มาเลเซียกักเรือโรฮิงญาไว้อีกหลายลำ ทางการไทยกล่าว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ นิชา เดวิด
2020.06.17
กรุงเทพฯ และ กัวลาลัมเปอร์
200617-MY-Rohingya-boat-1000.jpg กลุ่มที่คาดเป็นผู้อพยพชาวโรฮิงญาในเรือไม้ที่ลอยลำ ขณะถูกกักตัวไว้ในน่านน้ำมาเลเซีย แถวเกาะลังกาวี (ภาพแจกโดยหน่วยยามฝั่งของมาเลเซีย) วันที่ 5 เมษายน 2563
เอเอฟพี/หน่วยงานบังคับกฎหมายทางทะเลแห่งมาเลเซีย

เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ มาเลเซียได้กักเรือของชาวโรฮิงญาเอาไว้จำนวนสามลำ นอกเหนือจากหนึ่งลำที่ได้นำเข้าฝั่งเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ผู้บังคับการตำรวจน้ำของไทยคนหนึ่งบอกแก่เบนาร์นิวส์ โดยอ้างข้อมูลจากชาวประมงในพื้นที่ แต่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงของมาเลเซีย ปฏิเสธรายงาน ดังกล่าว

เรือของชาวโรฮิงญาประมาณหกลำ ถูกพบอยู่ในน่านน้ำมาเลเซียใกล้กับเขตแดนไทย “จนกระทั่งเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว” ตามคำกล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ของ พ.ต.ท. บรรเจิด มานะเวช สารวัตรตำรวจน้ำ จังหวัดสตูล โดยระบุว่า “รับทราบเรื่อง จากสื่อจากผู้พบเห็นในพื้นที่ แต่เราไม่ได้เห็นเอง”

“เป็นเรือโรฮิงญา 6 ลำ อยู่ทางใต้ลงไปในเขตแดนมาเลเซีย ห่างจากเกาะหลีเป๊ะ ประมาณ 12 ไมล์ทะเล เรือทั้งหมดมุ่งหน้าลงใต้ พบว่า อยู่บริเวณนั้นประมาณสามสัปดาห์จนถึงสัปดาห์ที่แล้ว” พ.ต.ท.บรรเจิด กล่าวถึงเกาะของไทยในช่องแคบมะละกา ซึ่งอยู่ติดกับตอนเหนือของมาเลเซีย

“เชื่อว่าเขาต้องการไปมาเลเซีย แต่มาเลเซียเขาพยายามผลักดันกลับ” พ.ต.ท.บรรเจิด กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ทราบว่า 2 ลำ ไปอินโดนีเซียต่อได้ อีกหนึ่งลำมีปัญหา มาเลเซียเอาเรือมารับคน ขึ้นไปทางเกาะลังกาวี ส่วนอีก 3 ลำถูกมาเลเซียจับได้” พ.ต.ท.บรรเจิด กล่าว

“ตามปกติ เมื่อมีเรือพวกนี้ผ่านมา มาเลเซียเขาไม่ได้ประสานอะไรกับเราเพิ่ม มีแต่แจ้งให้เราทราบอยู่”

เจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงคนหนึ่งของมาเลเซียปฏิเสธรายงานดังกล่าว และพูดกับเบนาร์นิวส์โดยไม่ประสงค์ออกนาม เนื่องจากไม่มีอำนาจที่จะพูดกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่องนี้

“ไม่มีเรื่องเช่นนั้นเกิดขึ้น เรือลำสุดท้ายที่เทียบท่าที่นี่ คือเรือที่ขึ้นฝั่งที่เกาะลังกาวี เมื่อเร็ว ๆ นี้” เจ้าหน้าที่มาเลเซียดังกล่าวบอก เมื่อถูกถามถึงเรือสามลำข้างต้น

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ทางการมาเลเซียได้ลากเรือที่เสียลำหนึ่งเข้าฝั่ง และกักตัวชาวโรฮิงญาจำนวน 269 คนเอาไว้ หลังจากที่ชาวโรฮิงญาหลายสิบคนกระโดดหนีออกจากเรือ และว่ายน้ำไปยังเกาะลังกาวี เกาะที่อยู่ทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมาเลเซีย นี่เป็นครั้งแรกในรอบกว่าสองเดือนที่ผ่านมา ที่มาเลเซียอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่งได้

สองวันต่อมา หัวหน้าหน่วยยามฝั่งของมาเลเซียกล่าวว่า เรือของชาวโรฮิงญาอีกลำหนึ่ง ที่มีชาวโรฮิงญาจำนวน 300 คน กำลังหลบอยู่ที่ทางเหนือของเกาะลังกาวี นอกเกาะอาดังของไทย เรือมาเลเซียได้กันไม่ให้เรือลำนี้เข้าไปยังน่านน้ำของมาเลเซียหลายครั้ง เขากล่าว ส่วนกองทัพเรือไทยกล่าวว่า ไม่พบเรือลำดังกล่าว

หลังจากนั้น ได้มีการพยายามติดต่อหน่วยป้องกันน่านน้ำมาเลเซีย แต่ไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่ความมั่นคงคนที่พูดกับเบนาร์นิวส์เมื่อวันพุธ ยอมรับว่า เรือลำดังกล่าวนั้นไม่ได้อยู่ที่เกาะอาดังอีกต่อไปแล้ว จากการเฝ้าตรวจด้วยโดรน และการลาดตระเวนทางอากาศ

“เรือลำนั้นอาจอยู่ในทะเลอันดามันอีกครั้ง หรือมุ่งหน้าไปยังจังหวัดอาเจะฮ์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด” แหล่งข่าวกล่าว โดยบอกว่ามาเลเซียจะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทางทะเลของไทยเพื่อตามหาเรือลำนั้น

มีเรือลำอื่นอีก

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายประเทศในภูมิภาคนี้ได้ปิดพรมแดนประเทศ เพราะกลัวการแพร่ระบาดของโควิด-19

กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม ได้ออกมาเตือนถึงผลกระทบของการปิดพรมแดนที่มีต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวนมากและผู้อพยพอื่น ๆ ที่ปกติแล้วจะเดินทางล่องเรือมายังแถบประเทศที่เป็นศูนย์กลางที่จะสามารถทำงานได้ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปี

เมื่อเดือนเมษายน มีรายงานว่าชาวโรฮิงญาหลายร้อยคน ทั้งชาย หญิง และเด็ก ต้องอดอยากหิวโหย เมื่อถูกนำตัวขึ้นฝั่งในประเทศบังกลาเทศ หลังจากเดินทางเป็นระยะเวลาเกือบสองเดือน เพื่อไปยังประเทศมาเลเซีย แต่เข้าประเทศไม่ได้ เป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาหลายสิบรายเสียชีวิต ในระหว่างการเดินทางครั้งนั้น เจ้าหน้าที่และผู้รอดชีวิตกล่าว

ในกรุงเทพฯ ฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) องค์กรต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียยอมให้เรือของชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่งได้ นี่เป็นองค์กรหนึ่งจากหลายองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ได้ออกมาเรียกร้องเช่นนั้น ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้

“ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ควรยอมให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา และผู้ที่รอดพ้นเงื้อมมือจากการค้ามนุษย์ขึ้นฝั่งได้ ชาวโรฮิงญาเป็นผู้รอดชีวิตจากการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่ถูกปล่อยให้ตายกลางทะเล” พุทธณี กางกั้น นักวิจัย องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ บอกแก่เบนาร์นิวส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

“เรารู้ว่ายังมีเรือลำอื่น ๆ อยู่กลางทะเลอีก” เธอกล่าวเสริม

มาเลเซียยอมรับว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นมา ได้กีดกันเรือมากกว่ายี่สิบลำ ไม่ให้เข้ามาในน่านน้ำมาเลเซีย แม้ทางการจะไม่ได้ระบุว่าเรือเหล่านั้นเป็นเรือประเภทใดก็ตาม

ในงานแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนเมื่อวันพุธ นายอิสมาแอ ซาบรี ยาค็อบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของมาเลเซีย กล่าวว่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 16 มิถุนายน มาเลเซียได้กักตัวผู้อพยพ จำนวน 850 คน ที่พยายามเข้าประเทศ และจับกุมผู้ที่กระโดดเรือหนี จำนวน 153 คน ผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ จำนวน 12 คน “และเรือจำนวน 18 ลำ”

ดูเหมือนว่า นายฮิชัมมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย จะตอบโต้คำวิพากษ์วิจารณ์ต่อจุดยืนปัจจุบันของมาเลเซียที่มีต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

“สิ่งที่เราทำให้แก่ชาวโรฮิงญามาตลอดนั้น ถ้ามองให้ดี ๆ จะเห็นว่าไม่น้อยเลย และชาวโรฮิงญาที่เคยอาศัยอยู่ในมาเลเซีย ก็มีจำนวนนับแสนคน บรรดาประเทศที่สามที่ได้สัญญากับมาเลเซียว่า จะให้เงินช่วยค่าอาหารและที่พักพิงของชาวโรฮิงญาในมาเลเซียนั้น ไม่เคยทำตามคำสัญญา ดังนั้น จึงไม่ยุติธรรมที่ประเทศเหล่านั้นจะกล่าวหาว่า มาเลเซียไร้มนุษยธรรม ปัญหาเกี่ยวกับชาวโรฮิงญาต้องได้รับการแก้ที่ต้นตอ” เขากล่าว

ชาวโรฮิงญาเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ในประเทศเมียนมา การใช้ความรุนแรงหลายระลอกที่กระทำต่อชาวโรฮิงญา ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนกว่าหนึ่งล้านคน ต้องหนีเข้าไปในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ และถูกกักตัวไว้ในค่ายผู้ลี้ภัยที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง