ผบ.ทบ.ไม่รับปากว่าจะไม่ปฏิวัติ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.10.17
กรุงเทพฯ
181017-TH-military-1000.jpg ทหารประจันหน้ากับผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ต้องการขับไล่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แยกยมราช วันที่ 13 เมษายน 2552
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นครั้งแรกในวันพุธนี้ โดยปฏิเสธที่จะให้สัญญาว่า กองทัพจะไม่ทำรัฐประหาร ทั้งยังระบุการที่ทหารมีความจำเป็นต้องทำรัฐประหารในหลายครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาขัดแย้งทางการเมืองและการจราจล

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 41 ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 แทน พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ที่เกษียณอายุราชการในสิ้นเดือนกันยายนให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรกวันนี้ ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ว่า จะทำหน้าที่สานต่อนโยบายของ ผบ.ทบ.คนเก่าที่ได้วางรากฐานเอาไว้ และจะปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายของรัฐบาลทุกรัฐบาล อย่างไรก็ดี เมื่อผู้สื่อข่าวให้แสดงจุดยืนเรื่องการรัฐประหาร พล.อ.อภิรัชต์ ไม่ได้ยืนยันว่าจะไม่ทำรัฐประหาร

“ผมหวังใจอย่างยิ่งว่า การเมืองอย่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติอีก... มั่นใจว่า ถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุ แห่งการจลาจล ถ้ามันไม่เกิด มันก็ไม่มีอะไร อยู่ๆ กองทัพประเทศไทยจะทำการปฏิวัติหรือ... มันไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะเรื่องการเมืองทั้งสิ้น” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว

“ผมคาดหวังได้เลยว่า เหตุการณ์รุนแรงในบ้านเมืองคงไม่เกิดขึ้นอีก คงไม่มีใครอยากจะเห็นบ้านเมืองเป็นแบบนี้อีก ตรงโน้นก็เผา ตรงนี้ก็เผา ตรงโน้นยิง ตรงนี้ก็ยิง สมัยก่อน… มันไม่เคยขนาดนี้ เพราะยังมีการแย่งชิงทางการเมือง ไม่รู้จักแพ้ ชนะ แล้วคนที่แพ้ก็คือประเทศ กองทัพไม่มีวันชนะประชาชน แต่ประชาชนที่ออกมาสร้างความเดือดร้อน ที่เชื่อ ที่มีการยุ ให้จุดไฟเผา พูดถึงการทำระเบิด ทำอะไรก็ตาม นั่นแหละคือ ท่านแพ้ เป็นประชาชนที่ทำให้ประเทศแพ้” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวเพิ่มเติม

พล.อ.อภิรัชต์ ระบุว่า ที่ผ่านมา กองทัพเองไม่ต้องการจะทำรัฐประหาร แต่ต้องรักษาความสงบเรียบร้อย และทหารไม่ได้มีความคิดที่ต้องการจะมีอำนาจเหมือนกับนักการเมือง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำเป็นต้องทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อหยุดความรุนแรง

“เราไปไหนก็ลำบาก ค้าขายก็ลำบาก ถนนถูกบล็อก คนไทยด้วยกันออกมาตีกัน ฆ่ากัน มากมายมหาศาล เราถูกรัฐบาลสั่งการออกมาให้ควบคุมความสงบเรียบร้อย เราทำโดยหัวใจที่ไม่ได้คิดแบบนักการเมืองว่า เราจะเข้ามาบริหารประเทศ ผมเชื่อมั่นอย่างนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็คงไม่ได้คิดอย่างนี้เช่นเดียวกัน แต่ความที่ท่านต้องเสียสละ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตัดสินใจ บ้านเมืองจะเกิดอะไรขึ้น ผมว่าการตัดสินใจนั้นไม่ใช่อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ การตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน” ผบ.ทบ. คนล่าสุด ระบุ

 

ฝ่ายนักการเมืองเห็นด้วย

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความคิดเห็นกับเบนาร์นิวส์ต่อการให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ทบ. คนล่าสุด ว่า การอ้างความขัดแย้งของนักการเมืองเพื่อทำรัฐประหาร เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากความขัดแย้งเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ และเจ้าหน้าที่ทหารก็มีส่วนร่วมในความขัดแย้งเช่นกัน

“การรัฐประหารหรือยึดอำนาจ อย่าโทษฝ่ายใดฝ่ายนึงเลย โทษเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เพราะความวุ่นวายในบ้านเมือง เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา จะบอกว่า เกิดจากนักการเมือง ถ้าไม่ให้นักการเมืองขัดแย้งกัน จะให้ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยจับมือกันไหมล่ะ ไม่อยากให้ท่านส่งสัญญาณอย่างนั้น” นายนิพิฏฐ์ กล่าว

ด้าน นายสมคิด เชื้อคง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย แสดงความคิดเห็นในเรื่องเดียวกัน ระบุว่า ความขัดแย้งในสังคมไทย และความขัดแย้งทางการเมือง ส่วนหนึ่งมาจากกำลังทหารเลือกเข้าข้างกลุ่มการเมืองบางฝ่าย

“ไม่ยืนยันเรื่องรัฐประหารก็ถูกแล้ว เพราะเขาไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ สาเหตุมาจากการเมือง น่าจะไม่ใช่ทั้งหมด สาเหตุของการเลือกข้างกองกำลังบางกำลัง คนบางกลุ่มต่างหาก ถ้าเกิดจากการเมืองแก้ด้วยการเมือง ให้เลือกตั้ง ก็ไปเลือกตั้งก็จบทั้งหมด มันมีคนเลือกข้างต่างหาก ถ้านักการเมืองต่อนักการเมืองเองสุดท้ายมันจบที่สภา” นายสมคิดระบุ

ขณะเดียวกัน นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความคิดเห็นว่า ผลประโยชน์ของกองทัพเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดรัฐประหาร มิใช่เพียงเพราะความขัดแย้งทางการเมือง หรือความไม่สงบ

“ผลประโยชน์ของกองทัพเองก็เป็นปัจจัยนึงที่ทำให้มีการรัฐประหาร กองทัพได้รับประโยชน์ เช่น การจัดสรรงบประมาณกลาโหม งบขนาดนี้ ถ้าเอามาใช้ด้านอื่นน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า การรัฐประหารไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหาทางการเมือง ทหารพยายามทำให้มันมีความจำเป็น” นายฐิติพล กล่าว

“จะโทษทหารอย่างเดียวก็ไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ไม่ได้มองว่าการกลับไปสู่ประชาธิปไตยสามารถแก้ปัญหาได้ การเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2557 ประชาธิปัตยก็ให้ความร่วมมือกับ กปปส. ขัดขวางการเลือกตั้ง นักการเมืองบางกลุ่มไม่ยอมรับ ไม่ส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ยอมให้มันเติบโตด้วยตัวของมันเอง ปัญหานึงทหารเองไม่เชื่อระบบประชาธิปไตยด้วย การชุมนุม ถ้ากฎหมายบังคับใช้มีประสิทธิภาพก็แก้ปัญหาตรงนั้นได้” นายฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร มีการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลสำเร็จในประเทศไทยมาแล้ว 13 ครั้ง โดย 12 ครั้ง จากทั้งหมดเป็นการทำรัฐประหารโดยกองทัพ และมีความพยายามที่จะทำรัฐประหารอีกกว่า 10 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ทำให้ผู้ที่พยายามยึดอำนาจถูกดำเนินคดีข้อหากบฎ

การทำรัฐประหารครั้งล่าสุดโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เกิดขึ้นหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศยุบสภา แต่กลุ่มประชาชน ในนาม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งชุมนุมมาตั้งแต่ปี 2556 ยังคงจัดการชุมนุม และเรียกร้องให้ รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ลาออก รวมถึงปฎิเสธ และขัดขวางการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเกิดความรุนแรงในบางพื้นที่ นำไปสู่การประกาศยึดอำนาจการปกครองในที่สุด

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง