องค์กรสิทธิฯร่วมจัดเสวนา“บทบาทประชาคมโลกต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย”

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.03.15
กรุงเทพฯ
TH-seminar-upr-620 งานเสวนา"บทบาทประชาคมโลกต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย" ที่โรงแรมเดอะ ศุโกศล กรุงเทพ วันที่ 15 มีนาคม 2559
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/กรุงเทพ

ในวันอังคาร (15 มีนาคม 2559) นี้ องค์กรยูพีอาร์ อินโฟ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “บทบาทประชาคมโลกต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” เพื่อทำความเข้าใจกับสื่อมวลชน ถึงข้อเรียกร้องและข้อเสนอของภาคประชาชนที่จะเสนอต่อสหประชาชาติ

ซึ่งงานเสวนาในหัวข้อ “บทบาทประชาคมโลกต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” นี้ ได้จัดขึ้นที่ โรงแรมเดอะ ศุโกศล ในกรุงเทพฯ ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมกว่า 50 คน จากองค์กรต่างๆในด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนและประชาสังคม องค์กรเอ็นจีโอของไทย องค์กรระหว่างประเทศ และสื่อมวลชน

โดยมี นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล จากองค์กร Asylum Access Thailand และนางปิยนุช โคตรสาร จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวเปิดการเสวนา โดยกล่าวถึง ภาพรวมบทบาทประชาคมโลกผ่านกระบวนทบทวนการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodic Report - UPR) โดยชี้แจงว่า เมื่อเดือนตุลาคมปี 2554 รัฐบาลไทยได้เข้าร่วมกระบวนการ UPR กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมาแล้ว และได้รับข้อแนะนำด้านสิทธิมนุษยชนจากประเทศสมาชิกถึง 172 ข้อ ซึ่งประเทศไทยรับว่าจะปฎิบัติและดำเนินการในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเพียง 134 ข้อ โดยมีข้อเสนอแนะเด่นๆ เช่น สิทธิการแสดงความคิดเห็น สิทธิเด็กและสตรี สิทธิแรงงาน การค้ามนุษย์ และ การยกเลิกโทษประหารชีวิต เป็นต้น

กระบวนการ Universal Periodic Review หรือ UPR เป็นกลไกใหม่ ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council หรือ HRC) ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 192 ประเทศ จะต้องจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ หรือเรียกย่อๆ ว่ารายงาน UPR เพื่อเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน

รายงาน UPR ถือเป็นรายงานภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ในทุกด้าน เช่น สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งสิทธิของบุคคลกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศ ซึ่งประเทศไทย โดย กระทรวงการต่างประเทศ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำรายงาน UPR ของไทย แต่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานร่วมเป็นภาคีในการพิจารณาข้อมูลด้านต่างๆ

โดยวัตถุประสงค์ของรายงาน UPR นั้น เพื่อให้ทุกประเทศได้ประเมินตนเอง ในด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านการปรึกษาหารือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพื่อให้การประเมินอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง มีความสมบูรณ์รอบด้าน ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง เพื่อนำมาผลักดันและพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป

ด้านนางสาวเอมิลี ประดิษฐ์จิต จากยูพีอาร์ อินโฟ ได้กล่าวถึง ภาพรวมการดำเนินการตามแนวทาง UPR ของประเทศไทยว่า หลังจากการร่วมกระบวนการ UPR เมื่อปี 2554 ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้เดินหน้าดำเนินการตามข้อเสนอแนะที่รับมาปฎิบัติเพียง 11 เปอร์เซนต์เท่านั้น

“ถ้าเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย สถานการณ์ของประเทศไทยถือว่าย่ำแย่มาก ก่อนการรัฐประหาร รัฐบาลไทยมีความพยายามที่จะเดินหน้าแผนงาน (UPR) แต่หลังรัฐประหารไม่มีความคืบหน้า” นางสาวเอมิลีกล่าว

อย่างไรก็ตาม นางสาวเอมิลีเพิ่มเติมว่า การกล่าวประณามรัฐบาลในด้านลบ จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สื่อมวลชน องค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ  และภาคประชาชน จึงควรใช้การพูดคุย และเสนอแนะเชิงบวก น่าจะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่า

เพื่อให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง ก่อนที่จะถึงกระบวนการ UPR ซึ่งจะจัดขึ้นที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 องค์การด้านสิทธิมนุษยชนจึงได้มาร่วมกันประชุมครั้งนี้ เพื่อจัดทำข้อเสนอด้านสิทธิที่ภาคประชาชนเห็นควรให้รัฐบาลผลักดัน ส่งต่อให้ประชาชน สื่อมวลชน องค์กรระหว่างประเทศ และสถานทูตประเทศต่างๆได้ทราบข้อเรียกร้องของประชาชน และสถานการณ์ที่เป็นจริงในประเทศไทย

สถานการณ์ และข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนจากภาคประชาชน

เคท ครั้งพิบูลย์ ตัวแทนเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เสนอแนะว่า รัฐบาลไทยต้องผลักดันส่งเสริมสิทธิสตรี สิทธิการทำแท้ง สิทธิผู้ป่วยเอชไอวี และสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงแก้ไขพระราชบัญญัติการค้าประเวณีด้วย

“รัฐไทยต้องดำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ที่มีหลักประกันห้ามการเลือกปฎิบัติและอัตลักษณ์ทางเพศ และเพศวิถี รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกฎหมายรวมถึงนโยบาย” เคทกล่าว

นายพนม ทะโน เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนะให้รัฐบาลไทยยกระดับสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง แรงงานข้ามชาติ การให้สัญชาติแก่พวกชนเผ่า และการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

“รัฐจะต้องกำหนดนโยบายที่เอื้อให้แรงงานข้ามชาติ เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงกฎหมายเรื่องการค้ามนุษย์ที่ต้องทบทวน และให้มีการลงนามในปฏิญญาสากล เรื่องผู้อพยพย้ายถิ่น” นายพนมกล่าว

นางสาวจันทร์นภา คืนดี ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ที่ทำงานเรื่องที่ดิน น้ำและเขื่อน เสนอแนะให้รัฐบาลยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 44 เนื่องจากเห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญมาตรานี้จำกัดสิทธิการเรียกร้องและเคลื่อนไหวเพื่อรักษาสิทธิของชาวบ้านในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิทธิการรับรู้ข้อมูลโครงการพัฒนา เป็นต้น

“กลุ่มพวกเรามีความเห็นร่วมกันว่าในสถานการณ์ของประเทศไทยตอนนี้ มีกฎหมายหรือคำสั่งที่ควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น มาตรา 44 ควรยกเลิกทันที แล้วก็จัดให้มีการเลือกตั้ง และบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว ถึงจะมีความยุติธรรมในการดำเนินการทั้งหลาย” นางสาวจันทร์นภากล่าวในงานเสวนา

สุดท้าย นายธนิษฐ์ นีละโยธิน เครือข่ายสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลทหาร ละเมิดสิทธิของประชาชนที่ต้องการจะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเอง จึงอยากให้มีการพัฒนา แก้ไข และยกเลิกกฎหมาย หรือข้อกำหนดต่างๆที่เป็นการละเมิดสิทธิ และให้อิสระประชาชนในการแสดงความคิดเห็น

“หลังรัฐประหารปี 2557 คือ มีการเปลี่ยนถ่ายโอนอำนาจจาก พลเรือนสู่ทหาร เราพบว่า สถานการณ์สิทธิทางการเมืองและสิทธิของพลเรือน เริ่มที่จะตกต่ำลง สาเหตุมาจากมีการบังคับใช้กฎหมายที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน... รัฐควรยกเลิกหรือทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่ริดรอนสิทธิของประชาชน เช่น กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับของภาคใต้ [พรก. ฉุกเฉิน พรบ.กฎอัยการศึก และมาตรา 44] ประกาศคำสั่งของ คสช. แล้วก็ พรบ.ชุมนุมสาธารณะ” นายธนิษฐ์กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง