วิกฤตผู้อพยพเรือ: มาเลเซียเตรียมส่งกลับ ชาวบังกลาเทศ 680 คน

โดย ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.05.19
TH-SEA-migrants-620 ชาวบังกลาเทศที่ได้รับความช่วยเหลือ กำลังสวด ขณะที่เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียทำการพ่นยา ในโรงนอนชั่วคราว ที่คลังสินค้า ในลังสา จังหวัดอาเจะห์ วันที่ 19 พฤษภาคม 2558
เอเอฟพี

มาเลเซียเตรียมส่งกลับ ชาวบังกลาเทศ 680 คน ที่เป็นแรงงานอพยพผิดกฎหมาย ส่วนหนึ่งที่มาพร้อมกับการหลั่งไหลทางทะเล และได้ขึ้นฝั่ง ทางตะวันตกของมาเลเซีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายวัน จูไนดี ตวนกู จาฟาร์ (Wan Junaidi Tuanku Jaafar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซีย (Wan junaidi Tuanku Jaafar) เปิดเผยเมื่อวันอังคาร

"ผู้อพยพผิดกฎหมายชาวบังกลาเทศจะถูกส่งกลับไปยังประเทศของพวกเขา"  นาย วัน จูไนดิ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในล็อบบี้รัฐสภาว่า รัฐบาลจะส่งชาวบังกลาเทศกลับ ทันทีที่จัดการเอกสารของพวกเขาเสร็จเรียบร้อย

ผู้อพยพผิดกฎหมายชาวบังกลาเทศเป็นส่วนหนึ่งในผู้อพยพเกือบ 1,000 คน ที่ถูกช่วยเหลือจากเรือของกลุ่มลักลอบผิดกฎหมาย ค้ามนุษย์ ให้ขึ้นฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของ เกาะลังกาวี หรือบางส่วนก็ว่ายน้ำเข้ามา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558

ในกลุ่มนี้ ยังรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ผู้อพยพชาวโรฮิงญาอีกประมาณ 400 คน – ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมไร้รัฐและสัญชาติ จากประเทศเมียนมา รัฐบาลมาเลเซียวางแผนที่จะส่งมอบพวกเขาให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) นาย วัน จูไนดิ กล่าว

ซึ่งก็จะต้องขึ้นอยู่กับ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ ว่าจะตัดสินใจ ให้มีการออกบัตรผู้ลี้ภัยให้คนเหล่านี้ หรือ “จะส่งต่อไปประเทศที่สาม" เขากล่าวเสริม

อีกฝั่งของช่องแคบมะละกา ที่ประเทศอินโดนีเซีย พบผู้อพยพผิดกฎหมายจำนวน 1350 คน ที่ได้รับการช่วยเหลือจากชาวประมง จังหวัดอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย แม้รัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย จะมีนโยบายกำหนดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไม่ให้รับเรือผู้อพยพเข้าฝั่ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของทั้งสามประเทศ ได้กำหนดการประชุมภาคีร่วม ในกรุงกัวลาลัมเปอร์วันพุธนี้ เพื่อหารือวิกฤตผู้อพยพเรือ และในวันที่ 29 พฤษภาคม ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ การประชุมใหญ่นานาชาติ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปํญหาวิกฤตนี้ร่วมกัน

ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ เจ้าหน้าที่รัฐได้กล่าวเมื่อวันอังคารว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ ได้ลงนามในอนุสัญญาเกี่ยวกับสถานภาพของผู้อพยพ 1951 และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือผู้อพยพเรือ

"ในฐานะที่เป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประชากรส่วนใหญ่ เป็นชาวคาทอลิก นับเป็นหน้าที่ของเราที่จะให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่เดือดร้อน" โฆษก ประธานาธิบดี เฮอร์ไมนิโอ โคโลมา (Herminio Coloma) กล่าวแก่ เอเอฟพี  โดยไม่ให้รายละเอียด

รัฐบาลมีความกดดันเพิ่มขึ้น

ในวันอังคาร ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย นักบัญญัติกฎหมาย มูฮัมหมัด นาเซียร์ จาเมล วิจารณ์การบริหารจัดการของรัฐบาลต่อวิกฤตนี้

"รัฐบาลอินโดนีเซียค่อนข้างอ่อน ทำให้ไม่สามารถตอบรับ และเสนอความช่วยเหลือ ด้านมนุษยธรรมในวิกฤติของภูมิภาคนี้ได้ทันท่วงที" เขากล่าวแก่ เบนาร์นิวส์

"รัฐบาลควรมีการตัดสินทางการเมืองร่วมกัน  เพื่อกดดันให้รัฐบาลเมียนมา ยุติความขัดแย้งต่อการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา และหันมาช่วยเหลือพลเมืองของตนเอง ที่ขณะนี้ยังติดอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย" เขาเอ่ยแก่ เบนาร์นิวส์
ในบันดา อาเจะห์ เมืองหลวงของอะเจห์ ได้มีผู้ชุมนุมร่วมร้อยคน เปิดฉากประท้วง ให้การสนับสนุนผู้อพยพข้ามชาติ ทั้งเรียกร้องให้มีการดำเนินการระหว่างประเทศ ให้ช่วยเหลือผู้ที่ยังคงลอยเคว้งคว้างในทะเล

"คนของอาเจะห์ได้สร้างตัวอย่างที่ดี" ผู้ประสานงาน การชุมนุม ดาร์ลิส อาซิซ (Darlis Aziz) กล่าวแก่ เบนาร์นิวส์

"เมื่อรัฐบาลทุกประเทศพากันปฏิเสธให้ความช่วยเหลือ เราต้องช่วยพวกเขา น่าจะสร้างความละอายใจให้กับรัฐบาล" เขากล่าว

"ลองคิดดู หากเราหรือญาติตกที่นั่งลำบากแบบพวกเขา นี่จะเป็นเวลาพิสูจน์ให้เห็นว่า เราช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ พวกเขาเป็นคน ไม่ใช่สัตว์" ดาร์ลิส กล่าวเสริม

เติงกู ไฟซาล อาลี (Teungku Faisal Ali) ซึ่งเป็นหัวหน้าสาขาประจำจังหวัด ของ นาดาตูล อูลามา (Nadhlatul Ulama) กลุ่มอิทธิพล มุสลิมอินโดนีเซียน สะท้อนความรู้สึกว่า

"ในฐานะที่เป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม อินโดนีเซียต้องจัดการทันที" เขากล่าวแก่  เบนาร์นิวส์

อินโดนีเซียและประเทศในอาเซียน ต้องกดดัน ชาวพุทธในเมียนมา ให้ยอมรับชาวโรฮีนจา ในฐานะพลเมืองของชาติ และมีสิทธิเท่าเทียมกัน เขากล่าว

"ฉันวิตกว่า หากไม่มีการดำเนินการเป็นรูปธรรมทันที อาจจะเกิดความขัดแย้งขึ้น ในอินโดนีเซีย และอาจเป็นสาเหตุให้มีการแก้แค้นชาวพุทธ" ไฟซาล กล่าวเตือน

"หากความขัดแย้งทางศาสนาปะทุขึ้น รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อวิกฤตความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ที่เกิดขึ้นในทะเลครั้งนี้" เขากล่าว

ในประเทศมาเลเซีย มีการเรียกร้องต่อรัฐบาลที่คล้ายกัน ให้รัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในตำแหน่งประธานอาเซียน กดดันเมียนมา เพื่อช่วยเหลือปลดทุกข์ทรมานแก่ชาวโรฮีนจา

"ถ้าเมียนมา ไม่แก้ไขปัญหานี้ เราต้องขับไล่เมียนมาออกจากอาเซียน"  ซาฮิดิ ไซนัล อบิดิน (Zahidi Zainul Abidin) หนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทน ประจำปาดังเบซาร์ แถลงที่รัฐสภา ในวันอังคารมาเลเซียน อินไซเดอร์ รายงาน

"ชีวิตมนุษย์มีความสำคัญมากกว่าเศรษฐกิจของอาเซียน นี่เป็นเรื่องที่น่าอับอาย" ซาฮิดิ เสริม

เขตเลือกตั้งของเขาครอบคลุมแนวชายแดนติดกับภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดขนส่งและทางผ่านสำหรับการลักลอบค้ามนุษย์ ผู้อพยพข้ามชาติ เข้ามาในประเทศมาเลเซีย

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ที่ขุดพบศพของผู้อพยพกว่า 30 ศพ เมื่อต้นเดือน ก่อให้เกิดการจับกุมและกวาดล้างการค้ามนุษย์ครั้งใหญ่ พร้อมทั้งห้ามรับผู้อพยพเรือลักลอบขึ้นฝั่ง

เมียนมาปฏิเสธว่า ผู้อพยพเหล่านั้น ไม่ได้มาจากประเทศของตน ทั้งยังกล่าวว่า อาจจะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอด ในวันที่ 29 พฤษภาคม นี้ในกรุงเทพฯ อีกด้วย

องค์กรระหว่างประเทศเรียกร้องเร่งด่วน

ล่าสุดนี้ สหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ได้ออกแถลงการณ์ร่วม เพื่อเรียกร้องให้ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ช่วยชีวิตผู้อพยพที่ติดอยู่ในทะเล

"เรามีความกังวลเป็นอย่างมาก เมื่อรับรายงานว่า เรือเหล่านั้นเต็มไปด้วยผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก จำนวนมาก ที่อ่อนแอ ไม่สามารถขึ้นฝั่งได้ และติดอยู่ในทะเล โดยปราศจาก อาหาร น้ำดื่ม และการช่วยเหลือทางการแพทย์" กล่าว จากแถลงการณ์ร่วม ลงนามโดย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และหน่วยงานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยและสิทธิมนุษยชน หลายหน่วยงาน

"เราเร่งให้รัฐทั้งหลายในภูมิภาค ปกป้องหลายชีวิตต่างแดน โดยการอนุญาตให้ผู้อพยพบนเรือที่แออัดเหล่านั้นได้ขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย"

เนอร์ดิน ฮาซัน มาเอสวารา ปาลูปี และฮาตา วาฮาริ มีส่วนร่วมในการรายงานนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง