รมต.กลาโหมอาเซียนร่วมมือสู่สันติภาพ เสถียรภาพในทะเลจีนใต้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.07.11
กรุงเทพฯ
190711-TH-ASEAN-defense-800.jpg พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ซ้าย) ส่งมอบปฏิญญาที่รัฐมนตรีกลาโหมของอาเซียนสิบประเทศลงนามแล้ว ให้กับดาโต๊ะ ลิมจ๊กฮอย เลขาธิการ สมาคมอาเซียน วันที่ 11 กรกฎาคม 2562
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ปรับปรุงข้อมูล เวลา 07:00 pm EST 2019-07-11

ในวันพฤหัสบดีนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจากประเทศอาเซียน ได้ร่วมลงนามในปฏิญญา เพื่อความมุ่งมั่นที่จะสร้างทะเลแห่งสันติภาพ ที่ทวีความตึงเครียดในพื้นที่พิพาท เรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ของประเทศสมาชิกอย่างไต้หวัน และ จีน ที่ได้แผ่แสนยานุภาพทางการทหารขึ้น

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน แถลงว่า ที่ประชุมฯ ได้ร่วมลงนามในปฏิญญาร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน 10 ประเทศ ที่รวมถึงข้อตกลงความร่วมมือในแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ที่มีการปรับปรุงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก

"การลงนามในปฏิญญาร่วมนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในความมุ่งมั่น ที่จะส่งเสริมความร่วมมือ ด้านความมั่นคงของอาเซียน ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการเป็นประชาคมที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค รวมทั้ง มีขีดความสามารถตอบสนองต่อความท้าทายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยังรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนไว้" พล.อ.ประวิตร กล่าว

"ยืนยันถึงความสำคัญ และการรักษา ส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความปลอดภัย และเสรีภาพในการเดินเรือบินผ่านทางทะเลจีนใต้" พล.อ.ประวิตร กล่าวในการแถลงข่าว

คำแถลงนี้เน้นถึงความมุ่งมั่นของ "ทุกฝ่ายในการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และเกิดสันติภาพ เพื่อให้ทะเลจีนใต้กลายเป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง เต็มตามระยะเวลาที่ตกลงร่วมกัน ในปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ปี 2002"

โดยไม่ได้แจกแจงรายละเอียดว่าจะบรรลุเป้าหมายนี้ และเป้าหมายอื่น ๆ อย่างไร หาก พลเอกประวิตร ประกาศว่า รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้ว

"ขณะเดียวกันยังเห็นพ้องในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ การใช้ความยับยั้งชั่งใจ ต่อการหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจก่อให้เกิดสถานการณ์ซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการดำเนินการระงับข้อพิพาทด้วยสันติวิธีตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยให้อนุสัญญากับสหประชาชาติด้วยกฎหมายทางทะเล" พลเอก ประวิตร กล่าวแถลงต่อ

ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้

เมื่อเดือนที่แล้ว เกิดความตึงเครียดขึ้นระหว่างกรุงมะนิลาและปักกิ่ง หลังจากเรืออวนลากของจีน ถูกกล่าวว่าได้พุ่งชน จนเรือประมงของฟิลิปปินส์ล่ม ขณะออกจากอ่าวเรคโต และปล่อยให้ชาวประมงฟิลิปปินส์ 22 คน ติดอยู่กลางทะเล การจมเรือของฟิลิปปินส์ครั้งนี้ได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่ฟิลิปปินส์ ดังนั้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ได้เสนอขอทำการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวร่วมกับจีน

จีนอ้างว่า ทะเลจีนใต้ส่วนใหญ่เป็นของตนเอง รวมถึงน่านน้ำในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ อีกทั้งการปลูกสร้างแสนยานุภาพเพื่อการทหารบนเกาะต่างๆ และยังทำการทดสอบขีปนาวุธ เมื่อต้นเดือนนี้อีก

สหรัฐอเมริการ่วมกับฟิลิปปินส์ และประเทศอื่น ๆ ในเดือนมิถุนายน ออกคำเตือนต่อความพยายามของจีนในการขยายอาณาเขตของตน นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ประกาศว่า วอชิงตันจะส่งโดรนเพื่อใช้ในการเฝ้าระวังในทะเลจีนใต้มาให้ สมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ อันได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม

ประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม พร้อมด้วยสมาชิกอาเซียน บรูไน และไต้หวัน ที่ไม่ใช่สมาชิก ต่างก็มีสิทธิ์ในส่วนของตนเองในทะเลจีนใต้

ส่วน สมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ที่เหลือ คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว พม่า และสิงคโปร์

“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างสรรค์ เพื่อปรับเปลี่ยนทะเลจีนใต้ให้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียร และการพัฒนาที่ยั่งยืน” พล.อ.ประวิตร กล่าวเพิ่มเติม

พล.อ.ประวิตร ได้ระบุว่า ในที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันในการที่จะร่วมกันสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในภูมิภาค ตามที่ไทยได้ชูประเด็น ความมั่นคงที่ยั่งยืน มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ ในหลากหลายด้าน หลายมิติ และได้มีการทบทวนประเด็น กิจกรรมที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ เพื่อปรับปรุงให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคและของโลก ได้มีการรับรองเอกสารความร่วมมือดังนี้

1. การประเมินผลการปฏิบัติของความคิดริเริ่มในกรอบ ADMM 2. บทบาทของฝ่ายทหารอาเซียนในการสนับสนุนการบริหารจัดการชายแดน 3. การขยายโครงสร้างการสื่อสารโดยตรงของประเทศสมาชิกอาเซียนไปยังประเทศคู่เจรจา 4. ขอบเขตการปฏิบัติงานโครงการ ASEAN Our Eyes 5. การจัดตั้งกลไกการประชุมแพทย์ทหารอาเซียน และ 6.แนวทางปฏิบัติในการปฏิสัมพันธ์ทางทะเล

ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 13 (13th ASEAN Defence Ministers’ Meeting: ADMM)

โดยการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ปี 2562 จัดขึ้นที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยมีรัฐมนตรีกลาโหมของประเทศสมาชิก 10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียนร่วมประชุม มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ผ่านกลไกการหารือ และความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างโปร่งใสและเปิดเผย รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่น และสนับสนุนความไว้วางใจระหว่างกัน

การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านความมั่นคงจากกลาโหมของประเทศนอกภูมิภาค มีหลักเกณฑ์สาหรับประเทศที่จะเข้าร่วมประชุม แต่ที่ไม่ใช่ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1. ต้องเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ซึ่งปัจจุบัน คือ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลี รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรป 2. ประเทศคู่เจรจาต้องมีระดับการปฏิสัมพันธ์กับกลาโหมอาเซียนในระดังสูง และ 3. ประเทศคู่เจรจาต้องเป็นประเทศที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถ และพัฒนาศักยภาพของกลาโหมอาเซียนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน พลตรี ทิฆัมพร ชุลีลัง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ได้กล่าวแก่สถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ว่า รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ยังได้ดำเนินการเชื่อมโยงสายฮอตไลน์ เพื่อให้รัฐมนตรีของทั้งสิบประเทศสามารถสื่อได้โดยตรงในยามฉุกเฉินกับประเทศคู่เจรจา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง