ไอแอลโอ: ค่าแรงไม่เป็นธรรม ละเมิดสิทธิแรงงาน ยังมีอยู่ในอุตสาหกรรมประมงไทย

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.03.07
กรุงเทพฯ
180307-TH-fishing-620.jpg แรงงานต่างด้าวขนปลาลงจากเรือ ที่ท่าเรือแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปัตตานี วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization - ILO) เปิดเผยรายงานโครงการ “สิทธิจากเรือสู่ฝั่ง” ในวันพุธนี้ พบว่า สถานการณ์แรงงานต่างด้าวในภาคประมงไทยดีขึ้น แต่ยังพบว่ามีการละเมิดสิทธิลูกจ้างแรงงานต่างด้าวในบางประการ เช่น การจ่ายค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนด

นายแกรห์ม บัคลีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศไทยประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ชื่นชมรัฐบาลไทยในความพยายามปรับเปลี่ยนนโยบาย การออกกฎข้อบังคับ กฎหมายใหม่ๆ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ทัดเทียมกับมาตรฐานแรงงานสากล

"ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กรอบระเบียบข้อบังคับ ที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาในเชิงบวก" รายงานระบุ "เมื่อ ILO ทำการเปรียบเทียบคำตอบที่มีต่อคำถามที่คล้ายคลึงกันจากการสำรวจของ ILO ปี 2556 เกี่ยวกับสภาพการทำงานในอุตสาหกรรมการประมงไทย... เราพบความคืบหน้าจากหลายตัวชี้วัด"

ทั้งนี้ รายงาน ILO ฉบับนี้ ระบุว่า ประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่จัดอยู่ในอันดับ 4 ของโลก รองจากประเทศเวียดนาม นอร์เวย์ และ จีน ภาคประมงและแปรรูป มีการจ้างแรงงานมากกว่า 600,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 302,000 คน เป็นแรงงานข้ามชาติที่ได้จดทะเบียนในระบบ

และการสำรวจของ ILO เกี่ยวกับการจัดหางาน ค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน ความปลอดภัยและสุขภาพ บริการ กลไกการร้องเรียน และสภาพความเป็นอยู่ ตลอดจนตัวชี้วัดของการบังคับใช้แรงงานและการดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งพบว่าการบังคับใช้กฎหมายของไทยดีขึ้น การทำร้ายร่างกายมีจำนวนลดลง และการใช้แรงงานอายุต่ำกว่า 18 ปี มีน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่แรงงานข้ามชาติมากกว่า 43 เปอร์เซ็นต์ มีสัญญาว่าจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่มขึ้นกว่าสี่ปีที่ผ่านมา แรงงานประมงบางส่วนได้รับการเพิ่มเงินเดือน

“เราต้องการให้ความสามารถในการแข่งขันการค้าขายอาหารทะเลทั่วโลกมีความหมาย มากกว่าราคาสินค้าที่ต่ำและคุณภาพดี เราต้องการให้ความสามารถในการแข่งขันหมายถึงงานที่ดีมีคุณค่าสำหรับแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ทั้งหมด ตั้งแต่เรือจนถึงผู้ค้าปลีก” นายแกรห์ม บัคลีย์ กล่าว

ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยข้อมูลพื้นฐานเรื่องแรงงานประมงและอาหารทะเลไทย เป็นงานวิจัยที่ครอบคลุมทั้งภาคประมง ภาคอาหารทะเล และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นครั้งแรก รวบรวมจากการสัมภาษณ์แรงงานไทยในภาคประมงและอาหารทะเลจำนวน 434 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติที่ทำงานให้ผู้ประกอบการรายเล็กจนถึงรายใหญ่ ใน 11 จังหวัดทั่วประเทศ ช่วงระหว่างเดือน มีนาคม ถึง เมษายน 2560

ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข พร้อมคำขู่ของอียู

รายงานข่าวเชิงสืบสวนเกี่ยวกับการใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการทำประมงไทยของสำนักข่าวเอพี ที่มีอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปี เป็นที่จับตาทั่วโลก และได้ส่งผลให้สหภาพยุโรป (อียู) ออกใบเหลืองให้ประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558 จากการที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unregulated and unreported fishing practices – IUU) และขู่ว่าจะห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากประเทศไทย

"การไม่ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจังกับการประมงที่ผิดกฎหมาย ย่อมส่งผล" คาร์เมนู เวลลา กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและการประมงของสหภาพยุโรป กล่าวในแถลงการณ์ ในขณะนั้น

อุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลสร้างรายได้ให้ประเทศไทยมากถึง 6,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 206,830 ล้านบาท) ในปี 2560 ภาคอุตสาหกรรมประมงได้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติมากกว่า 57,000 ในเรือประมงพาณิชย์ประมาณ 6,700 ลำ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่จับตาในประเด็นแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากเป็นประเทศต้นทางของอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเลของไทย ที่ส่งไปขายยัง วอลมาร์ท คอสต์โก เทสโก และอีกหลายแห่งทั่วโลก

ในด้านลบนั้น ผลสำรวจยังพบอีกว่า 34 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานประมงและอาหารทะเลแจ้งว่า ไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ในขณะที่"เพศ" ยังมีผลต่อการจ้างงานและค่าจ้าง พบว่า 52 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานที่เป็นหญิง จะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานที่เป็นชาย และมากกว่า 24 เปอร์เซ็นต์ แจ้งว่าถูกนายจ้างที่เป็นเจ้าของเรือยึดเงินค่าจ้างไว้เป็นเวลา 12 เดือน หรือนานกว่านั้น

นายเจสัน จัดด์ เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการฯอาวุโส และผู้จัดทำการศึกษาครั้งนี้ ได้เสนอแนะรัฐบาลไทยให้เน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และเข้มข้นมากขึ้น พร้อมๆ กับการกำหนดมาตรฐาน เสริมสร้างทักษะความรู้ และดูแลสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติให้มากขึ้นกว่าเดิม

“ขอเสนอแนะให้รัฐบาลไทย องค์การนายจ้าง สหภาพแรงงาน ภาคประชาสังคม และผู้ซื้ออาหารทะเลทั่วโลก ร่วมมือกันผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ และให้เป็นอุตสาหกรรมที่นำไปสู่งานที่ดีมีคุณค่า” คำแนะนำท้ายรายงาน ระบุ

นายจักรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ได้แสดงถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของทุกภาคีเครือข่าย ในการขับเคลื่อน และประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินงานยกระดับคุณภาพชีวิต และมาตรฐานแรงงานในภาคประมงและอาหารทะเล เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

“ผมมั่นใจว่าสถานการณ์ด้านความเป็นอยู่และการทำงานของแรงงานต่างด้าวมีสภาพที่ดีขึ้น เปรียบเทียบกับสิบปี ยี่สิบปีก่อนหน้า ที่มีแต่แรงงานผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างแรงกล้าในการพัฒนากฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติให้เท่าเทียมกับแรงงานไทย” ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง