แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล: ไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนค่อนข้างมากในปี 2560

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.02.22
กรุงเทพฯ
180222-TH-demonstrators-1000.jpg นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว หนึ่งในผู้ต้องหาคดีการชุมนุมเรียกร้องเลือกตั้ง ในขณะปราศรัยที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬา ในวันที่ 19 กันยายน 2560
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยในวันพฤหัสบดีนี้ ระบุว่า ประเทศไทยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห้วงปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัญหาเสรีภาพในการแสดงออก และได้เสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน รวมทั้งแก้ไขกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน

ดร.อันธิฌา แสงชัย รองประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่า เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในประเทศไทยยังคงถูกจำกัด และละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

“ปีที่ผ่านมา มีการละเมิดสิทธิค่อนข้างมาก เพราะมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ทำให้มีการควบคุมดำเนินคดี เกิดขึ้นจำนวนมากในปีที่แล้ว มีการใช้มาตรา 44 เป็นกลไกในการจับกุมดำเนินคดีกับคนที่เคลื่อนไหว หรือเห็นต่างจากรัฐ และยังมีการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร” ดร.อันธิฌากล่าว ในระหว่างการเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2560/61 ซึ่งเป็นการรวบรวมและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนใน 159 ประเทศทั่วโลกตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา

“กฎหมายว่าด้วยการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย รัฐบาลยังไม่ปฎิบัติการตามสัญญาว่าจะออกกฎหมายฉบับนี้... รัฐบาลพยายามควบคุมข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต ให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลบางส่วน ค่อนข้างจะถูกสอดแนมพอสมควร เรื่องความเป็นส่วนตัวของประชาชน” ดร.อันธิฌา กล่าวเพิ่มเติม

ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แอมเนสตี้ฯ จึงเรียกร้องรัฐบาลไทย ในโอกาสที่ได้ประกาศวาระแห่งชาติสิทธิมนุษยชนขับเคลื่อน ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ให้เร่งแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนสำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีข้อเรียกร้องโดยสรุป ดังนี้

1. การขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ให้รัฐดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นธรรม และให้ผู้ถูกสอบสวนมีสิทธิใช้ทนาย พบญาติ และรักษาพยาบาล

2. การทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย และการบังคับบุคคลให้สูญหาย ให้เดินหน้าออกกฎหมายที่ป้องกันการบังคับสูญหาย และดำเนินการสอบสวนคดีของทนายสมชาย นีละไพจิตร และบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ อย่างเป็นธรรม

3. การปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐ ให้ยกเลิกกฎหมาย และคำสั่งที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองทั้งหมด รวมถึงหยุดการปราบปรามผู้เห็นต่าง

4. นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้หยุดการใช้กฎหมายดำเนินคดีกับนักสิทธิ และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน

5. ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ให้เคารพกติกาไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัย และปฎิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลเกี่ยวกับการดูแลผู้ลี้ภัย

6. โทษประหารชีวิต ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมาย

7. กฎหมายจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น ให้ถอนข้อกล่าวหาที่มีต่อผู้เห็นต่างจากรัฐบาล และแก้ไขกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง

ด้าน น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในฐานะตัวแทนฝ่ายรัฐ ในการรับทราบปัญหาสิทธิมนุษยชนจากรายงานของแอมเนสตี้ฯ ระบุว่า รัฐพยายามสร้างกลไกต่างๆ ในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมเช่นกัน โดยมีความตั้งใจจริงที่จะขับเคลื่อนผลักดัน แก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนสำหรับคนในชาติ

“จริงๆ แล้ว รัฐบาลก็ได้มีมาตรการหลายมาตรการ เช่น ในช่วงที่เรื่อง พ.ร.บ.อุ้มหายและทรมาน ท่านนายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์กรณีอุ้มหายและทรมาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เข้ามา” น.ส.ปิติกาญจน์กล่าว

“ปัจจุบัน รัฐช่วยผู้ถูกละเมิด หรือผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาต่างๆด้วย กองทุนยุติธรรม เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ สนับสนุนการประกันตัว ทนาย และให้การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิ ขออนุญาตเรียนว่า รัฐมีกลไกที่สร้างความเป็นธรรมต่างๆ” น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่ ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความคิดเห็นต่อเบนาร์นิวส์ ถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และสภาวะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากรัฐบาลยังคงใช้กฎหมาย หรือเงื่อนไขบางอย่างปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน น่าจะทำให้เกิดภาวะความขัดแย้งที่มากขึ้นเรื่อยๆ

“ที่เขานำเสนอก็มีหลักฐานชัดเจน เป็นสิ่งที่สังคมไทยก็รับรู้อยู่ มันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจริงๆ คิดว่ารัฐบาลควรจะต้องรับฟังพิจารณาเพื่อนำไปปฎิบัติ ถ้าเราไม่ได้เปิดโอกาสให้คนในสังคมเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ในภาวะที่มีความเห็นต่างขัดแย้ง และมีปฎิสัมพันธ์กันได้ด้วยเชิงบวก ปิดโอกาสตรงนี้ เพื่อให้มันสงบเชิงผิวเผิน พอเหตุการณ์นี้ผ่านไป รัฐบาลนี้ออกไป ประเทศไทยก็จะเดินหน้าต่อไป แบบไม่เคยมีบทเรียนว่า จะอยู่ร่วมกันยังไง ในภาวะที่เห็นต่าง” ดร.วัชรฤทัยกล่าว

“รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้อย่างสร้างสรรค์ มากกว่าปิดกั้น ถ้ายังมีการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนต่อไปคิดว่า หลายๆ ภาคส่วน ไม่ว่าส่วนไหนก็ตาม คงจะพยายามแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจตรงนี้ ก็คงมีภาวะที่ขัดแย้งมากขึ้น ถ้ารัฐบาลยังยื้ออย่างนี้” ดร.วัชรฤทัยกล่าวเพิ่มเติม

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติทางเสรีภาพหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พบว่า มีผู้ถูกเรียกรายงานตัว หรือมีเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมบ้านอย่างน้อย 1,319 ราย ถูกจับกุมอย่างน้อย 597 คน ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 หมิ่นเบื้องสูง อย่างน้อย 82 คน ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น อย่างน้อย 64 คน และมีกิจกรรมเกี่ยวกับเสรีภาพถูกปิดกั้น-แทรกแซง อย่างน้อย 152 ครั้ง ซึ่งสถิตินี้เป็นการรวบรวมถึงวันที่ 30 กันยายน 2560

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง