นายกฯ ระบุ บีอาร์เอ็นอยากร่วมคุยสันติสุข ต้องแจ้งทางประเทศผู้อำนวยความสะดวก

อารยา โพธ์จา และ ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2017.04.11
กรุงเทพ และปัตตานี
TH-police-1000 ตำรวจตระเวนชายแดน ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุระเบิดเสาไฟฟ้าและเก็บกู้ระเบิดที่คนร้ายผูกติดไว้กับเสาไฟฟ้า ริมถนนสาย 42 อำเภอมายอ ปัตตานี วันที่ 7 เมษายน 2560
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์  (11 เมษายน 2560) นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงกระแสข่าวที่ขบวนการบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ในทำนองที่ไม่ยอมรับการเจรจาสันติสุขของมาราปาตานีกับรัฐบาลไทยว่า บีอาร์เอ็นควรไปเสนอขอร่วมเจรจาโดยผ่านทางการมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวก เพราะประเทศไทยไม่สามารถพูดคุยกับผู้ก่อความไม่สงบบนแผ่นดินไทยได้โดยตรง

หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลว่า ทางรัฐบาลไทยไม่ได้นำแถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มาขยายความใดๆ

“เรื่องการเผยแพร่ข่าวของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ก็เราก็ไม่ได้มาขยายความเขาหรอก มันก็ต้องไปอยู่ในกระบวนการของการพูดคุยสันติสุขโน่น ไม่ว่าใครก็ตามที่จะมาพูดคุยต่างๆ กับเรา ก็ในเมื่อประเทศมาเลเซียเขาเป็นผู้อำนวยความสะดวกใช่ไหม ก็ต้องยื่นความประสงค์กันตรงโน้น เพราะเราก็พูดคุยกับใครไม่ได้ในดินแดนประเทศไทยอยู่แล้วไง เข้าใจหรือยัง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“ใครที่มีชื่อเป็นกลุ่มก่อการร้ายคุยด้วยไม่ได้ รัฐบาลคุยด้วยไม่ได้ ในประเทศดินแดนไทยไม่ได้ ค่อยไปหาทางออกกันตรงโน้น” นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติม

อย่างก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราไม่ได้เรียกบีอาร์เอ็นว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายในประเทศไทย ถึงแม้ว่าบีอาร์เอ็นจะมีคำนิยามต่าง แต่รัฐบาลไทยเรียกว่าผู้เห็นต่าง เพราะมีสมาชิกเพียงส่วนน้อย

ในเรื่องที่บีอาร์เอ็น เรียกร้องให้ มีบุคคลที่สาม (ประชาคมนานาชาติ) เป็นผู้สังเกตการณ์ และพยาน ในการพูดคุยนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าไม่มีความจำเป็น

“ในเรื่องของการจะเอาองค์กรระหว่างประเทศ ทำไมล่ะ ประเทศไทยของเรา เราก็แก้ปัญหากันเองไม่ได้เหรอ ให้ใครเขาเข้ามาทำไม เข้ามาแล้วเขาจะรู้เข้าใจอะไรไหมล่ะ คนที่น่าเชื่อถือมันก็ต้องเชื่อถือรัฐบาล... เพราะว่าวันนี้ รัฐบาลก็ยืนยันชัดเจน เราต้องการให้สถานการณ์มันสงบให้ได้โดยเร็ว สาเหตุมาจากตรงไหนก็ตาม ก็ต้องไปสอบหาสาเหตุตรงนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

เมื่อวันจันทร์นี้ บีอาร์เอ็น ซึ่งขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใหญ่ที่สุด ได้ออกแถลงการณ์ที่ไม่บ่อยครั้งนัก เสนอแนะให้ประเทศไทยเจรจากับผู้แทนการเจรจาที่ได้รับฉันทานุมัติและได้รับมอบอำนาจให้ทำการเจรจาอย่างถูกต้อง และให้การเจรจาเป็นไปตามมาตรฐานสากล

คำแถลงการณ์ของแผนกสารนิเทศบีอาร์เอ็น ลงวันที่ 10 เมษายน 2560 มีรายละเอียดท่อนหนึ่งว่า “ต่อกรณีการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่นั้น ต้องเป็นการเจรจาของตัวแทนที่ได้รับฉันทานุมัติและได้รับมอบอำนาจให้ทำการเจรจาอย่างถูกต้อง โดยคณะกรรมการการเจรจาของทั้งสองฝ่าย และให้การเจรจาเป็นไปตามมาตรฐานสากล  ส่วนรูปแบบกระบวนการเจรจาต้องถูกกำหนดโดยผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เจรจา ไม่ใช่กลุ่มอื่นๆ เพื่อจะเป็นการเสริมสร้างการเชื่อใจกัน เป็นการให้เกียรติแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง”

นอกจากนั้น มีการแถลงข้อเสนอสำคัญ คือ หนึ่ง การพูดคุยต้องเกิดจากการยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้ง และสมัครใจจะหาทางออกร่วมกัน และการพูดคุยต้องมีบุคคลที่สาม (ประชาคมนานาชาติ) เป็นผู้สังเกตการณ์และพยาน

สอง ผู้ไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งต้องมีความน่าเชื่อถือและถือหลักปฏิบัติตามมาตรฐานสากล นั่นคือ ต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้ไกล่เกลี่ยต้องดำเนินการพูดคุยตามที่ผู้เจรจาทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้

สาม กระบวนการเจรจาต้องได้รับการออกแบบอย่างชัดเจนและเห็นชอบร่วมกัน โดยคู่เจรจาทั้งสอง ก่อนเริ่มต้นเจรจา

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และองค์กรมาราปาตานีได้บรรลุข้อตกลงในกรอบการดำเนินการเพื่อจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง” เพื่อเป็นการทดลองตั้ง หนึ่งอำเภอเป็นพื้นที่ปลอดภัย เบื้องต้นได้ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอพื้นที่ที่น่าจะเป็นไปได้ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 5 พื้นที่ เพื่อเสนอแล้วจะคัดเลือกให้เหลือเพียงหนึ่งพื้นที่

ส่วนเรื่องที่บีอาร์เอ็นเพิ่งจะออกมาแถลงการณ์นั้น พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้กล่าวว่า ข้อเสนอของทางบีอาร์เอ็นเป็นเรื่องเก่า ตั้งแต่สมัย ปี 2556 และถือเป็นเรื่องภายในของบีอาร์เอ็นเอง

“การพูดคุยเดินหน้ามาจนถึงขนาดนี้แล้ว ในส่วนของการเปลี่ยนตัวชุดคณะพูดคุยฯ และเปลี่ยนประเทศอำนวยความสะดวกนั้น อาจจะเกิดความผิดพลาดก็ได้ ซึ่งตรงนี้ เราไม่รู้และเราให้ทางมาราปาตานีไปจัดการ เพราะถือว่าเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วยกัน ต้องไปดูว่าเป็นอย่างไร และไปดูว่าเป็นใคร ซึ่งมีพวกที่ตกขบวนการพูดคุยอยู่ เขาก็อยากเข้าร่วม เพราะกลุ่มบีอาร์เอ็นเห็นดด้วยกับการพูดคุย และทุกพวกทุกฝ่ายก็อยากมาเข้าร่วม และเขาอยากจะคุยกับรัฐบาลไทย” พลเอกอักษรา กล่าว อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง