ประเทศไทยสามารถยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก องค์การอนามัยประกาศ

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.06.07
กรุงเทพฯ
TH-baby-1000 ทารกอายุหนึ่งปี หนึ่งใน 59 รายที่ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์นอนอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ภาพเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2542
เอเอฟพี

ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก ประกาศโดย กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรสาธารณสุขระหว่างประเทศอื่น ๆ ในวันพุธนี้

ประเทศไทยได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการว่า “สามารถยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ” โดยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย ที่สามารถลดอัตราการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ผู้แทนองค์กรอนามัยต่างๆ กล่าวร่วมในแถลงการณ์

“ทุกวันนี้ ไม่เพียงแค่เด็กไทยเท่านั้นที่แทบไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่เลย แต่เด็กๆ ลูกหลานแรงงานต่างชาติที่มีประกันสุขภาพก็แทบไม่มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะสามารถเข้าถึงบริการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้” นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว

“ความสำเร็จครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและการเป็นผู้นำของประเทศไทยในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่” เขากล่าว “ประเทศไทยกลายเป็นตัวอย่างสำคัญ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียในการต่อสู้เพื่อให้เด็กรุ่นต่อๆ ไปปลอดภัยจากเอชไอวีและซิฟิลิส”

เอชไอวีหรือเชื้อไวรัสเอดส์ สามารถก่อให้เกิดโรคเอดส์ เป็นโรคร้ายแรงที่ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ อีกมากมาย ประสบมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก มีประชากร 36.9 ล้านคนทั่วโลก ที่ใช้ชีวิตอยู่กับเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ในปี 2557 และ 1.2 ล้านคน เสียชีวิตจากการเจ็บป่วยที่มาจากสาเหตุเกี่ยวข้องกัน ในปีนั้น

ประเทศไทย ในปี 2557 มีผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับเชื้อเอชไอวี ราว 450,000 คน แนวโน้มการติดเชื้อเอชไอวีลดลง ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2534 ได้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 140,000 ราย แต่ในปี 2557 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียง 7,800 คน มิส ซายา โอก้า โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

อัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกในประเทศไทยลดลงจากร้อยละ 10.3 ในปี พ.ศ. 2546 เหลือเพียงร้อยละ 1.91 ในปี พ.ศ. 2558 ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุ ในคำแถลงการณ์ที่เผยแพร่ เมื่อเช้าวันพุธที่ 8 มิถุนายนนี้ (เวลาในกรุงเทพ)

“เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เด็กประมาณหนึ่งในสามทั่วโลกต้องเกิดมาพร้อมเชื้อเอชไอวีเนื่องจากได้รับเชื้อมาจากแม่” นางตาเตียน่า ชูมิลินา ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย กล่าว

“ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี และซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยในเวลานั้น” เธอกล่าว

นายแพทย์แดเนียล เคอร์เตสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าว “การดำเนินการเพื่อยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกของรัฐบาลไทย ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะประชาชนไทยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอีกด้วย”

“ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศ ที่มีระบบประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างชาติ ทำให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้” เขากล่าว

คำแถลงการณ์ยังกล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีบริการด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพในระดับชาติ และมีการบูรณาการบริการทางสุขภาพสำหรับหญิงตั้งครรภ์และแม่ที่ติดเชื้อในระบบบริการอนามัยแม่และเด็กในสถานพยาบาลต่างๆ

'ความท้าทายยังคงมี'

องค์การนานาประเทศ ซึ่งนำโดย องค์การอนามัยโลก และการสนับสนุนจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ (UNICEF) โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขของไทย ในการประกาศความสำเร็จที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของประเทศไทย

กระบวนการประเมินการยุติการถ่ายทอดเชื้อของทีมผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ ในการขอรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกของประเทศไทย ใช้เวลาดำเนินการร่วมสองปี พบว่า ประเทศไทยได้บรรลุเงื่อนไขทั้งหมดตามเป้าหมายโลกในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก แถลงการณ์กล่าว

“ความสำเร็จของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก นับเป็นความสำเร็จของทุกคน ทุกองค์กรและหน่วยงานภาคี” นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว “ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลเฉพาะกับแม่และเด็กไทยเท่านั้น หากรวมถึงทุกคนที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย"

“อย่างไรก็ดี เรายังคงมีความท้าทายอยู่คือ จะทำอย่างไรให้ความสำเร็จในวันนี้ยั่งยืนต่อไป และปัจจัยที่จะนำเราไปถึงจุดนั้นได้ คือ ความเป็นผู้นำ การจัดการที่มีประสิทธิภาพ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน และนโยบายรัฐบาลที่เข็มแข็ง” นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวเสริม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง