รัฐบาลเตรียมร่างผ่อนปรนระยะสอง แรงงานข้ามชาติอาจมีหวังกลับเข้างาน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.05.08
กรุงเทพฯ
200508-TH-COVID-migrants-1000.jpg แรงงานข้ามชาติต่อคิวรับหน้ากากอนามัยจากองค์กรแอลพีเอ็น ที่แคมป์คนงานก่อสร้าง ต.บางกะดี อ.เมือง จ.ปทุมธานี วันที่ 12 เมษายน 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักแก่แรงงานข้ามชาติ กลุ่มแรงงานหลักจำนวนมาก ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลายภาคส่วน จากการถูกหยุดงานแบบไม่จ่ายค่าแรง หรือกระทั่งการเลิกจ้าง หากมาตรการผ่อนปรนระยะสอง ที่รัฐบาลไทยจะยกร่างในอาทิตย์หน้า เพื่อให้มีการเปิดกิจการใหญ่ ๆ เพิ่มขึ้นอีก อาจจะทำให้พวกเขามีความหวังในการกลับเข้าไปทำงานอีกครั้ง

ประเทศไทยเป็นจุดหมายที่แรงงานหลายล้านคนจากเมียนมา กัมพูชา ลาว และประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ พากันเดินทางเข้ามาเพื่อหางานทำ แต่เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 รวมกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและมาตรการห้ามการเดินทาง ทำให้อุตสาหกรรมสำคัญหลายภาคส่วนของไทยที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจำนวนมากประสบปัญหา หยุดชะงัก  นับตั้งแต่กลางเดือนมกราคม ที่ไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ รายแรก

ซึ่งแรงงานเหล่านั้น อาจจะมีโอกาสมากขึ้นที่จะได้กลับมาทำงานอีกครั้ง เพราะเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีมาตรการผ่อนปรนให้มีการเปิด 6 กิจการและกิจกรรม และกำลังเตรียมยกร่างผ่อนคลายมาตรการระยะสองต่อไป ในอีก 10 วัน ข้างหน้า

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวแก่สื่อมวลชนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

"ภายในวันที่ 17 พ.ค.นี้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 เพิ่มเติม ดังนั้นจึงขอความร่วมมือในการป้องกันไม่ให้ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่ม ในช่วงอีก 10 วันข้างหน้านี้ ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 2 เป็นกิจการขนาดใหญ่ที่มีคนพลุกพล่านมากขึ้น" นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน กล่าว

“ทุก ๆ คนอยากจะได้กลับไปสู่ภาวะปกติของการใช้ชีวิต ที่เราจะได้มีการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและสังคมเหมือนเดิม.. ผมก็อยากเห็น แต่ไม่ได้ขึ้นกับภาครัฐอย่างเดียว แต่ภาคประชาสังคม ประชาชนทั้งหลายต้องร่วมมือกันด้วย .. ท่านต้องทำวันนี้ให้ดี คือ 10 วันข้างหน้า เชื้อเป็นตัวเลขหลักเดียว”

แรงงานข้ามชาติเดินทางออกจากไทย เพื่อกลับบ้าน

สถิติของกระทรวงแรงงานถึงเดือนมีนาคม 2563 ระบุว่า ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวเมียนมา ลาว และกัมพูชา 2,814,481 คน โดยแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคการก่อสร้าง และเกษตรกรรม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ปิดด่านชายแดน และจุดผ่อนปรน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด หลังจากที่ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวัน เป็นจำนวนมาก

ด้าน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ประเมินว่า มีแรงงานข้ามชาติมากกว่า 5 แสนราย ที่ถูกเลิกจ้าง หรือได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศไทย และออกมาตรการปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ทุกช่องทาง โดยให้เข้าได้เฉพาะผู้ได้รับอนุญาต หรือคนไทยที่ต้องการจะกลับประเทศ แต่จำเป็นต้องมีเอกสารรับรอง

ในประเทศเมียนมา เจ้าหน้าที่ประกาศว่าแรงงานเมียนมากว่า 150,000 คน หลั่งไหลกลับเข้าประเทศ ตั้งแต่เดือนมีนาคม หลังจากตกงาน ในประเทศไทย และจีน ตามรายงานของเรดิโอ ฟรี เอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์

โดยมีแรงงานจำนวนมากร่วม 40,000 คน ที่ทะลักกลับเข้าประเทศในเดือนนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถจัดการได้ เพราะไม่ได้คาดว่า จะมีคนกลับจำนวนมากขนาดนั้น จึงร้องขอให้รัฐบาลแจ้งให้คนงานที่ต้องการกลับเข้าประเทศ ระลอกต่อไป กลับหลังวันที่ 15 เมษายน แรงงานเมียนมาอีก 20,000 คน เดินทางกลับอีกระลอก เมื่อสิ้นเดือนเมษายน ทางพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ที่ติดต่อระหว่าง อำเภอแม่สอด กับ เมียวดี ในรัฐคะยิน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเมียนมา

ในขณะเดียวกัน ไทยประกาศปิดพรมแดน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ถึงกลางเดือนเมษายน ทำให้แรงงานลาวประมาณ 113,000 คน พากันเดินทางกลับบ้าน กระทรวงสาธารณสุขของลาว กล่าวในวันนั้น

ด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ค่อนข้างยากในการที่จะประมาณจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ยังคงเหลืออยู่ในประเทศไทย

“มาตรการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว กระทรวงให้ความคุ้มครองดูแลเหมือนกับแรงงานไทย เพราะใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน สามารถเรียกร้องผ่านสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ประเทศไทยมีกองทุนที่คุ้มครองแรงงานไทย และต่างด้าว 2 กองทุน คือ กองทุนเงินทดแทน เป็นกองทุนที่คุ้มครอง กรณี บาดเจ็บ หรือต้องหยุดงาน จากการทำงาน อีกทุนนึงคือ กองทุนประกันสังคม มีการคุ้มครองอยู่ 7 การคุ้มครองเช่นเดียวกับแรงงานไทย” นายสุชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์

“การเลิกจ้าง ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราดูแลเช่นเดียวกับแรงงานไทย เราไม่ได้ดูดาย เราประสานงานกับทูตแรงงานของประเทศนั้น ๆ เพื่อหานายจ้างใหม่ให้ ถ้าเขาถูกเลิกจ้าง.. การจะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวกลับเข้ามายังประเทศไทยเมื่อใดขึ้นอยู่กับ รัฐบาลประชุมและตัดสินใจ ซึ่งก็ต้องดูสถานการณ์ในประเทศ และของประเทศเพื่อนบ้านประกอบ โดยตอนนี้เราได้ประกาศชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด” นายสุชาติ ระบุ

ในวันศุกร์นี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 8 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 3000 ราย ขณะที่ ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม จำนวนอยู่เท่าเดิม คือ 55 ราย

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโควิด-19 รวมกว่า 3.93 ล้านคน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 187 ประเทศ มีผู้เสียชีวิตกว่า 274,000 คน ตามข้อมูลล่าสุดที่รวบรวมโดย ผู้เชี่ยวชาญโรคของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ในสหรัฐอเมริกา

ตามกฎหมาย แรงงานต่างด้าวที่ประกันตนเองตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 (พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ) ซึ่งใช้หนังสือเดินทาง และใบอนุญาตทำงาน เป็นหลักฐาน จะได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, กรณีคลอดบุตร, กรณีทุพพลภาพ, กรณีเสียชีวิต, กรณีสงเคราะห์บุตร, กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน เช่นเดียวกับแรงงานไทย

โดยวันที่ 15 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ กองทุนประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยการว่างงานให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยจะจ่ายร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเดือนละ 7,080-8,000 บาท

อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมไม่ได้ระบุมาตรการเฉพาะสำหรับแรงงานข้ามชาติ หรือเปิดเผยตัวเลขว่าได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานข้ามชาติหรือไม่

ด้าน น.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล จากเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวว่า ปัญหาของแรงงานข้ามชาตินอกจากไม่ได้รับการชดเชยการเลิกจ้างแล้ว รัฐบาลไทยยังไม่มีความจริงใจในการช่วยเหลือ

“ถ้ารัฐจริงใจกับการแก้ปัญหา ก็ควรอนุโลมให้การขอรับเงินชดเชยของแรงงานข้ามชาติ ไม่ต้องมีการขอใบแจ้งออก ไม่ต้องส่งหลายทอด ควรทำกระบวนการให้สามารถส่งตรงไปที่ประกันสังคมได้เลย ถ้าการระบาดจบไปแล้ว จะเอาเขากลับเข้ามาทำงาน ก็ต้องคัดกรองให้ดี ทำประวัติไว้ก่อน ถ้าต้องฟื้นฟูเยียวยาจะได้สะดวก” น.ส.สุธาสินี กล่าว

นายอดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เห็นว่ารัฐบาลไทยควรตั้งคณะทำงานจากภาคส่วนอื่น เพื่อช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด

“ที่อยากเห็นจริง ๆ คือ เรื่องของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา ถ้ามีคณะทำงานจากภาคส่วนอื่นที่ช่วยรัฐน่าจะดีกว่า การแก้ปัญหาจะตรงจุดมากกว่า” นายอดิศร กล่าวกับเบนาร์นิวส์

แรงงานข้ามชาติอยู่อย่างยากลำบาก

นายจอห์นนี่ อาดิคารี แกนนำแรงงานเมียนมา ในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์ว่า แรงงานข้ามชาติอยู่อย่างยากลำบากมากในห้วงนี้

“ตอนนี้ พี่น้องแรงงานส่วนใหญ่อยากกลับบ้าน เพราะไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร คนจำนวนมากตกงาน แต่ด่านไม่ให้ข้ามกลับประเทศ เงินที่เก็บไว้หมดไปแล้ว” นายจอห์นนี่

ขณะที่ นาย ไอ บี แรงงานก่อสร้างชาวเมียนมา อายุ 24 ปี เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เขาได้รับผลกระทบเรื่องรายได้

“โดนบังคับหยุดวันอาทิตย์ หรือ ทำวันเว้นวัน ถ้าเป็นคนงานทั่วไป ทำให้รายได้น้อยลง เพราะเราทำงานก่อสร้าง ได้รายได้เป็นรายวันวันละ 300 กว่าบาทนิด ๆ ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ เมื่อก่อนการไปทำงาน เราใช้รถมอเตอร์ไซค์ เขาจะจ่ายค่าน้ำมันให้ แต่ตอนนี้ ไซต์จ่ายค่าน้ำมันให้เพียงแค่ครึ่งเดียวจากเมื่อก่อน ที่ผ่านมาบริษัทก่อสร้าง หรือรัฐบาล ไม่เคยช่วยเหลืออะไร ถ้ารัฐบาลไทยช่วยได้ อยากให้ช่วยเยียวยาเหมือนคนไทย” นายไอ บี กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง