ชาวบ้าน จชต.กลัวจนมากกว่าเหตุรุนแรง โพลสถานวิจัยความขัดแย้งฯ ชี้

มารียัม อัฮหมัด
2020.06.11
ปัตตานี
200611-TH-COVID-deepsouth-1000.jpg เจ้าหน้าที่การรถไฟปิดประกาศ การปฏิบัติตนเพื่อหยุดการแพร่กระจายของโควิด-19 ก่อนการกลับมาให้บริการรถไฟในภูมิภาคอีกครั้ง หลังจากรัฐผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางภายในประเทศ ที่สถานีรถไฟตันหยงมัส นราธิวาส วันที่ 11 มิถุนายน 2563
เอเอฟพี

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันพฤหัสบดีนี้ว่า มีความกังวลต่อการเสี่ยงถูกกักตัว การเดินทาง และการถูกสั่งงดการปฏิบัติศาสนกิจ มากกว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ นอกจากนั้น ผู้ตอบแบบถามส่วนใหญ่ยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก

การสำรวจในครั้งนี้เป็นความเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 820 ตัวอย่าง จาก 164 ชุมชนในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา (อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย) ในระหว่างวันที่ 21 พ.ค.-5 มิ.ย. 2563 นี้

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี หัวหน้าโครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ด้านผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาและมาตรการของรัฐ และนักวิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 82.9 มีความวิตกกังวลมากที่สุดต่อ เรื่องการเดินทางที่ลำบากมากขึ้น รองลงไป คือการที่ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ตามปกติที่มัสยิดหรือวัด และกังวลว่าจะถูกกักตัวเพื่อเฝ้าระวังการติดโรค

“แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะยังมีอยู่แต่ระดับความกังวลไม่มากเท่ากับความกังวลด้านผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวในระหว่างการแถลงผลการสำรวจ

ทั้งนี้ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ได้ประกาศเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ได้ยุติการปฏิบัติการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้โดยปลอดภัย โดยมีเงื่อนไขว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องไม่ปฏิบัติการต่อสมาชิกกลุ่มของตนด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน ได้มีเหตุรุนแรงกว่า 20 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 ราย รวมทั้งฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบ 3 ราย

นางสาว อันนา สาและ อายุ 29 ปี อดีตแรงงานร้านต้มยำไทยในมาเลเซีย ที่เพิ่งกลับมายังบ้านเกิดที่ยะลา กล่าวว่า ในช่วงนี้ ความน่ากลัวของผลกระทบโควิดมีมากกว่าเรื่องความไม่สงบ

“เรื่องความกังวล เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ตอนนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีน้อยมาก ถ้าเทียบกับโควิด-19 ก็กลัวโควิดมากกว่านะ แต่ที่กลัวกว่าโควิด ก็ความอด ไม่มีกิน กลัวที่สุด จะเห็นได้ชัดว่า ช่วงที่มีการช่วยเหลือเยียวยา ชาวบ้านยอมไปรอเข้าคิวที่ธนาคาร ตั้งแต่เที่ยงคืน คนเป็นหมื่น และมีเกือบทุกสาขาทุกธนาคาร เพราะคนเขากลัวความจน”

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า ผลการสำรวจ แสดงให้เห็นผลกระทบจากมาตรการของรัฐต่อประชาชน ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประชาชนในพื้นที่โดยส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ยิ่งได้รับผลกระทบอย่างสูงและขยายวงกว้างขึ้น โดยร้อยละ 75.6 ได้รับผลกระทบด้านอาชีพ และร้อยละ 83.6 ระบุว่ามีรายได้ลดลง ในขณะที่ร้อยละ 49.9 ระบุว่ามีรายจ่ายของครอบครัวเพิ่มมากขึ้น

“สำหรับลักษณะของผลกระทบด้านการประกอบอาชีพจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พบว่า ร้อยละ 18.8 ไม่สามารถออกไปทำเกษตรหรือประมงได้ ส่วนร้อยละ 14.3 ถูกพักงานชั่วคราว ร้อยละ 12.8 ไม่มีใครจ้างงาน และร้อยละ 9.9 จำเป็นต้องเลิกค้าขาย” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ประชาชนบางกลุ่มมีสวัสดิการจากรัฐ และการช่วยเหลือกันของคนในชุมชน ซึ่งได้ช่วยรองรับความเจ็บป่วยทางสังคมเศรษฐกิจและจิตใจ ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ประชาชนจำนวนมากถึงร้อยละ 73.1 ได้รับสวัสดิการ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 57.1 ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และร้อยละ 34.9 ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ในส่วนของการได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท อันเป็นมาตรการเยียวยาในช่วยวิกฤติโควิด-19  พบว่าร้อยละ 60.2 สมัครและได้รับเงินช่วยเหลือแล้ว แต่อีกร้อยละ 18.2 สมัครแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงิน

“คนกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องมีการติดตามและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน  อย่างไรก็ตาม ในด้านความช่วยเหลือของคนในชุมชน พบว่าร้อยละ 69.9 ได้รับของบริจาคหรือถุงยังชีพ ซึ่งอาจจะได้รับจากหน่วยงานของรัฐ และการช่วยเหลือบริจาค” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

นายรอมลี เจะมูซอ อายุ 50 ปี ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาที่หนักที่สุดในพื้นที่ คือ คนไม่มีงาน และความขาดแคลน

“แต่ยังโชคดี ในพื้นที่สามจังหวัดมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ แม้ไม่มีอย่างอื่นกิน ไม่มีเงินซื้อข้าว ก็ต้มน้ำผักกินกับลูกได้ มีอะไรน่ากลัวกว่าความจนอีก ไม่ได้เลยทั้งเงินเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน หรือเงินเกษตร ไม่อยากพูด เราคนจนไม่ได้หรอก เขาไม่เห็นหัวคนจนหรอก ส่วนสถานการณ์ความไม่สงบเฉย ๆ นะ” นายรอมลี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้าน ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ กล่าวว่า ผู้ตอบคำถาม ร้อยละ 57.1 ยังคงรับได้ หากยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมโรคยังคงอยู่ต่อไปอีก 1 เดือน ในขณะที่ร้อยละ 42.9 ไม่สามารถทนรับสถานการณ์ได้ต่อไปอีก 1 เดือน พร้อมให้คะแนนความพึงพอใจต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล 6.39 เต็ม 10

นอกจากนั้น ผลการสำรวจระบุว่า ประชาชนสนับสนุนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด แต่ต้องไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยที่ประชาชนเห็นด้วยกับมาตรการเป็นอันดับแรก คือ การสวมหน้ากากอนามัย รองลงมาการให้เงินชดเชยและสวัสดิการแก่ประชาชนที่เดือดร้อนจากมาตรการควบคุมโรค การห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปิดหมู่บ้านที่มีผู้ติดเชื้อ และการห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เป็นลำดับ

ในขณะที่มาตรการที่ประชาชนไม่เห็นด้วยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์/ทางไกลในปีการศึกษาใหม่ การปิดบริการขนส่งมวลชนสาธารณะทุกประเภท การงดละหมาดที่มัสยิด การห้ามขายอาหารในร้าน และการห้ามออกจากบ้านระหว่าง เวลา 22.00-4.00 น.

ประชาชนมีความพอใจกับการดำเนินงานการแก้ปัญหาของหน่วยงานสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขมากที่สุด รองลงมา คือ ผู้นำชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อบต.

ทั้งนี้ ผู้ได้รับเชื้อโควิดสะสมในประเทศไทยอยู่ที่ 3,125 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในภาคใต้ 744 ราย ส่วนใหญ่หายป่วยแล้ว ยังต้องรับการรักษาพยาบาลอีก 80 ราย และเสียชีวิต 58

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง