โครงสร้างก่อนวางรางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสายไหม 3.5 ก.ม.แรก เสร็จแล้ว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.09.23
กรุงเทพฯ
200923-TH-CH-belt-road-800.jpg โครงการสร้างโครงสร้างพื้นที่ฐานเพื่อรองรับรางรถไฟฟ้าความเร็วสูงในช่วง 3.5 กิโลเมตรแรก ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมทางหลวงเสร็จเรียบร้อยแล้ว วันที่ 23 กันยายน 2563
กรมทางหลวง

ในวันพุธนี้ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การก่อสร้างโครงสร้างก่อนวางรางเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทย กรุงเทพฯ-หนองคาย ช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถส่งมอบงานให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการต่อได้ภายในเดือนกันยายน 2563

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของ กรมทางหลวง ระบุว่า กระบวนการก่อสร้างใช้เวลามาก เนื่องจากเป็นการเรียนรู้งานก่อสร้างจากประเทศจีน ควบคู่ไปกับการก่อสร้างจริง

“ปัจจุบัน กรมทางหลวงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะส่งมอบงานให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ภายในเดือนกันยายน 2563 โดยโครงการนี้จะถือเป็นต้นแบบในการดำเนินงานในช่วงต่อไปของโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการทำงาน คุณภาพของวัสดุ ทำให้สามารถใช้วัสดุภายในประเทศให้มากที่สุด ซึ่งกรมทางหลวงได้ปรับปรุงคุณภาพวัสดุ เช่น คอนกรีต เหล็กเส้น และงานชั้นวัสดุ Top Layer ให้มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานรถไฟความเร็วสูง” นายอภิรัฐ ระบุ

“สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้น 2 ปี 6 เดือน ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องใช้กระบวนการทำงานของกรมทางหลวงเอง มาประยุกต์ให้เข้ากับกระบวนการทำงานของรถไฟความเร็วสูง โดยผู้ควบคุมงานจากประเทศจีน ได้ทำงานควบคู่กับการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อให้สามารถใช้วัสดุภายในประเทศให้ได้มากที่สุดและที่ผ่านมาได้นำเข้าวัสดุจากประเทศจีน 2 รายการ ได้แก่ ผ้าใบกันความชื้น และสายดิน คิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าก่อสร้างรวมทั้งหมด” นายอภิรัฐ เปิดเผย

นายอภิรัฐ ยังได้ระบุว่า ระหว่างการก่อสร้าง กรมทางหลวงได้จัดทำคู่มือการก่อสร้างคันทางรถไฟความเร็วสูง ตามประสบการณ์การทำงานกับผู้ควบคุมจากประเทศจีน เพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจหรือผู้รับจ้างอื่น ๆ ต่อไป โดยโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก กม.150+500 - 154+000 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร เป็นไปตามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมทางหลวง กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างหลัก 5 งาน ได้แก่ งานย้ายรางรถไฟเดิม งานดินตัดและงานถมวัสดุในหน้าตัดคันทางรถไฟความเร็วสูง งานชั้นวัสดุ Top Layer หรืองานบดอัดวัสดุก่อนงานวางรางและหินโรยทาง งานคอนกรีตประกอบคันทางรถไฟความเร็วสูง และงานถนนบริการขนานกับคันทางรถไฟความเร็วสูง ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยเปิดเผยเมื่อปี 2560 ในการเริ่มก่อสร้าง โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนว่า โครงการดังกล่าวช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงินลงทุน 179,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 ช่วง โดยระยะช่วงแรกจากกลางดง-ปางอโศก 3.5 กิโลเมตร ช่วงที่สองจากปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กิโลเมตร ช่วงที่สาม จากแก่งคอย-โคราช 138.5 กิโลเมตร และช่วงสุดท้าย กรุงเทพฯ-แก่งคอย 133 กิโลเมตร ให้บริการ 6 สถานี ประกอบด้วย บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี ปากช่อง นครราชสีมา ระยะแรกจะมีรถไฟให้บริการจำนวน 6 ขบวน บรรจุผู้โดยสารได้ 600 คนต่อขบวน หรือ 5,300 คนต่อวัน วิ่งโดยใช้ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 17 นาที อัตราค่าโดยสารเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 80 บาท +1.8 บาทต่อกิโลเมตร หรือ 535 บาทต่อคน ในเส้นทาง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2566

ปัจจุบัน ช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ก่อสร้างโดยกรมทางหลวงเสร็จสิ้นแล้ว รอการส่งมอบ ช่วงที่ 2 สีคิ้ว-กุดจิก 11 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ขณะที่ 12 ช่วงที่เหลือมีการประมูลเแล้ว อยู่ระหว่างการรอเซ็นสัญญาก่อสร้างจริง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง