรง นายอาหมัด ซาฮิด ฮามิดี รองนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย กล่าวแก่ผู้ร่วมประชุม ในตอนท้ายของงานประชุมนานาชาติเรื่องการลดแนวคิดนิยมความรุนแรง ในกรุงกัวลาลัมเปอร์

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่เป็นการต่อสู้ในทุก ๆ ด้าน ทั้งในโลกเทคโนโลยีสารสนเทศ บนภาคพื้นดิน และในจิตใจ” นายอาหมัด ซาฮิด ฮามิดี กล่าวในการปิดงานประชุมที่ใช้เวลาสองวัน เมื่อวันอังคารนี้ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสจาก 19 ประเทศ รวมถึงสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เข้าร่วมประชุม

“เราต้องแน่ใจถึงประสิทธิผลของโครงการบำบัดฟื้นฟูของเรา เราต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมด้วย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้เยาวชนของเราเข้ามามีส่วนร่วมด้วยและมีส่วนร่วมอีกครั้ง” นายอาหมัดกล่าวเสริม

นายอาหมัด กล่าวว่า เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่บรรดาประเทศที่ต่อสู้กับอุดมการณ์และอิทธิพลของกลุ่มหัวรุนแรง เช่น กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ต้องร่วมมือกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เขาอธิบายว่าเป็น “ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า” ของคนที่เข้าร่วมกับกลุ่มดังกล่าว

“นี่เป็นความรู้สึกที่เกิดจากความศรัทธาอย่างลึกซึ้ง และความจงรักภักดีอย่างเต็มที่ โดยไม่ลืมหูลืมตาต่อภารกิจหนึ่ง ภารกิจที่คนเหล่านั้นส่วนใหญ่มักจะไม่เข้าใจดีเท่าไหร่นัก แต่ก็ยังอุทิศตนและทุ่มเทให้ทั้งหมด” นายอาหมัด ซึ่งรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยด้วย กล่าว

หลังถ้อยแถลงของเขาในงานประชุมดังกล่าว นายอาหมัด ได้จัดงานแถลงข่าวขึ้น โดยประกาศว่ามาเลเซียจะเปิดศูนย์ดิจิทัลประจำภูมิภาคในวันที่ 1 พฤษภาคม ภารกิจของศูนย์นี้คือ การต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อทางออนไลน์ของกลุ่มไอเอส

ศูนย์แห่งนี้ซึ่งใช้เงินประมาณ 200 ล้านริงกิต (46.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) กำลังก่อตั้งขึ้นโดยการตกลงทวิภาคีที่ทำกับสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา เมื่อสร้างเสร็จและเปิดทำการ ศูนย์แห่งนี้จะเป็นแห่งแรกที่ดำเนินการด้านนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจ้าหน้าที่กล่าว

จำเป็นอย่างยิ่ง

นายอาหมัดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของแง่จิตวิทยา ซึ่งสะท้อนออกมาในคำกล่าวของนายโรฮัน กูนารัทนา ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายที่เข้าร่วมในการนำเสนอรอบสุดท้ายของงานประชุมดังกล่าว

นายโรฮัน กูนารัทนา คอลัมนิสต์คนหนึ่งของเบนาร์นิวส์ ผู้เป็นหัวหน้าศูนย์นานาชาติเพื่อการค้นคว้าด้านความรุนแรงทางการเมืองและการก่อการร้าย ประจำสำนักวิชาวิทยาการ เอส. ราชารัตนาม ด้านวิเทศศึกษา ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ความสำเร็จของมาเลเซียในโครงการบำบัดฟื้นฟูผู้ที่นิยมความรุนแรง สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทุกประเทศสมาชิกของอาเซียน

“นี่จะต้องอาศัยการทำงานและความพยายามมากขึ้น แต่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อลดทอนและทำลายแนวคิดลัทธิสุดโต่ง ไม่เพียงแต่ในระดับที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าเท่านั้น แต่ยังในระดับ ‘ที่มองไม่เห็น’ ในจิตใจของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เยาวชนด้วย” นายโรฮัน กูนารัตนา กล่าว

“ควรเพิ่มและขยายโครงการเข้าถึงชุมชน การรณรงค์ทางออนไลน์ และโครงการอื่น ๆ และสื่อข้อความว่า กลุ่มไอเอสเป็นเพียงการตีความและการนำเสนอศาสนาอิสลามในทางที่ผิดเท่านั้น...” เขากล่าวเสริม

ในเวลาต่อมา นายโรฮัน กูนารัทนา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เพื่อความมั่นคงของมาเลเซีย มาเลเซียควรร่วมมือกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ในการป้องกันไม่ให้กลุ่มไอเอสขยายตัวจากภาคใต้ของฟิลิปปินส์เข้าสู่รัฐซาบาห์ของมาเลเซียที่อยู่ติดกัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่มติดอาวุธในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ได้สาบานตนแสดงความจงรักภักดีต่อกลุ่มไอเอส และต่อนายอาบู บากร์ อัล-บักห์ดาดี ผู้ที่แต่งตั้งตัวเองเป็นผู้นำกลุ่มไอเอส ดังที่นายโรฮัน กูนารัทนา เขียนไว้ในคอลัมน์หนึ่งสำหรับเบนาร์นิวส์ ก่อนหน้านี้

“มาเลเซียควรต้องกังวลให้มาก เพราะมันจะขยายตัวเข้าสู่พรมแดนของเกาะบอร์เนียว โดยรัฐซาบาห์ของมาเลเซียจะถูกร่างแหไปด้วย...” นายโรฮัน กูนารัทนา กล่าว

ความขัดแย้งในตัวเองในยุคปัจจุบัน

นายโรฮัน เพิ่งจะนำเสนอร่วมกับนายไซนี โอธแมน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ (SASSREC) แห่งมหาวิทยาลัยมาเลเซีย รัฐซาบาห์

ในการนำเสนอของเขา นายไซนี โอธแมน พูดถึง “ความขัดแย้งในตัวเองทั่วโลก” และความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างการก้าวไปในยุคปัจจุบัน ขนานไปกับอุดมการณ์แนวคิดลัทธิสุดโต่งที่เกิดมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีออนไลน์ช่วยเผยแพร่อุดมการณ์นี้

“เนื่องจากประเด็นเรื่องลัทธินิยมความรุนแรงและลัทธิสุดโต่งได้เกิดขึ้น จนออกนอกเขตแดนของแต่ละประเทศแล้ว ดังนั้น หนทางแก้ไขจึงต้องออกตามมาด้วย” นายไซนีกล่าว

“ต้องควบคุมผลที่ไม่ได้ตั้งใจ เช่น การสูญเสียอัตตาณัติ อำนาจและความชอบธรรม อย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น โดยการร่วมมือกันอย่างโปร่งใสและมีคุณธรรม กับหลายองค์กรของประเทศต่าง ๆ ด้วยวิธีที่เป็นระบบ” นายไซนีกล่าว

ซูฮานา ออสแมน มีส่วนร่วมในรายงานชิ้นนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง