อนุกรรมาธิการฯ เห็นชอบกองทัพเรือ ซื้อเรือดำน้ำจีนเพิ่มอีก 2 ลำ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.08.21
กรุงเทพฯ
200821-TH-CH-ship-building-1000.jpg บริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นำแบบจำลองเรือบรรทุกเครื่องบินและยุทโธปกรณ์อื่น ๆ มาแสดงในงาน Defense and Security 2017 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์นี้ คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้มีมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ ในการอนุมัติโครงการที่กองเรือเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำ จากประเทศจีน อีก 2 ลำ เป็นมูลค่า 22.5 หมื่นล้านบาท ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ตกต่ำเพราะการระบาดของโรคโควิด-19

นายยุทธพงศ์ จรัสเสฐียร ส.ส. พรรคเพื่อไทย จังหวัดมหาสารคราม ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้แถลงให้ผู้สื่อข่าวทราบถึงผลการประชุมในวันนี้ โดยให้รายละเอียดว่า อนุกรรมาธิการฯ มีมติเห็นชอบต่อแผนการซื้อเรือดำน้ำ S-26T จากประเทศจีนอย่างเฉียดฉิว ด้วยคะแนนเสียง 5-4 คะแนน ซึ่งนายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ตนโหวตค้านเพราะว่าประเทศกำลังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ และสามารถเลื่อนการจัดซื้อได้

ในเรื่องนี้ พลเรือโท ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า ทางกองทัพเรือจะได้ดำเนินการเรื่องสัญญาจัดสร้างตามงบประมาณปีต่อปีต่อไป

“กองทัพเรือทำในสิ่งที่รัฐบาลอนุมัติไปก่อนหน้าแล้ว เราไม่ได้ฝืน หรือพยายามอะไร มันก็เป็นไปตามกระบวนการ ถ้ารัฐบาลสั่งจะซื้อกี่ลำก็สั่งไป แล้วขั้นตอนต่อไปก็ทำสัญญาจัดสร้างตามงบประมาณปีต่อปี ซึ่งก็จะใช้เวลาแต่ละลำ 5-6 ปี” พล.ร.ท.ประชาชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“กองทัพเรือเป็นหน่วยงานของรัฐบาล ก็ทำงานตามที่รัฐบาลเห็นชอบให้ทำ ตั้งแต่เราเริ่มโครงการ ก็มาจากความจำเป็นของยุทธศาสตร์ชาติว่า ต้องการความมั่นคงทางทะเล ซึ่งรัฐบาลก็เห็นด้วย รัฐสภาก็ผ่านงบตั้งแต่ปี 2563 มันก็เดินไปเรื่อย เจอโควิด ปีนี้ไม่มีเงิน กองทัพเรือทำก็ตามรัฐบาล คือ คืนเงินไป แต่ตัวโครงการอนุมัติมาแล้ว” พล.ร.ท.ประชาชาติ กล่าวถึงการคืนเงินงบประมาณปี 2563 ส่วนที่กองทัพเรือส่งคืนให้กรมบัญชีกลางตามคำสั่งรัฐบาล

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า ชั้นหยวน แบบ S-26T ซึ่งปรับปรุงมาจากเรือดำน้ำชั้นหยวน (Yuan Class หรือ Type 039B) จากบริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd.) จำนวน 1 ลำ เรียบร้อยแล้ว

โดยพลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำขณะนั้น ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ทางกองทัพเรือ มีความต้องการจัดหาเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า แบบ S-26T รวมสามลำ คิดเป็นมูลค่า 36,000 ล้านบาท โดยลำแรกใช้เงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท ได้รับอนุมัติจากที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 เป็นข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล ได้ลงนาม ณ อาคารรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ่ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และได้มีการวางกระดูกงูเรือดำน้ำลำแรกไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2561

ในวันนี้พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับมติของอนุกรรมาธิการฯ โดยระบุว่า การที่ทางกองทัพเรืออ้างว่า ไม่สามารถเลื่อนการจัดซื้อได้ เนื่องจากเป็นการจัดซื้อแบบ G2G คือ การซื้อแบบรัฐต่อรัฐ จะทำให้เกิดความเสียหายในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศจีนนั้น ข้ออ้างดังกล่าวนี้ไม่ได้ปรากฏในสัญญา “Agreement for construction of S26T submarine between government of Thailand and government of China” แต่อย่างใด

ราชนาวีไทย เคยมีเรือดำน้ำที่ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นประจำการ 2 ลำ ตั้งแต่ พ.ศ. 2480 และได้รับล็อตที่สองอีก 2 ลำ ใน พ.ศ. 2482 แล้วได้ปลดประจำการไป จากนั้น ได้มีการริเริ่มโครงการจัดซื้อซื้อเรือดำน้ำอีกครั้ง ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2538 โดยราชนาวีได้พิจารณาเรือดำน้ำมือสอง จากประเทศเยอรมนี หรือเรือดำน้ำใหม่ จากประเทศสวีเดน แต่ไม่ผ่านอนุมัติรัฐสภา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง