แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐปกป้องนักปกป้องสิทธิ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.02.22
กรุงเทพฯ
TH-AI-seminar-800 การเสวนา “เราอยู่ตรงไหนในกระบวนการทำงานเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน?” โรงแรมโฟร์วิงส์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560
เบนาร์นิวส์

ในวันพุธ (22 กุมภาพันธ์ 2560) นี้ องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้แถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2559-60 โดยชี้ว่า สิทธิของประชาชนไทยยังถูกจำกัดโดยรัฐบาลทหาร โดยผู้ร่วมเสวนาเรียกร้องให้มีการปกป้องสิทธิของนักสิทธิมนุษยชน หลังจากในช่วงที่ผ่านมา นักสิทธิมนุษยชนจำนวนหนึ่งถูกคุกคามด้วยวิธีต่างๆ

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แถลงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยว่า รัฐบาลทหารยังคงจํากัดสิทธิมนุษยชนต่อไป มีการลงโทษหรือสั่งห้ามการแสดงความเห็นต่างทางการเมืองอย่างสงบ ทั้งในรูปของการพูดหรือการประท้วง นักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งถูกจับกุม ถูกดําเนินคดี และถูกกระทําด้วยความรุนแรง เนื่องจากการต่อต้านโครงการพัฒนา และการรณรงค์เพื่อสิทธิของชุมชน

“พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการพุ่งเป้าไปยังผู้ที่ต่อต้าน หรือแสดงความเห็นต่างเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ มีรายงานว่าบุคคลกว่า 100 คนทีเดียว ที่ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติ การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เปิดโอกาสให้มีการสอดแนมข้อมูลทั่วไปโดยไม่ต้องขอหมายศาล” นางปิยนุชระบุ

องค์กรแอมเนสตี้ฯ สรุปว่า ประเทศไทย ยังมีประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง อาทิ ระบบยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุม การจับกุมและควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยพลการ การขัดแย้งกันด้วยอาวุธในประเทศ การทรมานและการปฎิบัติที่โหดร้าย และผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง

นอกจากนั้น ในวาระเดียวกันนี้ ได้มีการเสวนา “เราอยู่ตรงไหนในกระบวนการทำงานเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน?” ซึ่ง น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ องค์กรที่เคลื่อนไหวปกป้องสิทธิของประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้กล่าวว่า หากที่ผ่านมา รัฐมองการเคลื่อนไหวของนักสิทธิมนุษยชนว่าเป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีมองใหม่ เนื่องจากการเคลื่อนไหวนั้น มีความมุ่งหมายเพื่อปกป้องสิทธิประชาชนจำนวนมาก หาได้กระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง

“รัฐมองเห็นความมั่นคงของรัฐมากกว่าที่จะมองความมั่นคงของมนุษย์ หรือความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน ดิฉันคิดว่า เราจะต้องมองถึงการปกป้องประชาชน การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ได้เพื่อปกป้องตัวเอง แต่เพื่อปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชน นั่นหมายความว่า คุณได้ทำการปิดกั้นโอกาสในการเรียกร้องการถูกละเมิดจากรัฐ” น.ส.อัญชนากล่าว

น.ส.อัญชนา ยังเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการฟ้องร้องที่รัฐได้กระทำต่อนักสิทธิมนุษยชนในช่วงที่ผ่านมาด้วย

ทางด้านนายโลคอง เมย์ยอง รักษาการผู้แทนประจำภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า การคุกคามนักสิทธิมนุษยชน เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย การป้องกันจึงควรเป็นการสร้างระบบปกป้องนักสิทธิโดยเริ่มต้นจากองค์กรของรัฐ

“เพื่อให้เกิดการปกป้องนักสิทธิ ผมเชื่อว่าองค์กรของรัฐที่ดูแลเรื่องสิทธิต้องเป็นองค์กรแรกที่ออกมาเรียกร้อง เมื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอยู่ในอันตราย” นายโลคองกล่าว

ด้าน น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ชี้แจงว่า หน่วยงานของรัฐก็มีความพยายามที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนในประเทศเช่นกัน โดยพยายามสร้างกระบวนการ และรูปแบบการทำงานเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา

“เรามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลังจากที่มีการหายตัวไปของคุณบิลลี่ที่แก่งกระจาน กระทรวงยุติธรรมคิดว่าน่าจะทำไวท์ลิสต์ (White List) เพื่อคุ้มครองกลุ่มคนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากร ต่อสู้ให้กับชุมชนตัวเอง ต่อมาเราก็ตั้งคณะกรรมการมาชุดนึง ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิฯ เป็นเจ้าภาพ และหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วย เราทำงานกันมาแต่ปี 57 ปัจจุบัน กำลังจะมีคู่มือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าว

น.ส.ปิติกาญจน์ ยืนยันว่า ภาครัฐมีความพยายามที่จะสร้างให้เกิดความเท่าเทียม การเข้าถึงสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักสำคัญของสังคมเพราะรัฐมีความเชื่อว่า สังคมที่ประชาชนไม่มีสิทธิ และไม่มีประชาธิปไตยจะกลายเป็นสังคมที่ถูกกระทำ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง