กองทัพบกเตรียมรับยานเกราะสไตรเกอร์ 10 คันแรก 12 ก.ย. นี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.08.28
กรุงเทพฯ
190828-TH-US-cobragold-800.jpg ธงชาติสหรัฐฯ-ไทย และเกาหลีใต้ โบกสะบัดระหว่างการฝึกซ้อมคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold) หลังยกพลขึ้นบก ที่หาดยาว จังหวัดชลบุรี วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562
เอเอฟพี

ในวันพุธนี้ นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า รถหุ้มเกราะล้อยางสไตรเกอร์ (Stryker) ที่กองทัพบกไทยสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกา ล็อตแรกจำนวน 10 คัน กำลังจะมาถึงประเทศไทย โดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ระบุว่า ในวันที่ 12 กันยายน 2562 จะจัดให้มีพิธีรับมอบขึ้น ที่กองบัญชาการทหารบก

นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงที่กระทรวงกลาโหม ในโอกาสสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง และได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า รถยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ ที่ประเทศไทยโดยกองทัพบกขอซื้อไว้นั้น กำลังจะมาถึงประเทศไทยแล้ว

“สถาปนาความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกา-ไทย หลังมีการเลือกตั้งเต็มรูปแบบ ก็เป็นหุ้นส่วนที่ดีตลอด ตอนนี้ เต็มรูปแบบ เราจะร่วมมือกับเมืองไทยทุกฝ่ายต่อไปอย่างที่ทำมา สไตรเกอร์ เดี๋ยวก็มาถึง” นายปีเตอร์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวที่ถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทย และการสั่งซื้อยานยนต์หุ้มเกราะสไตรเกอร์

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้เปิดเผยว่า รถยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ที่ไทยสั่งซื้อชุดแรก 10 คัน จะมาถึงประเทศไทย และจัดพิธีเปิดตัว 12 กันยายน 2562 โดยกองทัพบกได้สั่งซื้อ 120 คัน

“กองทัพบกจะจัดพิธีต้อนรับรถเกราะลำเลียงพลสไตรเกอร์ โดยจะนำมาที่ บก.ทบ. 4 คัน จะส่งมอบล็อตแรก 10 คัน” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันนี้ว่า พล.อ.อภิรัชต์ ยืนยันว่าได้สั่งซื้อรถเกราะลำเลียงพลสไตรเกอร์ รวม 120 คัน โดยได้รับมอบ 70 คันแรกในปีนี้ และ อีก 50 คันในปีหน้า

พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ.โรเบิร์ต บี. บราวน์ ผู้บัญชากองกำลังทางบกประจำภาคพื้นแปซิฟิค สหรัฐฯ จะเป็นประธานร่วมในพิธีส่งมอบครั้งนี้ โดยรถยานเกราะชุดนี้ จะทำการขนส่งทางเครื่องบินลำเลียง ซี 17 จำนวน 5 เที่ยวบิน เที่ยวบินละ 2 ลำ ปัจจุบัน กองทัพบกได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเพื่อฝึกซ้อมขับ และซ่อมบำรุง รถยานเกราะรุ่นดังกล่าวแล้ว

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 สำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ประเทศไทย ได้ขอซื้อรถยานเกราะสไตรเกอร์ 60 คัน จากสหรัฐอเมริกา เป็นการจัดซื้อพร้อมอุปกรณ์และการสนับสนุน โดยมูลค่าการสั่งซื้อครั้งนี้ประมาณ 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,400 ล้านบาท)

สำหรับอุปกรณ์และการสนับสนุนเพิ่มเติมที่ไทยจะได้รับ คือ ปืนกล M2 .50 caliber Machine-Gun จำนวน 60 กระบอก, ปืนยิงระเบิดควัน M6 (smoke grenade launchers) จำนวน 4 กระบอก ต่อ 1 คัน, ระบบช่วยเพิ่มการมองเห็นและทัศนวิสัยของพลขับแบบ AN/VAS-5 Driver’s Vision Enhancer, ระบบการสื่อสารระหว่างยานพาหนะ AN/VIC-3, อะไหล่สำรอง, เครื่องมือพิเศษ และอุปกรณ์ทดสอบ เป็นต้น

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า การสั่งซื้อรถยานเกราะดังกล่าว ดำเนินการผ่านโครงการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่มิตรประเทศ (Foreign Military Sales - FMS) ซึ่งจะไม่มีผลให้ดุลอำนาจทางทหารในภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลงไป

หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 ประเทศไทยได้หันไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น ยานเกราะ BTR-3E1 จากยูเครน และยานเกราะ รุ่น VN1 จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ หลังรัฐประหารของไทย ในปี 2557 ตามรายงานของไทยพับลิก้า ว่าถึงแม้สหรัฐฯ จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพไทยมายาวนาน แต่กฎหมายและหลักความเป็นประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ทำให้ทางการสหรัฐฯ จำเป็นต้องพิจารณาปรับความสัมพันธ์กับกองทัพไทย

ด้าน นายจอห์น แครี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้น กล่าวว่า ผิดหวังต่อการตัดสินใจของทหารไทย ที่ล้มรัฐธรรมนูญและเข้ายึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลพลเรือน หลังจากความวุ่นวายทางการเมืองที่มีมาเป็นเวลานาน และไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมสำหรับรัฐประหารในครั้งนี้ ... และได้ร้องขอให้มีกลับมาตั้งรัฐบาลพลเรือนในทันที ให้กลับสู่ระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน อาทิ เสรีภาพของสื่อ พร้อมทั้งเสนอให้มีการเลือกตั้งดังความตั้งใจของประชาชนไทยโดยเร็ว

โดย ประธานาธิบดี บารัค โอบามาของสหรัฐฯ ได้ระงับเงินช่วยเหลือจำนวน 4.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อจัดหายุทโธปกรณ์ การด้านการบริการ และการฝึกอบรมทางการทหาร เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์รายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง