นายกฯ ยินดีจีนเสนอแลกเปลี่ยนข้อมูลแม่น้ำโขงทั้งปี

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.08.24
กรุงเทพฯ
200824-TH-CH-Mekong-river-1000.jpg ชาวประมงใกล้ริมฝั่งแม่น้ำโขง นอกจังหวัดเลย วันที่ 10 มกราคม 2563
รอยเตอร์

ในวันจันทร์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รู้สึกยินดีที่รัฐบาลจีนเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลแม่น้ำโขงตลอดทั้งปี หลังจากที่ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ระบุว่า จีนจะแบ่งปันข้อมูลแม่น้ำโขงให้กับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอื่น ๆ ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ชี้ ข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขงตลอดปีจากจีน เป็นสิ่งที่ไทยต้องการมาโดยตลอด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งมีผู้นำจากลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และจีนเข้าร่วม ระบุว่า ไทยพร้อมจะให้ความร่วมมือการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งจีนเป็นผู้ริเริ่ม

“ประเทศไทยยินดีที่จีนเสนอการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งปี ร่วมกันอย่างเป็นระบบ และประเทศสมาชิกกำลังพิจารณาการจัดตั้งกลไกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน ซึ่งไทยสนับสนุนข้อริเริ่มของจีน และประสงค์ให้มีการติดตามประเมินผล ด้านการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อนำไปสู่การขยายความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ ต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณแม่น้ำโขงทุกประเทศอย่างเพียงพอ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“การบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่การจัดตั้งความร่วมมือ เอ็มแอลซี ความร่วมมือนั้นมีการพัฒนาการอย่างรุดหน้าและต่อเนื่อง จากถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีหลี่ สะท้อนความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของฝ่ายจีนที่จะยกระดับให้เป็นรูปธรรม และจะร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนกับลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งในเดือนมิถุนายน เป็นโอกาสครบรอบ 45 ปี ความร่วมมือไทยจีน ผมได้มีโอกาสสนทนากับท่านประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ทางโทรศัพท์และมีความเห็นพ้องต้องกันว่า เราจะทำให้แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแห่งมิตรภาพ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวในการประชุมเดียวกันระบุว่า จีนยินดีที่จะช่วยเหลือทุกประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพราะถือว่าเป็นการใช้แม่น้ำโขงร่วมกันนั้นเป็นโชคชะตาเดียวกัน

“ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จีนจะแบ่งปันข้อมูลด้านอุทกวิทยาประจำปีของแม่น้ำล้านช้างให้กับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง พร้อมทั้งสร้างแพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูลความร่วมมือ ด้านทรัพยากรน้ำของแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติจากอุทกภัยและภัยแล้ง… นับตั้งแต่ก่อตั้งกลไกมากว่า 4 ปี ทุกฝ่ายต่างผลักดันให้ความร่วมมือทางทรัพยากรน้ำนี้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว” นายหลี่ กล่าว

“เราควรเคารพสิทธิ และผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของทุกชาติ ในการพัฒนาและใช้ทรัพยากรน้ำอย่างสมเหตุสมผล ดูแลผลประโยชน์และข้อกังวลของกันและกัน และร่วมปรึกษาหารือในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จีนยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ทุกประเทศ ในการบริหารทรัพยากรน้ำให้ดียิ่งขึ้นตามความสามารถของจีน น้ำไม่เพียงแต่จะเป็นสาระสำคัญของความร่วมมือ หากแต่ยังช่วยเสริมความหมายทางจิตวิญญาณให้แก่กลไกความร่วมมือนี้ เพื่อมุ่งมั่นสรรหาหนทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร และต่างฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน” นายหลี่ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ นายหลี่ ยังได้เปิดเผยว่า ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้าง จะมีการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีและเวทีความร่วมมือว่าด้วยทรัพยากรน้ำเป็นประจำ ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ปี 2018-2022 ดำเนินโครงการความร่วมมือต่าง ๆ เช่น ความปลอดภัยของเขื่อน และการเตือนภัยน้ำท่วม ตลอดจนปรับปรุงการบริหารจัดการที่ครอบคลุม และความสามารถในการจัดการทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำ

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ไทยและประเทศลุ่มแม่น้ำโขงมีความต้องการข้อมูลทรัพยากรน้ำจากจีนมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จีนจะดำเนินการนั้นมีรูปแบบอย่างไร

“เจตนารมณ์ของเรา เราต้องการให้เขาแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งปีอยู่แล้ว แต่ปัจจุบัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเฉพาะหน้าฝน เข้าใจว่า เพื่อป้องกัน หรือลดผลกระทบจากน้ำท่วม เพราะในช่วงหน้าฝน น้ำขึ้นน้ำลงหวือหวามาก (พฤษภาคม-ตุลาคม) แต่สำหรับข้อตกลงแลกเปลี่ยนทั้งปี เรายังไม่มีข้อมูล และยังไม่แน่ใจว่า เขาจะแลกเปลี่ยนอย่างไร และจะเริ่มเมื่อใด ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้พยายามเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนทั้งปีอยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ ก็จะทำให้เราสามารถบริหารจัดการน้ำได้ดีขึ้น” นายสมเกียรติ กล่าว

แม่น้ำโขงกับเขื่อนจีน

ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา เขื่อนจิงฮง ในประเทศจีน ได้ทดสอบระบบ และลดปริมาณการปล่อยน้ำจาก 1,200-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือเพียง 500-800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามการเปิดเผยของกรมทรัพยากรน้ำของไทย ซึ่งทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงช่วงประเทศไทย-ลาว เข้าสู่ภาวะวิกฤต

จึงทำให้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 รัฐบาลไทยเปิดเผยว่า นายดอน ปรมัตวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปเยือนประเทศจีน เพื่อพูดคุยกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ขอให้จีนปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนมาเพิ่ม เพื่อลดความแห้งแล้งในแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งจีนระบุว่า จะปล่อยน้ำมาเพิ่ม 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้จากปกติที่ปล่อยน้ำอยู่แล้ว 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ล่าสุด นายสมเกียรติ ระบุว่า ในฤดูฝน เขื่อนจิงฮงปล่อยน้ำ 1,300-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อย่างไรก็ตาม ฝ่ายประชาชนริมแม่น้ำโขง และเอ็นจีโอ มองว่า การปล่อยน้ำเพิ่มของจีนดังกล่าว ไม่ได้แก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ เคยกล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน แม่น้ำโขงมีความผิดปกติ สิ่งที่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงขาด คือ ความร่วมมือเพื่อทำให้แม่น้ำโขงตอบสนองความต้องการของประชาชนริมน้ำ

“ข้อค้นพบของรายงาน ที่ว่าเขื่อนจีนกักเก็บน้ำไว้มากเกินไป ประชาชนริมโขง ประจักษ์ด้วยสายตาตัวเองมาตลอด 20 ปีอยู่แล้ว ประเด็นสำคัญของมันก็คือ น้ำผิดธรรมชาติ ผันผวน ขึ้นแล้วลง ลงแล้วขึ้น น้ำท่วมในหน้าแล้ง น้ำแล้งในหน้าฝน แล้งมากกว่าธรรมชาติ กลับเพิ่มขึ้นในช่วงที่จะแล้ง... สิ่งที่ขาดตอนนี้ไม่ใช่ข้อมูลเชิงเทคนิค แต่เป็นความอยากร่วมมือในทางการเมืองของแม่น้ำโขงว่า จะจัดการแม่น้ำโขงยังไงให้ตอบสนองประชาชนริมโขง” น.ส.เพียรพร กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 นายอลัน บาสิสท์ ประธานบริษัท อายส์ ออน เอิร์ธ อิงค์ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนสร้างเขื่อน 11 แห่ง บนแม่น้ำโขงตอนบน และก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายถึงผลเสียที่จะเกิดกับประเทศท้ายน้ำ แต่ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนของจีน กลับไม่ถูกเผยแพร่เท่าที่ควร

“พวกเขา (จีน) ไม่ได้ก่อให้เกิดความแห้งแล้งโดยตรง แต่พวกเขาทำให้มันรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก… น้ำโขงที่ไหลผ่านระหว่างลาวและไทยนั้น มีระดับน้ำโขงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึง 3 เมตร หรือมากกว่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีน ไม่ได้ปล่อยน้ำจำนวนมากให้ลงมาตั้งแต่ในช่วงฤดูฝนแล้ว และยิ่งปล่อยน้ำน้อยลงในช่วงต่อมา ทำให้ความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงในประเทศท้ายน้ำรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก” นายอลัน กล่าว

ทั้งนี้ อายส์ ออน เอิร์ธ ซึ่งใช้ข้อมูลดาวเทียมในช่วง 28 ปี เพื่อคำนวณหาว่า จีนกักน้ำไว้ในเขื่อนทั้งหลายเท่าไรกันแน่ โดยข้อมูลบอกว่าเขื่อนจีนทั้ง 11 นี้กักน้ำจำนวนมหาศาล มีความจุน้ำรวมกันถึง 47,000 ล้าน ลูกบาศก์เมตร

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง