เอ็นจีโอเรียกร้องการสอบสวนเหตุพลทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างเป็นอิสระ

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.04.05
ปัตตานี
TH-beatup-folo-620 พลฯ ทรงธรรม หมุดหมัด ระหว่างการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศูนย์จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2559
เบนาร์นิวส์

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559  มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและนักวิชาการ ออกใบแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการสืบสวนอย่างอิสระและผ่านกฎหมายต่อต้านการทรมาน หลังจากพลทหารทรงธรรม หมุดหมัด สังกัด ร.152 พัน 1 ค่ายพยัคฆ์ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าอาจเกิดจากการถูกรุมซ้อมเพื่อลงโทษโดยนายเจ้าหน้าที่ทหารในค่ายจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา

ล่าสุด มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ประสานงานให้คำแนะนำไปเบื้องต้นกับครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และรองประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า หากการสืบสวนพบว่าพลทหารทรงธรรม อายุ 23 ปี เสียชีวิตจากการถูกซ้อมจริง กรณีดังกล่าวจะเข้าข่าย "การทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ"

“ทางการต้องมีการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นอิสระ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและเกินเลย ไม่มีการกำกับดูแลจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง” นางสาวพรเพ็ญ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า

นางสาวพรเพ็ญ แกล่าวว่า มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอเรียกร้องให้มีการสอบสอบกรณีดังกล่าวอย่างเป็นอิสระ ตลอดจนต้องมีกฎหมายที่กำหนดให้การทรมานโดยเจ้าหน้าที่ให้เป็นความผิดทางอาญา การเสียชีวิต ขณะถูกควบคุมตัวนั้นตรวจสอบได้ยาก จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะแพทย์นิติเวชและตำรวจ ในการหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงและตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุอย่างมืออาชีพ

ทางด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ได้ออกมาแสดงการต่อต้านการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และเรียกร้องให้ทางการไทยผ่าน "ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย" เพื่อทำให้การทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษชัดเจน โดยผู้สนับสนุนสามารถร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ผ่านกฎหมายดังกล่าวได้ที่ change.org/12YearsSomchai ซึ่งขณะนี้มีผู้สนับสนุนมากกว่า 10,000 คนแล้ว

แม่พลทหารแจ้งความก่อนนำศพลูกกลับบ้านเกิด

ในตอนเช้าของวันนี้ นางวิจิตรา ช่อมณี มารดาของ พลฯ ทรงธรรม หมุดหมัด และญาติ ได้เดินทางไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา เพื่อขอลงบันทึกประจำวันการเสียชีวิตและรับใบมรณบัตร ก่อนนำศพ พลฯ ทรงธรรม กลับไปทำพิธีทางศาสนาที่วัดสำเภา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี พ.ท.สมคิด คงแข็ง ผู้บังคับการกองพัน ร.152 พัน 1 ร่วมแสดงความเสียใจ

ในคืนก่อนหน้านั้น นางวิจิตรา พร้อมญาติ ได้เดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา เพื่อแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อเอาผิดกับนายทหารที่ร่วมก่อเหตุรุมทำร้ายพลทหารทรงธรรมไว้ก่อนแล้วด้วย

จากรายงานข่าวในเบื้องต้นว่า พลฯ ทรงธรรม และเพื่อนที่ได้รับบาดเจ็บ คือ พลฯ ศุขพัฒน์ ชุมศรี อายุ 23 ปี ถูกลงโทษปรับปรุงวินัยนั้น ได้มีอีกกระแสข่าวหนึ่งกล่าว พลฯ ทรงธรรม ได้มีเรื่องทะเลาะกับนายสิบคนหนึ่ง เนื่องจากจับได้ว่า นายสิบคนดังกล่าวขโมยเงินของ พลฯ ทรงธรรม ไป 5,000 บาท เมื่อ พลฯ ทรงธรรม ขอค้นตัวนายสิบคนดังกล่าว ไม่ยอมให้ค้นตัว จนเป็นเหตุให้มีปากเสียงกันอย่างรุนแรง และมีการชกต่อยกัน จากนั้นต่างคนต่างแยกย้ายกลับกองร้อย

“เมื่อกลับมาที่กองร้อย ร.ต. ภัฏณัท เลิศชัยกุล ทหารเวร ได้สั่งให้นายทหารเวร 5 คน ลงโทษปรับปรุงวินัย พลฯ ทรงธรรม ก็ได้มีการใช้เท้าเตะที่หน้า ลำตัว และใช้ไม้ตีตามร่างกายของ พลฯ ทรงธรรม ตั้งแต่เวลา 3 ทุ่ม ของวันที่ 1 เมษายน ไปจนถึง ตี 4 รุ่งเช้าของวันที่ 2 เมษายน ทำให้ พลฯ ทรงธรรม มีอาการอ่อนเพลียจากการถูกปรับปรุงวินัยอย่างหนัก จนล้มลงศีรษะฟาดลงกับพื้นไม่รู้สึกตัว” แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่หน่วยเสนารักษ์ นำตัวพลทหารทรงธรรม ส่งโรงพยาบาลธารโต ก่อนแล้วได้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ยะลา จนกระทั่งเสียชีวิต

ทหารชี้แจงการลงโทษทหารที่ถูกกล่าวหา

พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า “เบื้องต้นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ได้ใช้อำนาจลงโทษกำลังพลจำนวน 7 นาย ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และได้ปฏิบัติเกินกว่าเหตุ ให้คุมตัวนายทหาร 1 นาย จำนวน 30 วัน ส่วนนายสิบ 6 นาย จำนวน 45 วัน จากนั้น ในส่วนของคดีอาญา ก็จะอยู่ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวน ที่จะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป”

ทางด้านโฆษกกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของ พลฯ ทรงธรรม ว่า ที่ประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก ซึ่งมี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้ แต่หลังทราบเรื่อง ผบ.ทบ. ได้สั่งการไปยังแม่ทัพภาคที่ 4 ให้สอบสวนข้อเท็จจริงทันที ส่วนการที่กองทัพบกยังไม่เปิดเผยรายชื่อของทหาร 6 นาย ที่ร่วมกระทำความผิด เนื่องจากอยู่ในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง ยืนยันว่าไม่ใช่การปกปิดเพื่อปกป้อง เพราะคดีลักษณะเดียวกันที่เกิดก่อนหน้านี้ ก็มีการเปิดเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่ในภายหลัง

ซึ่งล่าสุด ต้นสังกัดได้ลงโทษทางวินัยขั้นเด็ดขาดแล้ว นั่นคือ จำขัง สำหรับผู้บังคับบัญชาของทหาร 6 นาย จะต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการสอบสวนของหน่วยในพื้นที่ สำหรับความผิดในคดีอาญาก็ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ยืนยันกองทัพไม่ปกป้องผู้กระทำความผิด และไม่ปัดความรับผิดแน่นอน ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 ระบุบทลงโทษจากเบาไปหาหนัก 5 สถาน ประกอบด้วย ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กัก ขัง และจำขัง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง