เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยเชื่อว่า การพูดคุยครั้งใหม่ น่าจะได้ผลในทางที่ดีขึ้น

โดย ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.05.12
TH-mara2-620 เจ้าหน้าที่ทหารกำลังยืนยาม หน้าสถานที่เกิดเหตุ ที่ผู้นำศาสนาอิสลามถูกยิงเสียชีวิต ขณะขี่มอเตอร์ไซค์ จังหวัดนราธิวาส ชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2557
เอเอฟพี

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยเชื่อว่า การพูดคุยครั้งใหม่ที่จะมีขึ้น ในต้นเดือนมิถุนายน จะได้ผลในทางที่ดีขึ้น ส่วนประเทศมาเลเซียได้จัดตั้ง สำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข หรือ Joint Working Group-Peace Dialogue Process (JWG-PDP) นำโดย ดาโต๊ะซัมซามิน (Dato Sri Ahmad Zamzamin Hashim) เป็นประธาน ได้มีการจัดประชุมตัวแทนจากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาลไทย ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมปูทางไปสู่การเจรจาสันติภาพกับผู้แทนรัฐบาลไทย ที่คาดว่าจะมีขึ้นได้ในปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน ที่จะถึงนี้ และรัฐบาลไทยเรียกร้องให้มาเลเซียนำ "ตัวจริง" มาร่วมโต๊ะพูดคุย

สำหรับสำนักงานเลขานุการคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข ได้จัดประชุมร่วมกับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐไทย จำนวน 6 กลุ่ม ที่รวมตัวกันในนามองค์กร “องค์กรร่วมเพื่อความก้าวหน้าปาตานี” หรือ MARA Patani (Majlis-ash-Shura Patani) เป็นครั้งแรก โดยหกกลุ่มที่เข้าร่วมประกอบด้วย กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายู (BRN) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (BIPP)  ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี (GMIP) และกลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี (PULO) 3 กลุ่มย่อย

องค์กรร่วมเพื่อความก้าวหน้าปาตานี หรือ MARA Patani

“ข้อตกลงการตั้งองค์กร MARA Patani เป็นความเห็นร่วมกันของทั้ง 6 กลุ่ม เพื่อให้ฝ่ายผู้เห็นต่าง สามารถติดต่อสื่อสารถึงกันและกันได้สะดวก รวดเร็วและเป็นเอกภาพ” แหล่งข่าวอดีตแกนนำพูโลกล่าว

“การประชุมดังกล่าว ซึ่งทางการมาเลเซียจัดขึ้นนั้น ถือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายใต้องค์กร MARA Patani ภายหลังจากที่มีการประชุมนอกรอบกันก่อนหน้านั้นที่ประเทศอินโดนีเซีย และตัวแทนทั้ง 6 กลุ่ม เห็นพ้องกันว่า องค์กร MARA Patani จะทำหน้าที่เป็นองค์กรตัวแทนสูงสุด ในการพูดคุยสันติสุขกับรัฐบาลไทย แต่ก็มีการเสนอให้มีคำสั่ง หรือการมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากฝ่ายต่างๆ ตามลำดับชั้น เพื่อไม่ให้ข้อตกลง หรือฉันทามติ ถูกปฏิเสธในภายหลัง” แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติม

“หลังจากนี้ จะมีการประชุมนอกรอบกันอีกครั้ง เพื่อวางแผนการเปิดตัว และประชาสัมพันธ์องค์กรสู่สาธารณะ ก่อนจะนัดเปิดโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งทางการไทยต้องการให้เป็นการประชุมลับ ขณะที่ฝ่ายผู้เห็นต่างเสนอให้มาเลเซีย กดดันรัฐบาลไทยให้ประกาศเรื่องการพูดคุยสันติสุข เป็นวาระแห่งชาติ” แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าว

การเริ่มต้นของการเจรจา หรือการพูดคุยสันติภาพ

การเจรจาหรือการพูดคุยสันติภาพ ได้ถูกริเริ่มในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีการพูดคุยเป็นครั้งแรกในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 หลังจากนั้น มีการเจรจาเป็นครั้งที่สอง ในปลายปี พ.ศ. 2556 ต้องสะดุดลงด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ทางผู้เห็นต่างจากรัฐบาล ต้องการให้รัฐบาลไทยยอมรับเอกราชเหนือดินแดนปัตตานีของตน  โดยในการเจรจานั้น มีนายฮัซซัน บิน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพของฝ่ายกลุ่มแยกดินแดน ส่วนฝ่ายไทยคือ พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ผลของการพูดคุยครั้งนั้น รัฐก็ไม่สามารถทำอะไรให้กับชาวปาตานีได้เลย โดยเฉพาะ 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นที่เสนอออกมา

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์วันที่ 17 กันยายน 2556 ได้รายงานถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็น 5 ข้อ ที่มีนายฮัซซัน ตอยิบ เป็นผู้นำในการเจรจา โดยอ้างอิงถึงเอกสารของบีอาร์เอ็นที่ได้มาจากฝ่ายความมั่นคงดังต่อไปนี้ว่า

ส่วนคำอธิบายในเอกสาร 38 หน้า มีการขยายความประมาณว่า "ให้รัฐบาลรับรองปาตานีเป็นชาติบ้านเกิด และเป็นอธิปไตยของชาวมลายูปาตานี เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เนื่องจากรัฐสยามเข้ามาครอบครองปาตานี และละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมกันนี้ต้องให้โอกาสแก่ชุมชนมลายูได้บริหารพื้นที่ โดยการตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย ดังเช่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยให้รัฐสภาพิจารณา"

การพูดคุยสันติภาพครั้งที่สาม

ส่วนในการเจรจาครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะมีพลเอก อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของฝ่ายไทย ที่ได้เปิดวงพูดคุย เพื่อทำความรู้จักกับแกนนำฝ่ายบีอาร์เอ็น พูโล บีเอ็นพีพี และจีเอ็มไอพี ในการประชุมลับไปบ้างแล้ว จากคำบอกกล่าวของอดีตแกนนำบีอาร์เอ็นผู้หนึ่ง

แหล่งข่าวคนเดียวกัน ให้ทรรศนะต่อการเจรจาดังกล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า “ตอนนี้ทุกคนพยายามหาทาง เพื่อรวมตัวให้เกิดการพูดคุยให้ได้ ในวันที่ 25 พ.ค. 2558 นี้ เพื่อเป็นการแสดงให้ทุกคนเห็นว่า รัฐบาลยุคนี้จะสามารถพูดคุยให้สำเร็จให้ได้ แต่ทุกอย่างจะสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะมีความจริงใจขนาดไหน”

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ตามการเก็บข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ปรากฏว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า หกพันสามร้อยคน และบาดเจ็บมากกว่า หนึ่งหมื่นหนึ่งพันคน

ล่าสุดในวันนี้ พลตรีนักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ตอบคำถามถึงเรื่องการพูดคุยครั้งใหม่ที่จะมี และยืนยันต่อเบนาร์นิวส์ว่า

ฝ่ายผู้แทนรัฐบาลไทยและฝ่ายผู้เห็นต่างจะสามารถจัดการพูดคุยเพื่อสันติ ในประเทศมาเลเซียได้ ในปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายนนี้ และหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ในทางที่ดีขึ้น

“ครับ จะมีการพูดคุยกัน ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งคิดว่าจะต้องได้ผลในทางที่ดีขึ้น”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง