นายกฯ มาเลเซียมหาเธร์ไม่คิดว่าไทยจะให้ จังหวัดชายแดนใต้เป็นเขตปกครองตนเอง

นานี ยูโซฟ
2019.09.27
นิวยอร์ก
190927-MY-TH-mahathir-deepsouth-620.jpg เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบช่องโหว่ในกำแพง จากเหตุระเบิดโจมตี ที่ฐานชุดคุ้มครอง ในจังหวัดนราธิวาส วันที่ 29 ธันวาคม 2561
เอเอฟพี

มาเลเซียตั้งใจที่จะพยายามในการนำสันติสุข มาสู่จังหวัดชายแดนใต้ของไทยต่อไป แม้ว่า ผู้นำไทยจะไม่ยอมให้ขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ มีการปกครองตนเอง นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรี กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษแก่เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นายมหาเธร์ กล่าวว่า ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียจะทำงานร่วมกับ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขกับกลุ่มมาราปาตานี

“เราจะพยายามทำงานร่วมกับผู้นำการพูดคุยคนใหม่นี้ เพราะเราเพียงต้องการหาวิธีที่จะยุติความไม่สงบ เพราะในความเห็นของเรา ไม่มีทางที่ประเทศไทยจะยอมให้พวกเขามีอิสระในการปกครองตนเอง หรือมีเอกราชเหนือดินแดน และอาจทำให้ประเทศไทยมีการจัดการที่รุนแรง ซึ่งจะทำให้มีคนต้องตายอีกมาก” นายมหาเธร์กล่าวให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ ในนิวยอร์ก ก่อนการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

“เราให้ความสำคัญต่อพวกที่กล้าหาญ และพวกที่มีใจภ้กดีต่อประเทศชาติ แต่จะมีประโยชน์อันใด ถ้าไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้”

มาเลเซียตกลงรับเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาสันติสุข ตั้งแต่ปี 2558 ระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มก่อความไม่สงบในชายแดนภาคใต้

การพูดคุยฯ ที่ผ่านมาหลายครั้งไม่ประสบความสำเร็จ และผู้นำกลุ่มบีอาร์เอ็น ฮาร์ดคอร์ ไม่เข้าร่วมการพูดคุยฯ และไม่สนับสนุนความพยายามในการพูดคุยฯ นี้

กลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่มีกองกำลังที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และพูดภาษามลายู มีพื้นที่ครอบคลุมใน จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และรวมถึงสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา โดยเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ทำให้มีผู้คนเสียชีวิตร่วม 7,000 ราย นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2547 เป็นต้นมา

ในการสัมภาษณ์แก่เบนาร์นิวส์ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายสุกรี ฮารี หัวหน้าชุดพูดคุยของมาราปาตานีที่มีการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับรัฐบาลไทย ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประกาศลาออก โดยมีผู้อ้างว่า เหตุเพราะปัญหาสุขภาพ เขาเป็นสมาชิกหนึ่งในสามตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่อยู่ในทีมเจรจาขององค์กรมาราปาตานี

“ข้อตกลงที่ตกลงกันที่โต๊ะเจรจา ฝ่ายไทยไม่เต็มใจที่จะลงนาม และนั่นเป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า ฝ่ายไทยแสร้งเจรจา เพื่อถ่วงเวลา” สุกรี ย้ำในการสัมภาษณ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในร้านแห่งหนึ่งทางเหนือของมาเลเซีย

นายสุกรี ไม่ใช่สมาชิกบีอาร์เอ็นเพียงคนเดียว ที่กล่าวถึงความกังขาต่อการพูดคุยฯ เพื่อสันติสุข กับทางการไทย

ในเดือนมีนาคม 2562 ในวันครบรอบ 59 ปี การก่อตั้งขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ บีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani - BRN) 13 มีนาคม 2503 บีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์ในวิดีโอคลิปกว่า 6 นาที โดยนายอับดุล คาริม คาลิบ แผนกประชาสัมพันธ์ของบีอาร์เอ็น เรียกร้องอิสรภาพในการปกครองตนเอง โดยขอความร่วมมือจากนานาชาติ

“สำหรับชาวปาตานีทุกคน ขอให้เราต่อสู้ต่อไปจนถึงที่สุด” นายอับดุล คาริม คาลิบ ออกแถลงการณ์ในวิดีโอ

ในขณะเดียวกัน นายมหาเธร์ ได้ยืนยันว่า มาเลเซียตั้งใจจะดำเนินความพยายามที่จะประสานการพูดพูดคุยเพื่อสันติสุขต่อไป ซึ่งมี นายอับดุลราฮิม นูร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก

“เราจะพยายามต่อไปที่จะโน้มน้าวคนไทยที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้หยุดการกระทำ อันทำให้เกิดความสูญเสียในชีวิตคนจำนวนมาก คนเหล่านั้นไม่มีความผิด คนเหล่านั้นไม่ได้เป็นทหาร เรื่องนี้จำเป็นต้องนำมาพิจารณา ไม่เช่นนั้น คนทั้งโลกจะพากันโกรธพวกเขา” นายมหาเธร์กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“ใช่ ถ้าเป็นไปได้ และเป็นที่ยอมรับจากทั้งสองฝ่าย ทั้งกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ และรัฐบาล(ไทย) หากพวกเขาตกลงกัน เราไม่มีข้อคัดค้านใด ๆ สำหรับผู้ที่มีความสามารถจะมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก”

“ในอีกด้านหนึ่ง อย่างที่รู้ เราทำงานในฟิลิปปินส์มาหลายปี และในที่สุดเราก็ประสบความสำเร็จ เพราะรัฐบาลนายดูเตอร์เต ตกลงใจให้มีอิสระในการปกครองตนเอง แต่ไทยไม่ยอม ประเทศไทยได้พูดมาตั้งแต่แรกแล้วว่า จะไม่มีการให้อิสระในการปกครองตนเอง และยังมองว่า การทำสงครามนั้น จะไม่ได้ส่งผลให้มีการได้ปกครองตนเอง หรือ การมีเอกราชเหนือดินแดนทั้งปวง ดังนั้น จึงควรหาวิธีที่ปลอดภัยกว่าและยอมรับความจริงที่ว่า ประเทศไทยจะไม่ให้อิสรภาพ” นายมหาเธร์ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง