พูโลและสมาชิกครอบครัว 103 คน เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ

มารียัม อัฮหมัด
2018.02.14
ปัตตานี
180214-TH-PULO-DNA-1000.jpg เจ้าหน้าที่ดำเนินกรรมวิธีตรวจเก็บดีเอ็นเอ ผู้ร่วมขบวนการพูโลมอบตัว เพื่อเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 อำเภอสายบุรี ปัตตานี วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นานิวส์

สมาชิกขบวนการพูโลที่หนีไปอยู่ในประเทศมาเลเซียและสมาชิกครอบครัว 103 คน ได้มอบตัวต่อทางการเพื่อร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน เมื่อเร็วๆ นี้ และได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ในวันพุธนี้

พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ในกิจกรรมวันนี้ เจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ทำการตรวจดีเอ็นเอผู้ที่รายงานตัวเข้าร่วมโครงการ ใช้ยืนยันว่าเป็นคนไทยจริง ก่อนการดำเนินการออกหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ และทางการจะได้ชี้แจงให้ทราบถึงกระบวนการขั้นตอนโครงการพาคนกลับบ้าน

"วันนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการที่จะต้องพิสูจน์สัญชาติ 103 คน เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นคนสัญชาติไทย หลังจากนั้นจะนำสู่กระบวนการขั้นตอนโครงการฯ ยืนยันว่าจะดูแลทุกคนด้วยความยุติธรรมตามกระบวนการกฎหมายไทย ซึ่งในขณะนี้มีผู้ที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้ว จำนวน 24 คน" พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

สำหรับสมาชิกพูโลนั้น มีตั้งแต่ที่มีอายุในวัยฉกรรจ์จนถึงวัยสูงอายุ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวว่าได้ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอมอบตัวแต่ไม่ได้ระบุห้วงเวลาอย่างชัดเจน

นายเลาะ อายุ 65 ปี หนึ่งในสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า ตนเองได้หนีไปมาเลเซียเมื่อสามสิบปีก่อน จนมีลูกหลานรวมหลายสิบคน

“สามสิบปีแล้วที่เขาไม่ได้กลับบ้าน หนีไปอยู่มาเลย์จนมีลูก 5 คน ตอนนี้มีหลานอีกหลายสิบคน วันนี้ก็ได้กลับมาหมดแล้ว ได้เจอญาติ ลูกก็ได้กลับบ้าน และจะมีเอกสารสิทธิ์ว่าเป็นคนไทย” นายเลาะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

"ดีใจมาก ขอบคุณโครงการนี้ที่ทำให้ได้กลับบ้านสิ่งที่อยากได้ หลังจากนี้ คืออาชีพ ถ้าเป็นไปได้อยากได้อาชีพที่อยู่ใกล้เขตแดนไทยมาเลย์ เพราะพอมีลู่ทางทำมาหากินได้บ้าง ที่สำคัญ  สามารถคุยกับคนอื่นที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการให้กลับเข้ามาร่วมโครงการได้ด้วย  เพราะจะเดินทางง่ายและสะดวก" นายเลาะ กล่าวเพิ่มเติม

ส่วนหลานสาววัย 5 ขวบ ของนายเลาะ กล่าวว่า "ดีใจมากที่ได้กลับมา ไม่คิดเลยว่าจะได้กลับมา อยู่ที่นู่นก็เรียนหนังสือไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้กลับมาตั้งใจจะเรียนหนังสือ ขอบคุณทุกคนที่ทำให้เขาได้กลับบ้าน"

ในกิจกรรมในวันนี้ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.เฉลิมพล จินนารัตน์ ผู้แทนเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายบรรจบ จันทรัตน์ ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย นายวีรนันท์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ได้เข้าร่วมดำเนินการโดยพร้อมเพรียงกัน

“ทั้ง 103 คน ถือเป็นการนำร่อง ซึ่งหากจะให้สำเร็จได้ รัฐบาลต้องมีความจริงใจและควรตั้งคณะกรรมการที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง เพราะว่าเรื่องการพิสูจน์มีหลายขั้นตอน ทั้งศอ.บต.และกอ.รมน. ต้องร่วมมือกัน หากติดปัญหาเรื่องกฎหมายก็มาคิดรวมกันว่าจะปรับแก้อย่างไรได้บ้าง" นายแวดือราแม กล่าว

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานกลุ่มพูโล กลุ่มก่อความไม่สงบ กลุ่มหนึ่งในหลายกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ที่อาศัยอยู่นอกประเทศไทย ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ หลังจากถูกถามถึง ข่าวการเข้ามอบตัวเพื่อเข้าร่วมโครงการพาคนของอดีตสมาชิกพูโล และ บีอาร์เอ็น ร่วม 2000 คน ตามที่สื่อท้องถิ่นในประเทศไทยรายงานข่าววันที่ 2 ก.พ. ว่า หลังจากการตรวจสอบแล้ว ไม่มีสมาชิกของกลุ่มพูโล หรือ กลุ่มบีอาร์เอ็น เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน   

“ผมขอย้ำว่า ไม่มีสมาชิกคนใดในมาเลเซีย และในยุโรปได้เข้าร่วมกับโครงการพาคนกลับบ้าน” กัสตูรีกล่าว “สมาชิกทุกคนพร้อมดำเนินการต่อสู้ และกลุ่มพูโลยังคงมีอยู่ และกระบวนการเลือกตั้ง เพื่อจัดตั้งสภาสูงสุดของกลุ่มยังคงดำเนินต่อไป”

และเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ พล.ท.ปิยวัฒน์ ได้จัดกิจกรรมเปิดและเผยแพร่โครงการพาคนกลับบ้านอย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดเผยว่า ได้มีการปรับวิธีดำเนินการในโครงการพาคนกลับบ้านใหม่หมด โดยโครงการมี 6 ขั้นตอนด้วยกัน คือ ขั้นตอนที่ 1 การรณรงค์สร้างความเข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องของทุกส่วนราชการที่ต้องรับไปดำเนินการ ตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงระดับอำเภอ ขณะเดียวกัน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา ต้องมีส่วนร่วม ขั้นตอนที่ 2 รับรายงานตัวและปรับทัศนคติ ซึ่งกรอบในการดำเนินงานกลุ่มนี้ จะให้ความสำคัญต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีชื่อในระบบฐานข้อมูล หมายพรก. หมายป.วิอาญา ขณะเดียวกันระหว่างการอบรมปรับเปลี่ยนทัศนคติ ได้พาไปดูงานหมู่บ้านปิยะมิตรของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

ส่วนขั้นตอนที่ 3 คือ การปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมาย และอำนวยความสะดวกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนที่ 4 การขับเคลื่อนชมรมพาคนกลับบ้าน โดยได้จัดตั้งไว้แล้ว 37 ชมรม อำเภอละหนึ่งชมรม ขั้นตอนที่ 5 การส่งเสริมอาชีพและการฝึกอาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สามารถดำรงชีวิตได้อยู่อย่างปกติสุข และขั้นตอนที่ 6 เมื่อกลับสู่ภูมิลำเนา จะมีการควบคุมและดึงมาช่วยกันสร้างสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง