แรงงานไทยในมาเลเซียนับหมื่นคน ยังติดปัญหาลงทะเบียนขอกลับบ้าน

มารียัม อัฮหมัด และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.04.29
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
200429-TH-COVID-workers-border-1000.jpg ทหารในสังกัดกองพลทหารราบที่ 5 รับแรงงานคนไทยที่เดินทางกลับมาจากมาเลเซียเข้าทางชุมชนหัวสะพาน เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส วันที่ 24 เมษายน 2563
มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ เจ้าหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายงานว่า มีแรงงานไทยที่ไปหางานทำในมาเลเซียเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากมาเลเซียผ่อนปรนให้เดินทางกลับ เมื่อสิบวันก่อนแล้ว เป็นจำนวนกว่า 4 พันคน ในขณะที่คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือคนในมาเลเซีย ประเมินว่ายังมีแรงงานตกค้างอยู่ราว 1-2 หมื่นคน โดยต้องตกงานเพราะการระบาดของโควิด

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่และนักวิชาการไทยในมาเลเซีย ประเมินว่ามีชาวไทยทำงานในมาเลเซียราว 1 แสนคน แต่ประมาณ 6 ถึง 7 หมื่นคน ได้เดินทางกลับมาก่อนการปิดด่านเมื่อวันที่ 18 มีนาคม

จากนั้นเมื่อมาเลเซียได้ผ่อนปรนเปิดด่าน เมื่อวันที่ 18 เมษายน นับมาถึงวันที่ 28 เมษายน 2563 นี้ มีคนไทยกลับมายังประเทศไทยแล้ว จำนวน 4,030 คน โดยได้ลงทะเบียนทั้งหมด 3,700 คน ที่เข้าประเทศตามด่านต่างๆ อย่างถูกต้องจำนวน 2,860 คน และเข้าทางช่องทางธรรมชาติจำนวน 1,170 คน ในจำนวนดังกล่าว เป็นคนปัตตานี 1,124 คน ยะลา 286 คน นราธิวาส 623 คน สงขลา 204 คน และสตูล 490 คน จากจังหวัดภาคใต้ตอนบน 189 คน และจากจังหวัดอื่น ๆ จำนวน 1,114 คน ในจำนวนดังกล่าวพบมีไข้จำนวน 122 คน

อย่างไรก็ตาม นายตูแวดานียา มือรีงิง ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือคนในมาเลเซีย กล่าวว่า ยังมีแรงงานชาวไทยตกค้างอยู่ในมาเลเซียประมาณ 10,000-20,000 คน และส่วนหนึ่งประสบปัญหาไม่สามารถลงทะเบียนขอกลับบ้านกับทางการไทย เพราะปัญหาบางประการ เช่น การขอหนังสือรับรองสุขภาพ ในขณะที่ทางการมาเลเซียห้ามคนออกนอกบ้าน และเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทางคณะกรรมการฯ ได้จัดตั้งทีม Call Center เป็นอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาในมาเลเซียคอยให้ความช่วยเหลือ

“บางเคสทีมงานหลักที่อยู่ที่เคแอลต้องประสานกับ ท่านทูตณรงค์ ศศิธร โดยตรง เพื่อขอความช่วยให้ได้กลับบ้านให้เร็วที่สุด เนื่องจากมีปัจจัยและเหตุผลที่สมควร เช่น กรณีหญิงชาวจังหวัดนราธิวาสรายหนึ่ง ที่เพิ่งได้เดินทางกลับ เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา โดยหญิงดังกล่าวอยู่ที่อำเภอ Jerteh Treangganu เป็นอำเภอสีแดงและไม่มีคลินิกในพื้นที่ใกล้เคียง นางตัดสินใจที่จะไปหาซื้อใบรับรองแพทย์ที่ตรังกานู ซึ่งระยะห่างกับที่อาศัยเกือบ 80 กิโลเมตร โดยเธอไปหาตำรวจเพื่อขอใบอนุญาตเดินทางไปตรังกานู แต่ตำรวจไม่อนุญาต” นายตูแวดานียา กล่าว

นางนีซะห์ ลือมาน๊ะ อายุ 31 ปี เป็นชาวปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งตั้งท้องได้แปดเดือน ขณะที่ทำงานในร้านต้มยำกุ้งแห่งหนึ่ง เป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากทีมงานคณะกรรมการฯ

“ต้องขอบคุณกงสุลใหญ่เมืองปีนังมาก ได้จัดการเช่ารถให้มาส่งที่ด่านเบตงอย่างปลอดภัย ขอขอบคุณพี่ ๆ ที่ได้ช่วยเหลือมาตลอด ฉันกลัวมากถ้าต้องคลอดที่มาเลเซีย เพราะมีแต่ความยากลำบากทุกด้าน ขอบคุณเจ้าหน้าที่ ตม.ทั้งไทย และมาเลเซีย ที่อำนวยความสะดวกทุกอย่าง” นางนีซะห์ กล่าว

ไทยยังไม่พร้อมรับนักท่องเที่ยวจีน

ในวันพุธนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า ปัจจุบัน ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ตามที่มีรายงานข่าวว่าสายการบินจีนขออนุญาตเดินอากาศมายังประเทศไทย ขณะที่วันนี้ พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เพิ่ม 9 ราย โดยไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมเป็น 2,947 ราย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวแก่สื่อมวลชน ขณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์กักกันโรคโควิด-19 สำหรับพระภิกษุสงฆ์ ในเขตกรุงเทพมหานครว่า จากข่าวที่มีสายการบินจีนขอบินเข้าประเทศไทย เพื่อนำนักท่องเที่ยวเข้ามานั้น เห็นว่า ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม

“กฎระเบียบของการทำการบินก็ยังเหมือนเดิม ผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ ถ้าเป็นชาวต่างชาติ ก็จะต้องถูกกักกันโรค 14 วัน ถ้าเป็นคนไทย ก็ต้องถูกกักกันโรค 14 วันเช่นกัน สำหรับคนต่างชาติเข้ามาก็คงจะต้องทำตามกฎระเบียบที่เราวางเอาไว้ โดย ศบค. คือบินเข้ามาได้ แต่ถามว่านักท่องเที่ยวถ้าเกิดจะต้องอยู่ 14 วัน ใครจะมายังไม่ใช่เวลาที่จะเปิดให้มีการท่องเที่ยว เพราะตอนนี้เนี่ย ภัตตาคารก็ปิด โรงแรมหลาย ๆ แห่งก็ปิด ขอให้ควบคุมสถานการณ์ให้เรียบร้อย” นายอนุทิน กล่าว

ต่อประเด็นเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยแก่สื่อมวลชนในการแถลงข่าวว่า การที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในประเทศไทยช่วงเวลานี้เป็นไปได้ยาก

“คงจะเป็นไปได้ยากมาก ๆ เพราะว่า การประกาศเรื่องของขยายเวลาการห้ามอากาศยานบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว มีการขยายออกไป โดยเป็นคำสั่งของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ออกมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 พฤษภาคม ว่าห้ามบิน เพราะฉะนั้นตอนนี้ ก็น่าจะชัดเจนว่า นักท่องเที่ยวอะไรทั้งหลายก็ยังมาไม่ได้หรอกครับ นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามจะดูแลคนภายในประเทศก่อน เพราะฉะนั้น เรื่องของการท่องเที่ยวจะต้องไว้ทีหลัง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

“วันนี้รายงานผู้ป่วยรายใหม่เท่ากับ 9 ราย เป็นวันที่ 3 ติดต่อกันที่ต่ำกว่า 10 ราย แต่อาจจะเพิ่มกว่าเมื่อวานนี้เล็กน้อย แต่ต้องขอชื่นชมคนไทยทุกท่านที่ได้ร่วมกันสู้กับโควิดนี้มาตลอด แล้วเราก็ได้เห็นภาพที่เราต้องการเห็นมาระยะนึงแล้ว วันนี้ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,947 ราย หายป่วยไปแล้ว 2,665 ราย เพิ่มเติมขึ้นมาคือ 13 ราย วันนี้ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตด้วย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ ยังระบุว่า ในวันที่ 29 เมษายน 2563 นี้ จะมีคนไทยเดินทางกลับมาจากประเทศอินเดีย 189 คน และ ในวันที่ 30 เมษายน 2563 จะเดินทางกลับมาจากรัสเซีย 15 คน ศรีลังกาและมัลดีฟส์ 40 คน รวมทั้ง อินเดีย 170 คน ทำให้นับมียอดรวมสะสมคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทางอากาศแล้ว 22 ประเทศ 2,981 คน โดยทั้งหมดที่เดินทางกลับมา จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจและกักกันโรค ณ ศูนย์กักกันโรคของรัฐ ขณะเดียวกันสำหรับการเดินทางเข้าประเทศที่ด่านชายแดนทางบก วันที่ 28 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา มีผู้ที่เข้ามาจากชายแดนเมียนมา 3 คน ลาว 2 คน กัมพูชา 3 คน และมาเลเซีย 364 คน โดยสำหรับมาเลเซียเป็นผู้ที่ลงทะเบียนไว้ 261 คน และไม่ลงทะเบียน 103 คน

ยืดเวลาขอรับใบอนุญาตทำงานต่างด้าว

ขณะที่ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามในประกาศกระทรวงแรงงานเรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ฉบับที่ 2) วันที่ 27 เมษายน 2563 ระบุว่า นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงาน ที่ได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต่อกระทรวงแรงงาน ผ่านเจ้าหน้าที่หรือผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 และไม่สามารถดำเนินการขอรับใบอนุญาตทำงานได้ทันภายในกำหนดเวลา สามารถทำงานไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมาย ไม่เกินวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 หรือจนกว่าจะไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

โดยให้คนต่างด้าวที่นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงาน ดำเนินการขอตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ขอรับใบอนุญาตทำงาน จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ และบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พฤศจิกายน 2563 ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน ให้คนต่างด้าวใช้บัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ที่กรมการจัดหางานออกให้ และใบอนุญาตทำงานฉบับเดิม เป็นหลักฐานในการแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียน แทนใบอนุญาตทำงานได้

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง