ครม. เห็นชอบต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 31 ก.ค. 63

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.06.30
กรุงเทพฯ
200630-TH-COVID-emergency-ext-restrictions-1000.jpg เด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง ขณะซักซ้อมการล้างมือทำความสะอาดหลังจากเล่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 ก่อนโรงเรียนเปิดทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ วันที่ 23 มิถุนายน 2563
รอยเตอร์

ในวันอังคารนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่จะหมดอายุในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ให้มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ขณะที่กลุ่มเห็นต่างจากรัฐบาลมองว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งนี้ใช้เหตุผลทางการเมือง เพื่อปิดกั้นการชุมนุม มากกว่าการป้องกันโรค

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยแก่สื่อมวลชนหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคระยะที่ 5

“พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เวลาทำงานเขาก็ต้องใช้กฎหมายปกติไปทำ แต่กฎหมายนี้เพื่อสามารถให้เจ้าหน้าที่ทำงานร่วมกันได้ เพราะบางทีมันเป็นกฎหมายเฉพาะของคนใดคนหนึ่ง กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เจ้าหน้าที่ส่วนนี้ทำมันไม่พอ มันก็ต้องบูรณาการคนเข้าไปทำงาน มันต้องใช้กฎหมายรวม ก็คือนี่แหละ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ..” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

ต่อกรณีที่มีผู้คัดค้านเพราะเห็นว่า นายกฯ มีเจตนาทางการเมืองนั้น พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า

“เรื่องการคัดค้านการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผมไม่ตอบ เพราะมันมีเหตุผลความจำเป็นของเขาอยู่แล้ว ผมไม่ได้ไปปิดกั้นประชาชนเลย ประชาชนท่านจะไปชุมนุมท่านก็ไปขออนุญาตชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ของท่าน ในส่วนตรงนี้เขาไม่ต้องการให้คนไปอยู่รวมกลุ่มมากเพื่อจะป้องกันการแพร่ระบาดโควิด ก็แล้วแต่ท่านจะกลัวหรือไม่กลัวก็ไม่รู้เหมือนกัน”

“ผ่อนคลายระยะที่ 5 มันเป็นความเสี่ยงสูง รัฐบาลก็ต้องจำเป็นต้องยอมรับความเสี่ยงเหล่านี้ แต่เราก็เตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์เอาไว้ ไม่ว่าจะเรื่องของการสาธารณสุข การบริการ การตรวจโรค การรักษาโรค เราก็เตรียมความพร้อมไว้แล้ว เราถึงกล้าที่จะเปิดมาตรการระยะที่ 5” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สำหรับป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถูกประกาศใช้ครั้งแรก ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ก่อนที่ ครม. จะมีความเห็นชอบให้ต่ออายุ มีผลตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2563 และต่ออายุครั้งที่สอง มีผลตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2563 และกำลังจะมีการต่อออกไปอีกครั้ง ให้มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

ขณะที่ การผ่อนปรนมาตรการป้องกันโควิด-19 ระยะที่ 5 ศบค. มีมาตรการดังนี้ 1. โรงเรียนและสถานศึกษา : เปิดการเรียนการสอน ใช้สถานที่ได้ตามปกติ 2. ศูนย์การค้าและร้านสะดวกซื้อ : ให้บริการได้ถึงเวลา 22.00 น. ร้านสะดวกซื้อเปิดให้บริการ 24 ชม.ตามปกติ 3. สถานบริการ : ผับ บาร์ คาราโอเกะ โรงเบียร์ โรงเหล้า ลานเบียร์ ให้บริการได้ไม่เกิน 24.00 น. 4. ร้านเกม : ให้บริการได้ไม่เกิน 22.00 น. ให้บริการได้ไม่เกิน 2 ชม.ต่อรอบ 5. อาบ อบ นวด โรงน้ำชา : ให้บริการได้โดยห้ามมีการขายประเวณี 6. อนุญาตเปิดจุดผ่านแดนเพื่อการขนส่งเพิ่ม 9 แห่ง ได้แก่ หนองคาย เลย ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย จันทบุรี สงขลา ประจวบคีรีขีนธ์ และกาญจนบุรี

อนุญาตต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น

ในมาตราการผ่อนปรนข้อที่ 7 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ประกาศอนุญาตให้เครื่องบินโดยสารที่บรรทุกผู้โดยสารในประเภทต่อไปนี้ เดินทางมายังประเทศไทยได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา และหลักเกณฑ์ของผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศและกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีผลบังคับใช้อยู่ เพื่อการป้องกันโรคและจัดระเบียบจำนวนบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ให้สอดคล้องกับความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองและการจัดสถานที่ไว้กักกัน (quarantine) ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป

ในกลุ่มนี้ ได้แก่ 7.1 คู่สมรสและบุตรของผู้ที่มีใบอนุญาตทำงาน หรือได้รับอนุญาตจากทางราชการ 7.2 ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในไทย 7.3 คู่สมรสต่างชาติและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ที่มีสัญชาติไทย 7.4 ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล รวมถึงผู้ติดตาม  7.5 นักเรียน นักศึกษาต่างชาติ และผู้ปกครอง และ 7.6 ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าตามข้อตกลงพิเศษกับประเทศเป้าหมาย โดยจะต้องเข้ามาอยู่จนครบ 14 วัน และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง โดยจะมีโควตาไม่เกิน 200 คน

กลุ่มเห็นต่างชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปิดกั้นประชาชน

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิ้น นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักเคลื่อนไหวการเมือง เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีความจำเป็นสำหรับการควบคุมโรคตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง

“ไม่ใช่แค่ไทยที่มองว่ารัฐบาลฉวยโอกาส สื่อต่างประเทศก็มองว่า รัฐบาลไทยฉวยโอกาสรวบอำนาจ และปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน คนที่โดน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังๆ มาเป็นคดีการเมืองทั้งนั้น มาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพก็ถูกตั้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งการกระทำดังกล่าว ทำลายความเชื่อมั่นนักลุงทุน ซึ่งรัฐบาลไม่ควรจะทำลายเศรษฐกิจ และการเมือง ประชาธิปไตยของไทย” นายพริษฐ์ กล่าว

“พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีความจำเป็นเลยที่ต้องประกาศใช้ ประการที่หนึ่ง มี พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ อยู่แล้ว ทุกเรื่องมีกฎหมายทุกด้านอยู่แล้ว สิ่งเดียวที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีคือ การควบคุมอำนาจ มันแสดงให้เห็นว่าประยุทธ์ยังอยากเป็นหัวหน้า คสช. อยู่  ดังนั้นจึงอาศัยใบรับรองแพทย์ทำการรัฐประหารเงียบ บรรยากาศตอนนี้จึงไม่ต่างจากยุค คสช.” นายพริษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รักษาเสถียรภาพของตัวเองมากกว่าควบคุมโรค

“เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็น วัตถุประสงค์หลักของรัฐบาลก็เป็นการเมืองมากกว่าการควบคุมโรค โดยเฉพาะช่วงกิจกรรมครบรอบเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเครื่องมือควบคุมกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ที่ผ่านมาเราก็เห็นว่า เป็นการใช้กฎหมายควบคุมคนที่เห็นต่างทางการเมือง มันไม่ได้เป็นเครื่องมือหลักในการควบคุมโรค การให้ความรู้กับประชาชนก็เป็นการควบคุมโรคได้ มีมาตรการอื่นๆมากมาย ความสำเร็จการควบคุมโรคก็มาจากประชาชนเป็นหลักด้วย ไม่ใช่ใช้กฎหมายบังคับอย่างเดียว” นายฐิติพล กล่าว

ไทยป่วยโควิด-19 เพิ่ม 2 ราย ในสถานกักกันโรค

พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย ระบุว่า ไทยพบผู้ป่วยเพิ่ม 2 ราย ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 3,171 ราย รักษาหายแล้ว 3,056 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 57 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย และถือเป็นวันที่ 36 แล้ว ที่ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง