เลขา ป.ป.ส. เตือนขี้ยาเลิกมั่วสุมเสพยา ช่วยลดการแพร่โควิด-19

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.04.09
กรุงเทพฯ
200409-TH-COVID-alcohol-ban-1000.JPG ประชาชนเข้าแถวในร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังจากกรุงเทพฯและบางจังหวัด ประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 10 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ในช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 ในกรุงเทพฯ วันที่ 9 เมษายน 2563
รอยเตอร์

ในวันพฤหัสบดีนี้ นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส) ได้เตือนให้ประชาชนที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม งดพฤติกรรมการมั่วสุมใช้ยาเสพติดที่ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคติดต่อโควิดได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะออกฏิบัติการจับกุมโดยไม่ลดละ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคก็ตาม

ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศห้ามร้านค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระหว่างวันที่ 10-20 เมษายน 2563 เพื่อลดการสังสรรค์ ในช่วงคาบเกี่ยวเทศกาลสงกรานต์ ต้นสัปดาห์หน้า

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงาน ป.ป.ส. พบว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีพลเมืองดีแจ้งเบาะแสการมั่วสุมให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจเข้าดำเนินการรวม 14 ครั้ง

“ส่วนใหญ่รวมตัวกันในบ้านพักและอาคารพาณิชย์ ยาเสพติดที่พบส่วนใหญ่เป็นยาบ้าและไอซ์ บางแห่งพบทั้งยาบ้า ยาอี เคตามีน และกัญชา และเกือบทุกแห่ง พบมีการดื่มสุราร่วมด้วย การมั่วสุมเสพยาเสพติดในช่วงนี้ นอกจากฤทธิ์ของยาเสพติดจะทำลายสมองและร่างกาย เป็นสิ่งที่ผิดทั้งกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ยังเสี่ยงต่อการติดและแพร่เชื้อโควิด-19 จากการอยู่ใกล้ชิดกันหรือใช้อุปกรณ์การเสพร่วมกัน” นายนิยม กล่าว

“การมั่วสุมเสพยาเสพติด หากมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งในกลุ่ม มีเชื้อโรคในร่างกายแล้ว การใช้อุปกรณ์การเสพ ไม่ว่าจะเป็นการสูบหรือฉีดร่วมกัน จะนำไปสู่การแพร่เชื้อสู่กัน และการอยู่ภายในห้องเดียวกันใกล้ชิดกัน จะทำให้มีการแพร่เชื้อโควิด-19 สู่กันอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงขอให้หยุดพฤติกรรมการรวมกลุ่มกันเสพยาเสพติด และผู้ที่ยังหยุดหรือเลิกยาเสพติดไม่ได้ ขอให้แสดงตัวเข้าขอรับการบำบัดรักษาด่วน โดยจะไม่ถือเป็นความผิด” นายนิยม กล่าวเพิ่มเติม

“และแม้จะเป็นช่วงที่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด แต่หน่วยงานรับผิดชอบทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และสำนักงาน ป.ป.ส. ขอยืนยันว่าจะยังดำเนินการปราบปรามและป้องกันยาเสพติด โดยเฉพาะการมั่วสุมยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการก่ออาชญากรรม และลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว”

ทั้งนี้้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้เปิดเผยข้อมูลว่า นับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 ที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวให้ประชาชนห้ามออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. เจ้าหน้าที่ตรวจพบผู้ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว 1,204 ราย มีการตรวจค้น 28,894 คน และรถ 22,102 คัน โดยในรายที่กระทำผิด เป็นการออกนอกเคหสถานโดยไม่มีเหตุสมควร 1,221 ราย และรวมกลุ่มมั่วสุมในเคหสถานเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ 114 ราย

ในวันเดียวกัน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ จะมีคำสั่งให้ ร้านค้าห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระหว่างวันที่ 10-20 เมษายน 2563 เพื่อหลีกเลี่ยงการสังสรรค์ที่อาจนำไปสู่การแพร่เชื้อโควิด-19 ได้

“ที่อันตรายก็คือ การที่จะมีการรวมตัวของคนโดยเฉพาะการที่จะเลี้ยงฉลอง สังสรรค์โดยเฉพาะการซื้อสุรา คณะกรรมการโรคติดต่อก็มีการพิจารณาเรื่องนี้ และประกอบกับสถานการณ์ตอนนี้ ซึ่งดีขึ้นทุกวัน เราไม่อยากให้เกิดซุปเปอร์สเปรดเดอร์ในช่วงสงกรานต์ เราต้องไปนับหนึ่งใหม่หมด คณะกรรมการโรคติดต่อจึงจะมีการออกคำสั่งในวันนี้ให้มีการงดขายสุรา” ร.ต.อ.พงศกร กล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มี 10 จังหวัดที่ได้ประกาศห้ามขายสุราไปแล้ว นั่นคือ สกลนคร 31 มี.ค.-16 เม.ย. เชียงใหม่ 10-20 เม.ย. ระยอง 3-15 เม.ย. บุรีรัมย์ 2-30 เม.ย. มุกดาหาร 6-30 เม.ย. สุพรรณบุรี 4-30 เม.ย. นครปฐม 2-30 เม.ย. ลำพูน 1-30 เม.ย. ชลบุรี ตั้งแต่ 6 โมงเย็น ถึง 6 โมงเช้า สุรินทร์ 2-30 เม.ย.

ทั้งนี้ ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดครั้งสำคัญของประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งไปสังสรรค์ในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ กรุงเทพฯ

ไทยพบผู้ป่วยเพิ่ม 54 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยในวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2563 ในการแถลงข่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยเพิ่มโควิด-19 และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกในวันนี้

“54 ราย รายใหม่ รวมสะสม 2,423 รายแล้วก็หายป่วยไป 940 ราย ตอนนี้ครอบคลุมทั้งหมดที่มีรายงานมาคือ 67 จังหวัด เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 ราย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวในการแถลงข่าว

“49 ราย เป็นผู้ที่มีประวัติเสี่ยงสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายเก่า 22 ราย เกี่ยวข้องกับกลุ่มอื่นๆ 21 ราย ในนั้นเป็นบุคลาการทางการแพทย์ 4 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 6 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ ประเทศอินโดนิเซีย และเข้ารับการกักตัวโดยรัฐ 5 ราย จากจังหวัดปัตตานีทั้งหมด” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ

นพ.ทวีศิลป์ ยังได้เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 80 ราย

“บุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่มกราคมถึง 8 เมษายน 2563 มีบุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อไป 80 ราย ซึ่งถือเป็น 3.4 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมด ติดเชื้อจากโรงพยาบาลเอง 50 ราย (62.5 เปอร์เซ็นต์) เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน แผนกฉุกเฉิน ทันตกรรม ติดเชื้อในชุมชน 18 ราย (22.5เปอร์เซ็นต์) และอยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 12 ราย (15 เปอร์เซ็นต์)”

“เป็นพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล 36 คน (45 เปอร์เซ็นต์) แพทย์ 16 คน (20 เปอร์เซ็นต์) พอติดเสร็จพวกเขาต้องหยุดการทำงาน ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อที่จะดูอาการ คนอยู่ข้าง ๆ ก็โดนกักตัวไปด้วย ประเด็นคือ ถ้าคุณหมอออกตรวจ แล้วถ้าท่านมีไข้ มีอะไรมา ท่านต้องบอก ถ้าท่านมีไข้ทั้งหลาย อย่าไปคลีนิกปกติ ให้ไปคลีนิกที่จะตรวจทางทางเดินหายใจให้กับท่านที่แยกออกมา” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ

ขณะที่ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโควิด-19 รวม 1,506,936 คน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 184 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 90,057 คน รักษาหายแล้ว 340,630 คน ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษ เป็นต้น

ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุดในสี่อันดับต้น คือ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี เยอรมัน ตามลำดับ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นโรคระบาดใหญ่ หรือ Pandemic แล้ว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง