มาเลเซียขยายเวลาปิดประเทศ กระทบคนไทยที่อยากกลับบ้าน

มารียัม อัฮหมัด
2020.04.10
ปัตตานี
200410-TH-COVID-deepsouth-border-800.jpg ประชาชนแดนใต้ ขณะรอเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไทยตรวจสอบเอกสารของตน ก่อนจะสามารถข้ามไปยังมาเลเซีย หลังจากมีข้อจำกัดการเดินทางช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ชายแดนสุไหงโกลก นราธิวาส วันที่ 1 เมษายน 2563
เอเอฟพี

ในวันศุกร์นี้ เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า คนไทยในมาเลเซียนับแสนราย ต้องอาศัยอยู่ที่นั่นก่อน จนกว่าการประกาศปิดประเทศจะยุติลงในตอนเกือบสิ้นสุดเดือนเมษายนนี้ ซึ่งทางการไทยและอาสาสมัคร ได้พยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยที่คนไทยจำนวนมากไม่มีรายได้ และขาดแคลนเครื่องบริโภค

นายมงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองโกตาบารู กล่าวว่า นายมูฮิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ออกแถลงการณ์ขยายมาตรการควบคุมการสัญจร (Movement Control Order - MCO) จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 14 เมษายน 2563 เป็นวันที่ 28 เมษายน 2563 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนไทย

“กระทบแน่นอนกับคนไทยที่อยู่ที่นี่ จากเดิมกำหนด 15-16 เมษายน ตั้งใจว่าจะทยอยกลับบ้านกันมากขึ้น และเมื่อขยายเวลาถึง 28 เมษายน เท่ากับว่าปัญหาเพิ่มขึ้นเท่าตัว อยู่ที่นี่เขาไม่มีอาชีพ เงินเขาก็ไม่มี ค่าใช้จ่ายมีทุกวัน ตอนแรกคนไทยที่อยู่ที่นี่บางส่วน เขาคิดว่าผ่านพ้นวิกฤตนี้ จะอยู่ต่อ ดูจากสภาพปัญหาคาดการณ์แล้ว คนไทยที่อยู่ที่นี่จะตัดสินใจกลับบ้านมากขึ้น ตัวเลขอาจจะอยู่ในหลักแสน” นายมงคล กล่าว

ในเบื้องต้น สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศว่า จะมีอาสาสมัครชายไทยในรัฐต่าง ๆ ของมาเลเซีย ออกไปให้ความช่วยเหลือแจกจ่ายอาหาร และหน้ากากอนามัยสำหรับคนไทย โดยขอให้คนไทยทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถโทรศัพท์ไปนัดอาสาสมัครได้ ตามเบอร์ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประกาศ หรือ ติดต่อ 011-1160-8379 โดยขอให้โทรไปนัดในเวลาที่เหมาะสม และไม่ใช่เวลากลางดึก

ด้าน นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการ บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ทางการไทยได้เตรียมมาตรการไว้รองรับแรงงานที่จะเดินทางกลับประเทศ เมื่อรัฐบาลมาเลเซียอนุญาตแล้ว โดยปัจจุบัน แรงงานได้รับการดูแลโดย สถานเอกอัครราชทูต และ ศอ.บต. แล้ว

“แรงงานในมาเลเซียทั้งหมดต้องรอกลับประเทศ ตามที่มาเลเซียแจ้ง และเมื่อด่านเปิดแล้ว กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข จะกำหนดให้เข้าได้ 5 ด่าน รวมกันต่อวันไม่เกิน 350 คน และเมื่อเข้าประเทศแล้ว จะต้องถูกกักตัว ทั้งหมดโดยทางสาธารณสุข จะดำเนินการเป็นหน่วยแรก และต้องตรวจสอบกระบวนการส่งต่อ-รับเข้าตามระบบ” นายชนธัญ กล่าว

ขาดแคลนอาหาร

น.ส. รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ อาจารย์มหาวิทยาลัยมลายา กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่า การขยายเวลาปิดประเทศของมาเลเซีย น่าจะกระทบแรงงานไทยราวหนึ่งแสนคน ส่วนใหญ่ไปทำงานในร้านอาหาร ที่เรียกว่า ต้มยำกุ้ง ซึ่งการให้ความช่วยเหลือก็ทำได้ไม่สะดวกนัก เนื่องจากมีมาตรการปิดเมืองด้วยเช่นกัน

“แรงงานในร้านต้มยำ ตอนนี้ส่วนใหญ่ร้านปิด ไม่มีรายได้ จากการคาดคะเนคร่าว ๆ แสนกว่าคน แต่ยังมีแรงงานในภาคประมง สวนยาง สวนปาล์ม และภาคบริการอีกจำนวนหนึ่งด้วย การเข้าช่วยเหลือ ตอนนี้ สถานทูตร่วมกับอาสาสมัครคนไทยในมาเลเซีย ชมรมต้มยำ และสมาคมจันทร์เสี้ยวเพื่อการแพทย์ ได้เปิดลงทะเบียนคนเดือดร้อน ได้มา 2,300 คน ส่วนใหญ่ไม่มีเงิน ขาดเสบียงอาหาร เด็กๆ ขาดนม แพมเพิร์ส ขาดเงินถึง 53% ขาดเสบียงอาหาร 32% ที่เหลือก็ปัญหาอื่น ๆ และที่เข้าไม่ถึงราว 80%” น.ส.รุสนันท์ กล่าว

“การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้ ก็แค่ส่งเสบียงช่วยเหลือชั่วคราว แต่ทางที่ดีต้องให้เขาได้กลับบ้านไปก่อน แล้วจัดสถานที่กักตัว ทำเป็นระบบในมุมของเด็กร้านต้มยำ ส่วนใหญ่เข้ามาทำงานแบบไม่มีเวิร์คเพอร์มิต ตอนนี้ มาเลเซียอนุโลมให้อยู่ไปก่อนได้ แต่เปิดประเทศเมื่อไร ก็ต้องกลับ ไม่อาจรู้ได้ว่าเมื่อกลับไปแล้วจะเข้ามายังมาเลเซียอีกได้ไหม ปัญหาที่จะตามมาคือ คนจะว่างงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น รัฐบาลต้องคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร” น.ส.รุสนันท์ กล่าวเพิ่มเติม

น.ส. นูรซะมี นิเซ็ง ชาวยะลา เจ้าของร้านต้มยำและอาหารทะเล ในรัฐยะโฮร์บาห์รู กล่าวว่า จำเป็นต้องอยู่ในมาเลเซียต่อไป เนื่องจากกลัวว่า หากเดินทางกลับจะเป็นภาระคนที่บ้าน และกระทบกับการกลับมาทำงานที่มาเลเซีย

“เรามีพนักงาน 8 คน ที่ต้องรับผิดชอบ ทุกวันนี้เปิดขายตอนกลางวัน เฉพาะแบบซื้อกลับบ้าน ซึ่งพอทำให้มีรายได้พยุงตัว และจ่ายค่าจ้างพนักงาน ทุกวันนี้ ค่าครองชีพสูงมาก เช่าร้านเดือนละ 50,000 บาท ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมทุกอย่างแล้ว 8,000 บาท ตัดสินใจจะขออยู่ที่นี่ เพื่อลดปัญหาเมื่อกลับไป อยากเรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยเหลือคนที่ต้องการอยู่ต่อด้วย” น.ส.นูรซะมี กล่าว

ขณะที่ นายอิสมาแอ มีแต ชาวปัตตานี พนักงานร้านต้มยำในกัวลาลัมเปอร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ร้านหยุดทำให้ไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน แต่ไม่สามารถกลับประเทศได้

“อยากกลับบ้าน แต่กลับไม่ได้ อยู่ก็ไม่มีงานทำ เงินไม่มี แต่โชคดีพอที่ได้รับการช่วยเหลือบ้างจากเพื่อนชาวไทยและสถานทูตฯ รอวันกลับบ้านทุกวัน ทราบว่าเขาจะขยายวันปิดด่านอีก รู้สึกหายใจไม่สะดวก เครียดบอกไม่ถูก อยากบอกว่าพวกเราอยากกลับบ้าน” นายอิสมาแอ กล่าวเพิ่มเติม

รัฐพิจารณาให้เงินช่วยเหลือคนไทยในต่างแดน

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยในวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2563 ว่า รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ โดยอาจเป็นการจ่ายเงินเยียวยาในลักษณะเดียวกันกับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในประเทศ

“ถ้าจะกลับประเทศไทย ผู้บริหารและคนไทยทุกคนยินดีต้อนรับท่าน แต่ถ้าท่านเห็นคิวแล้วยังยาวอยู่ ท่านจะขออยู่ต่างประเทศอีกสักพักนึง ขอให้ท่านได้พักอาศัยอยู่ต่างประเทศตรงนั้นไว้ก่อน โดยที่ท่านไม่ได้เดือดร้อนอะไรก็ไม่ต้องรีบเข้ามา แต่ถ้าคนที่เดือดร้อน ทางรัฐจะจัดงบประมาณให้ เหมือนกับคนไทยที่ตอนนี้กำลังจะได้ 5,000 บาท แต่คนที่อยู่ตรงนู้นตัวเลขยังไม่นิ่ง ถ้าเป็นพี่น้องแถบชายแดนของเรา เช่น กัมพูชา มาเลเซีย หรือพม่า ค่าใช้จ่ายจะเป็นเท่าไหร่ก็ยังคิดกันอยู่ เพื่อให้ท่านอาศัยอยู่ได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

“บางคนเป็นลูกจ้างอยู่ร้านอาหาร แล้วก็ปิดร้าน แต่มีญาติอยู่แถวๆ นั้น ถ้าพักอยู่ได้ ถ้าไม่มีโรคอะไรก็ไม่ต้องรีบกลับมา เพราะการเดินทางผ่านแดนเจอคนกลุ่มมากๆ แล้ว ก็ต้องมารอทำนู่นทำนี่ขั้นตอนต่าง ๆ เยอะแยะ จนมาติดกัน เพราะฉะนั้น ตรงนี้รัฐสนับสนุนให้ท่านอยู่กับพื้นที่ก่อน

สำหรับคนที่อยู่ต่างประเทศในแถบยุโรปสหรัฐอเมริกาหรืออะไรก็แล้วแต่ เหมือนกันครับ ถ้าท่านมีที่พักอาศัยอย่างดีมีประกันดูแลท่าน ท่านก็อยู่ต่อก่อน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ในวันศุกร์นี้ ไทยยังคงพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 50 ราย มีผู้ป่วยสะสม 2,473 ราย ใน 68 จังหวัด มีเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย เป็นผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 43 ปีอาชีพค้าขาย มีโรคประจำตัวคือ SLE เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง รวมยอดตายเป็น 33 ราย

ขณะที่ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโควิด-19 รวม 1,650,210 คน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 185 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 100,376 คน รักษาหายแล้ว 368,669 คน ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เป็นต้น

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ มีส่วนในรายงานข่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง