ครม. เห็นชอบ พ.ร.บ.ป้องกันทรมานและบังคับสูญหาย

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.05.24
กรุงเทพฯ
TH-angkhana-1000 นางอังคณา นีละไพจิตร ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวในจุดที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกลักพาตัวไปที่ปากซอยรามคำแหง 69 ภาพเมื่อ 12 มี.ค. 2558
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคาร (24 พ.ค. 2559) นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ประจำวันนี้ว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งเห็นชอบต่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้หายสาบสูญของสหประชาชาติ

พล.ต.สรรเสริญ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า การออก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย เป็นเครื่องยืนยันว่า รัฐบาลทหารไม่ต้องการจะลิดรอนสิทธิของประชาชน

“หลายคนคิดว่ารัฐบาลที่มาจากทหารจะกล้าออกกฎหมายแบบนี้หรือ ดังนั้น วันนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้เราเป็นรัฐบาลที่มาในช่วงจำเป็นเฉพาะกิจ แต่เราก็ออกกฎหมายเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจว่า สิ่งที่รัฐบาลทำเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักสากล” พล.ต.สรรเสริญกล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

“ไม่ได้มีการลิดรอนสิทธิประการใด ยืนยัน คสช.ไม่เคยทรมานใคร ไม่เคยอุ้มใครให้หายไป การไปเชิญพูดคุยทำความเข้าใจ ก็มีการแจ้งก่อน” พล.ต.สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติม

โฆษกรัฐบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายฉบับนี้ มีอำนาจครอบคลุมถึงความผิดที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน สงคราม และสถานการณ์ความไม่มั่นคงด้วย ซึ่งอำนาจของกฎหมายจะควบคุมไม่ให้เจ้าหน้าที่สามารถนำสถานการณ์พิเศษใดๆ มากล่าวอ้าง เพื่อกระทำความผิดได้

หากพบว่ามีการกระทำผิด อายุความจะมีระยะเวลาถึง 20 ปี และ กฎหมายยังกำหนดมิให้หน่วยงานของรัฐส่งตัวบุคคลหนึ่งบุคคลใดออกไปนอกราชอาณาจักร หากเชื่อว่าจะก่อให้เกิดการทรมาน หรือถูกบังคับให้สูญหายด้วย

โดยที่รัฐบาลในอนาคตจะได้แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้เสียหายจากการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน

ต่อเรื่องการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคน จากการบังคับให้หายสาบสูญ และร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วย การคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ และเสนออนุสัญญาฯ ดังกล่าวให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา 2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และ 3. รับทราบแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลา

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนักสิทธิมนุษยชนแสดงความยินดี

นางอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และเหยื่อของการบังคับสูญหายในฐานะภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ตนรู้สึกดีใจที่คณะรัฐมนตรีเห็นความสำคัญของกฎหมายสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ และเชื่อว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

“รู้สึกดีใจ แต่อย่างไรก็ตาม ยังกังวลอยู่ เพราะว่าในขั้นตอนของการร่าง พ.ร.บ.จะต้องส่งเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วจะต้องมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา ก็กลัวว่ากรรมาธิการบางท่าน อาจจะไม่เข้าใจเรื่องการอุ้มหาย ก็จะทำให้ พ.ร.บ.ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาอุ้มหายของสหประชาชาติ” นางอังคณา กล่าว

นางสาว พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า การแก้ไขปรับเปลี่ยนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีข้อให้คงไว้ซึ่งมาตรฐานสากล และไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาต่างไปจากร่างเดิมในเนื้อหาสาระสำคัญ รวมทั้ง การให้ความรู้เรื่องกฎหมายฉบับนี้ ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่องและให้ได้ประสิทธิผลในการป้องกันทรมานและอุ้มหายได้จริง

ด้านนางอังคณา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “อยากจะเรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาอุ้มหายในทันที คืออาจจะไม่ต้องรอให้ พ.ร.บ.ผ่านสภา คือสามารถที่จะทำควบคู่ไปด้วยกันได้เลย และขอให้มีการแต่งตั้งกรรมการวิสามัญ ให้มีส่วนร่วมของคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ในฐานะที่เป็นกรรมการสิทธิฯ เอง แล้วก็เป็นหยื่อ อยู่ในครอบครัวคนที่สูญหาย ก็ยินดีที่จะเข้าไปร่วมให้ความเป็นในการจัดทำ พ.ร.บ. ทรมาน และบังคับสูญหาย”

สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง

ตามตัวเลขของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล นับตั้งแต่ปี 2538 มีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกฆาตกรรม หรือทำให้สูญหายมาแล้วอย่างน้อย 36 ราย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 นายเด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินบนผืนป่าโคกยาว ซึ่งถูกแผนนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. พยายามขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ หายตัวไปในสวนป่าโคกยาว รอยต่อระหว่างป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

นางอังคณากล่าวว่า สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คล้ายกับว่าการบังคับสูญหายไม่ได้ลดลง

“ช่วงปี สองปีมานี้ เรื่องของการอุ้มหาย ดูเหมือนจะมากขึ้น และที่สำคัญเร็วๆ นี้ ที่มีการพบสถานที่เผาทำลายศพ(การค้นพบจุดเผานั่งยาง ใน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เมื่อเดือนเมษายน 2559) มันก็ยืนยันได้ว่า มีการลักพาตัว และเอาคนไปหายสาบสูญ และซ่อนเร้นอำพรางศพจริง” นางอังคณากล่าว

“ปัญหาและอุปสรรคของการป้องกันการทรมานและบังคับสูญหายเนี่ย คือ การไม่มีกฎหมาย อย่างการทรมานก็ไม่มีกฎหมายว่าการทรมานเป็นอาชญากรรม การบังคับสูญหายก็เหมือนกันไม่มีความผิดฐานบังคับสูญหาย กฎหมายอาญามีความผิดแค่การกักขังหน่วงเหนี่ยว และฆาตกรรม ทำให้ที่ผ่านมาเหยื่อ ซึ่งคือญาติไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยในฐานความผิดนี้ได้เลย รวมไปถึงไม่มีมาตรการในการเยียวยาญาติ” นางอังคณา กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง