เจ้าหน้าที่ไทยย้ำ ปราบปรามการค้ามนุษย์ต่อไป ไม่สนรายงานสหรัฐ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.06.26
กรุงเทพฯ
200626-TH-TIP-report-rohingya-1000.jpg เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือภาคที่ 3 พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ควบคุมตัวชาวโรฮิงญา บริเวณระหว่างเกาะห้ากับเกาะลันตา อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ วันที่ 1 เมษายน 2561
เบนาร์นิวส์

พล.ต.ต. วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ ปคม.กล่าวในวันศุกร์นี้ว่า เจ้าหน้าที่ไทยยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งต่อไป แม้ว่าทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะยังจัดประเทศไทยอยู่ให้ในกลุ่ม Tier-2 เป็นปีที่สาม ขณะเดียวกัน องค์กรเอ็นจีโอ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ไทยยังไม่มีแนวทางช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ชัดเจน และยังไม่สามารถสอบสวนหาตัวการเบื้องหลังการค้ามนุษย์ได้

ทั้งนี้ เมื่อคืนวานนี้ (ตามเวลาในประเทศไทย) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report หรือ TIP) ประจำปี 2563 โดยได้จัดประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่ม Tier-2 หรือประเทศที่ดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำโดยสมบูรณ์ แต่มีความพยายามในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาอย่างมีนัยสำคัญ เป็นปีที่สาม หลังจากปรับประเทศไทยขึ้นมาจากกลุ่ม Tier-2 Watch List หรือ กลุ่มประเทศที่กำลังพยายามอย่างมาก ที่จะให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐฯ เมื่อปี 2559

“สถานการณ์การค้ามนุษย์ แม้จะอยู่ในเทียร์-2 แต่สำหรับ ปคม. ก็ทำเต็มที่เหมือนเดิม ผู้ต้องหามีการพัฒนารูปแบบการกระทำผิดไป เราก็พยายามปรับตัวมากขึ้น มีการติดต่อทางอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก และไลน์มากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทุกหน่วยประสานความร่วมมือมากขึ้น จากมูลนิธิ เอ็นจีโอ พม. มีความร่วมมือมากขึ้น” พล.ต.ต.วรวัฒน์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ถ้าดูตัวเลข ปีนี้คดีน้อยลง ภาพรวมจับได้ 75 คดี จากปีที่แล้วเกือบ 300 คดี เพราะโควิด พอไม่ออกนอกบ้านก็ไม่มีการกระทำผิด แต่ก็จะเกิดสื่อออนไลน์ ลักษณะการขายตรงมากขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็จับกุมทางสื่อออนไลน์มากขึ้น ซึ่งจับไปทั้งหมด 50 กว่าเคส ในปีนี้” พล.ต.ต.วรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม

รายงานดังกล่าวระบุว่า ปี 2562 ประเทศไทยดำเนินการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับคดีการค้ามนุษย์อยู่ 288 คดี จากปี 2561 จำนวน 304 คดี มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายแล้ว 386 ราย ขณะที่ปี 2561 มี 438 ราย และมีการตัดสินลงโทษผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์แล้ว 304 ราย ขณะที่ปี 2561 มี 316 ราย โดยประเทศไทยระบุว่า ปี 2562 มีเหยื่อการค้ามนุษย์ทางเพศ และแรงงาน 868 ราย ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีเหยื่อ 631 ราย มีผู้เข้าสู่การคุ้มครองพยาน 193 ราย ขณะที่ปี 2561 มีเพียง 15 ราย และมีผู้พิพากษา 30 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 200 นาย ได้เข้าสู่การอบรมเกี่ยวกับการป้องกันการค้ามนุษย์

“รัฐบาลไทยยังไม่สามารถดำเนินกระบวนการต่อต้านการค้ามนุษย์ได้ในระดับมาตรฐาน แต่ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายาม รัฐบาลได้แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาในภาพรวม หากเทียบกับในปีที่ผ่านๆ มา ทำให้ไทยยังอยู่ในระดับเทียร์-2” รายงานดังกล่าวระบุเหตุผลที่ยังคงระดับประเทศไทยไว้ในกลุ่มเดิม

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยว่า ได้มีการอบรมผู้พิพากษาในเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์ และการดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์ รวมทั้งตัดสินจำคุกผู้กระทำผิดเป็นเวลานาน รวมทั้งได้เพิ่มเงินชดเชยให้แก่เหยื่อการค้ามนุษย์

นอกจากนั้น รายงานระบุถึงสิ่งที่ยังบกพร่องว่า “เจ้าหน้าที่ยังคงเหมารวมการค้ามนุษย์กับการลักลอบนำพามนุษย์ในช่วงการทำรายงานนี้ ยังไม่มีระบบการระบุแยกแยะเหยื่อออกมาให้ดีเพียงพอ รัฐบาลยังไม่มีการให้ความช่วยเหลือทางสังคมจิตวิทยาแก่เหยื่อที่พักพิงอยู่ในสถานที่ของรัฐ หรือการอนุญาตให้เขาไปไหนมาไหนได้”

เอ็นจีโอ: ไม่ถือเป็นการบั่นทอนกำลังใจ

นายอดิศร เกิดมงคล จากกลุ่ม Migrant Working Group กล่าวว่า การที่รัฐบาลสหรัฐฯ คงระดับสถานะการค้ามนุษย์ของประเทศไทยไว้เช่นเดิม ไม่ถือเป็นการบั่นทอนกำลังใจ พร้อมระบุ ประเด็นหลัก ประเทศไทยยังไม่มีกลไกชัดเจนในการบังคับใช้กฏหมาย ดูแลผู้ประสบทุกข์ รวมทั้งชาวโรฮิงญา และยังไม่สามารถเชื่อมโยงการกระทำผิดไปยังนายทุนหรือผู้อยู่เบื้องหลังได้

“การคงสถานะไทยอยู่เทียร์-2 น่าจะเป็นเหมือนการกระตุ้นให้ทำงานต่อไปมากกว่าจะเป็นการลดทอนผลงาน” นายอดิศร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ถ้ามองในแง่ของกฎหมาย ประเทศไทยก็ถือว่าดีขึ้นระดับนึง มีกฎหมายใหม่ ออกมาจัดการกับแรงงานบังคับ แต่เรื่องที่น่าห่วงใย คือ การบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาหลักของประเทศไทย คือการบังคับใช้กฎหมายเรื่องค้ามนุษย์ เพราะยังไม่มีกลไก หรือหลักประกันว่าจะใช้กฎหมายได้จริง ยังไม่เห็นกลไกดูแลผู้เสียหายหรือผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า กระทรวงแรงงาน หรือ กระทรวง พม. รับผิดชอบ” นายอดิศรกล่าว

“ประเด็นใหญ่ของประเทศไทยอีกอย่าง คือ การดูแลโรฮิงญา ในช่วงแรกเหมือนกับว่าไทยจะพยายามจัดการ แต่พอผ่านเวลามาก็ยังไม่เห็นความชัดเจน ปัญหาคือยังไม่สามารถเชื่อมโยงผู้กระทำผิดชั้นต้นไปหาผู้ที่เป็นนายทุนหรือที่อยู่เบื้องหลังได้” นายอดิศรระบุ

ในเรื่องการปราบปรามแก๊งค้ามนุษย์ ล่าสุด เมื่อวานนี้ ทางการมาเลเซียได้ส่งตัวนายมูฮัมหมัด หมินเย๊าะ ชาวสะเดา มาให้ทางการไทยดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและเมียนมา ที่กระทำไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2562 โดยเจ้าตัวกล่าวว่า ได้หลบหนีไปอยู่กับเพื่อนร่วมแก๊งในมาเลเซีย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการสืบสวนสอบสวนต่อไป

นอกจากนั้น นายอดิศรได้กล่าวเตือนว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างกลไกระยะยาว เพื่อจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์เรื่องนี้ เพราะหลังโควิดจะเกิดกรณีการค้ามนุษย์ขึ้นอีก

ด้าน นางสาวพุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ กล่าวว่า “รายงานฉบับล่าสุดได้ย้ำให้เห็นอีกครั้งว่า มีการกักบริเวณและการจำกัดอิสรภาพในการใช้เครื่องมือสื่อสารของเหยื่อค้ามนุษย์ ซึ่งหมายถึงไม่ได้มีพัฒนาการจากรายงานปี 2562 ชาวโรฮิงญา ถูกกักในสถานที่พักพิงของรัฐ และยังเผชิญกับการถูกจำกัดเสรีภาพและติดต่อสื่อสารกับญาติพี่น้องได้อย่างจำกัด”

นอกจากนั้น นางสาวพุทธณี กล่าวอีกว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเหยื่อค้ามนุษย์ โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา ได้รับค่าชดเชยตามคำสั่งศาล ที่เป็นทรัพย์สินที่จำเลยถูกยึดจากธุรกิจการค้ามนุษย์หรือไม่

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง