นักธุรกิจไต้หวันเตรียมขึ้นศาลไทย คดีกระจายเสียงวิทยุไปจีน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.06.12
กรุงเทพฯ
190612-TH-broadcast-620.jpg ผู้ประท้วงรวมตัวกันที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ในกรุงวอชิงตัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดดำเนินคดี นายเจียง ย่ง ชิง ชายชาวไต้หวัน วันที่ 7 ก.พ. 2562
ภาพจาก Sound of Hope

ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ได้นัดหมายการพิจารณาคดี นักธุรกิจชาวไต้หวัน ในสัปดาห์หน้า ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ตั้งสถานีวิทยุโดยไม่ได้รับอนุญาต ออกอากาศข่าวที่ไม่มีการตรวจเซ็นเซอร์ไปยังผู้ฟังในประเทศจีน ท่ามกลางการกล่าวอ้างว่า ทางการไทยถูกกดดันจากรัฐบาลจีนให้ยุบสถานีวิทยุ

นายเจียง ย่ง ชิง (หรือ เจียง ย่ง ชิน) อายุ 52 ปี ได้รับการนัดหมายจากศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ปากคำในวันที่ 19-20 มิถุนายน ห้าเดือนหลังจากศาลได้รับฟ้อง ในข้อหา “มีและใช้ซึ่งเครื่องวิทยุโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต” และข้อหา “ตั้งสถานีวิทยุโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต” ให้แก่ Sound of Hope (SOH) ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายวิทยุ ที่ก่อตั้งขึ้นในซานฟรานซิสโก โดยกลุ่มฝ่าหลุนกง กลุ่มทางศาสนาที่ต้องห้ามสำหรับทางการจีน

นายเจียงได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยกล่าวว่า ผู้เช่าสถานที่ของเขาเป็นผู้ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ นายเจียงอาจจะได้รับโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี หากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง

“ฉันไม่ได้ตั้งสถานีวิทยุใด ๆ แต่เพื่อนใช้สถานที่ที่ฉันเช่า เพื่อติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ” นายเจียง บอกกับเบนาร์นิวส์ ในการสัมภาษณ์สั้น ๆ ในกรุงเทพฯ ผ่านทางผู้ช่วย ในขณะที่เขาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา

ทนายความของนายเจียง ไม่สามารถให้ความคิดเห็นได้ ศาลได้นัดหมายในการให้ปากคำของโจทก์ ในวันที่ 19 มิถุนายน และฝ่ายจำเลย วันที่ 20 มิถุนายน

Sound of Hope เป็นเครือข่ายวิทยุสาธารณะออกอากาศข่าวไปยังประเทศจีน ผ่านสัญญาณวิทยุคลื่นสั้นจากประเทศใกล้เคียง นายแฟรงค์ ลี โฆษกของเครือข่ายฯ เผย

นาย ลี ได้กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้กดดันนายเจียง โดยไม่จัดหาล่ามให้ และให้เซ็นเอกสารยอมรับผิด ขณะที่ถูกจับกุม เขายังกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ไทยถูกกดดันจากรัฐบาลจีน

“การยอมต่อการกดดันของรัฐบาลจีน ในการกดเสรีภาพของสื่อ ไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยและประชาชนไทย” นายลี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“นายเจียง เป็นอาสาสมัครของ SOH เขาไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนายเจียง เพื่อที่เขาจะได้กลับไปไต้หวัน เพื่อพบหน้าภรรยาและลูกอีกสองคน”

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทย ไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวปฏิเสธการกล่าวอ้าง

“เจ้าหน้าที่ทางการไทยทำการจับกุม นายเจียง โดยไม่ได้รับความกดดันจากทางการจีน” เจ้าหน้าที่กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ในเดือนสิงหาคม 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ได้ทำการค้นบ้านหลังหนึ่งที่นายเจียงเช่าไว้ พร้อมยึดเครื่องส่งและอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในการกระจายเสียงวิทยุ และปิดสถานีวิทยุ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมนายเจียง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 นายเจียงได้รับการประกันตัวออกมา ในสามวันต่อมา และถูกสั่งห้ามออกนอกประเทศไทย

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ฟ้องร้องนายเจียง ในข้อหาฝ่าฝืน พระราชบัญญัติ การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 การดำเนินกิจการวิทยุโทรทัศน์ โดยไม่ได้รับอนุญาต จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และฝ่าฝืน พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม ในการมีและใช้อุปกรณ์กระจายเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

“กรณีนี้เป็นการดำเนินการตามกระบวนการทางยุติธรรมของไทยค่ะ” นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ประท้วงต่อต้านการฟ้องร้อง

เมื่อเดือนมกราคม องค์กรซึ่งสนับสนุนการสื่อสารข้อมูลโดยเสรี เช่น องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders หรือในอีกชื่อว่า RSF) ได้กล่าวต่อต้านการจับกุมนายเจียง ย่ง ชิง

“การจับกุมที่ไม่ยุติธรรมนี้ ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นมาอีกในเรื่องของเสรีภาพ ที่เกิดในประเทศไทย และเสมือนการลงโทษผู้ฟังชาวจีนที่ไว้วางใจติดตามฟังรายการวิทยุสถานีนี้ เพราะให้ข้อมูลที่ไม่มีการเซ็นเซอร์” องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน กล่าวแถลงในเวลานั้น

"เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดสนับสนุนทางการจีน ในการทำการต่อต้านสื่อ และยกเลิกการดำเนินคดีกับนายเจียง"

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ในกรุงปารีส กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ไทยได้ปิดสถานีวิทยุ เมื่อปีที่แล้ว หลังจากได้รับการร้องเรียนจาก "พยานลึกลับ" ซึ่งอ้างว่า เห็นเสาอากาศสูง 30 เมตร (100 ฟุต) ตั้งขึ้นในพื้นที่

SOH กล่าวยืนยันว่า ไม่มีการตั้งเสาอากาศเพราะการกระจายเสียงคลื่นสั้นไม่จำเป็นต้องใช้ ทั้งปฏิเสธการข้องเกี่ยวใน "การออกอากาศที่ผิดกฎหมาย"

องค์กรฟรีดอมเฮ้าส์ (Freedom House) องค์กรในสหรัฐอเมริกา ที่สนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และประชาธิปไตยทั่วโลก ได้ออกมาต่อต้านการจับกุม นายเจียง โดยกล่าวว่า รัฐบาลไทยถือโอกาสที่นายเจียงมีความรู้จำกัดด้านภาษา “หลอกให้นายเจียง ลงชื่อรับสารภาพ"

"นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนกดดันรัฐบาลในประเทศอื่นในเอเชีย ให้ทำการปราบปรามการแพร่กระจายเสียงของ SOH" ฟรีดอมเฮ้าส์ตีพิมพ์ในเวบไซต์ข่าวประจำเดือนเกี่ยวกับเสรีภาพสื่ออันเกี่ยวข้องกับประเทศจีน “ในปี 2554 มีชายสองคนถูกจำคุก ในประเทศเวียดนาม ในข้อหาแพร่ออกอากาศเนื้อหาไปยังประเทศจีน และทางการอินโดนีเซียยังได้พยายามยุบ วิทยุอีรา-บารู ในเครือของ SOH ซึ่งส่งกระจายเสียงไปยังชุมชนชาวจีน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

นายแฟรงค์ ลี กล่าวว่า การกระจายเสียงของ SOH เป็นเรื่องจำเป็น

"SOH เชื่อว่าการกระจายเสียงวิทยุคลื่นสั้นไปยังประเทศจีนนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้คนที่นั่น เพื่อการรับรู้ข่าวที่เป็นความจริงและถูกต้องในประเทศจีนและทั่วโลก" ลี กล่าว "รัฐบาลคอมมิวนิสต์มีการเซนเซอร์ข่าวอย่างต่อเนื่อง เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนการกดขี่ทางศาสนา และสาระข่าวสำคัญจากทั่วโลก"

ฝ่าหลุนกง ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2535 ในฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ขบวนการฝ่าหลุนกง ขยายอิทธิพลมากขึ้น ถือเป็นลัทธิที่เติบโตเร็วที่สุดในสาธารณรัฐประชาชนจีน และต่างประเทศ ในช่วงเจ็ดปีต่อมา โดยในปี 2542 รัฐบาลจีน ภายใต้คำสั่งของประธานาธิบดี เจียง เจ๋อ หมิน เริ่มมีการปราบปรามลัทธินี้อย่างรุนแรง และบางครั้งถึงแก่ชีวิต อาทิ การลากสาวกของลัทธิออกจากบ้านของเขา และส่งไปยังศูนย์กักกัน

ส่วนนอกประเทศจีน การเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่เป็นอันตรายและยังคงเฟื่องฟูต่อไป ลัทธินี้มักถูกอ้าง เป็นตัวอย่างของการกดขี่ประหัตประหารทางศาสนาในประเทศจีน สาวกลัทธินี้และผู้สนับสนุนเสรีภาพทางศาสนา มักร่วมกิจกรรมประท้วง ในเมืองใหญ่ ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจให้ประเทศต่าง ๆ ได้รับรู้ถึงสถานการณ์ที่สาวกผู้ศรัทธาในฝ่าหลุนกงกำลังเผชิญ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง