โปรดเกล้าฯ ครม. ประยุทธ์ 2

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.07.10
กรุงเทพฯ
190710-TH-cabinet-1000.jpg พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ที่สองจากขวา) เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล เพื่อประชุมคณะรัฐมนตรี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562
เอเอฟพี

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม โดยมีตำแหน่งต่างๆ รวม 39 ตำแหน่ง รวมทั้งสิ้น 36 คน จากหกพรรคร่วมรัฐบาลและคนนอก

ในวันพุธนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีใจความว่า

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2562 แล้ว นั้น บัดนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบต่อไปแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี...”

ในคณะรัฐบาลใหม่ของประยุทธ์ มีผู้ที่เคยร่วมรัฐบาลเก่า รวม 9 คน ซึ่งเป็นคีย์แมนสำคัญในรัฐบาลประยุทธ์ 1 หลังจากที่โค่นรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ควบเก้าอี้ รมว. กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่โอนกลาโหมให้พลเอก ประยุทธ์  นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว. ต่างประเทศ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ในจำนวนสมาชิก ครม. 36 คน มีผู้ไม่สังกัดพรรคการเมือง 7 คน ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ ได้รับการจัดสรรในโควตารัฐมนตรีจำนวนทั้งหมด 11 คน/ตำแหน่ง พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 7 คน 8 ตำแหน่ง โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทยที่มีรัฐมนตรี 7 คน 8 ตำแหน่ง โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ด้านพรรคชาติไทยพัฒนา มีจำนวน 2 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย จำนวน 1 คน และพรรคชาติพัฒนา จำนวน 1 คน

ต่อมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวผ่าน พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงทุกคนที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ในครั้งนี้ว่า จากนี้ไปขอให้ทุกคนร่วมมือ ร่วมแรง และร่วมใจกันทำงาน เพื่อความผาสุกของประชาชนและประโยชน์ของประเทศชาติอย่างสุดความสามารถ โดยจะต้องเร่งขับเคลื่อนเดินหน้าประเทศไทยในทุกมิติอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีอุปสรรคอยู่มากก็ตาม

“ขอให้ประชาชนมั่นใจและให้โอกาสรัฐบาลใหม่ในการทำงานและเน้นย้ำว่ารัฐบาลนี้ เป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคนและมีหน้าที่ทำงานเพื่อประโยชน์และความสุขของคนไทยทุกคน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวผ่าน พล.ท.วีรชน

รัฐมนตรีบางรายมีปัญหา

อย่างไรก็ตาม รายชื่อรัฐมนตรีที่ประกาศในวันนี้ มีบุคคลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. จากกรณีถือครองหุ้นบริษัทสื่อหรือไม่ ประกอบด้วย นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากพรรคพลังประชารัฐ นายสาทิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากพรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย และ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากพรรคชาติพัฒนา

นอกจากนั้น ยังมีนายธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในอดีตเคยถูกศาลออสเตรเลียพิพากษาให้จำคุก และรัฐบาลไทยทำเรื่องขอโอนตัวในสถานะนักโทษคดียาเสพติด นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องคุณสมบัติ

นายวิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ในกรณี นายธรรมนัส ระบุว่าไม่มีผลในส่วนของคุณสมบัติว่าเคยต้องคดี แต่ในเรื่องของความประพฤติ การทุจริต มาตรฐานทางจริยธรรมเหล่านี้ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่มีเกณฑ์ชี้วัดอย่างชัดเจน

“ไม่มีใครมาปรึกษาเรื่องคดีของนายธรรมนัส และส่วนตัวก็ไม่เคยเห็นหน้านายธรรมนัส แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่มีปัญหา ต้องจัดการตัวเองให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นก็ต้องพิจารณาตัวเองแล้วพ้นจากตำแหน่งไป” นายวิษณุ กล่าว

เงา คสช. ยังคงอยู่

ทั้งนี้ อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ พลเอก ประยุทธ์ สามารถออกคำสั่งได้อย่างกว้างขวางได้สิ้นสุดลงในวันนี้ พลเอกประยุทธ์ ได้ออกคำสั่งยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช. 66 ฉบับ แต่ยังคงคำสั่งสำคัญสองฉบับ คือ ฉบับที่ 3/58 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และ ฉบับที่ 13/59 คือ ให้เจ้าหน้าที่บุกค้น โดยไม่ต้องมีหมายค้นได้ และควบคุมตัวได้ 7 วัน

นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในขณะที่ ยังมีคราบเงา คสช. ครอบงำประเทศอยู่

“ถ้ามองตั้งแต่กระบวนการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะไม่เห็นการปฏิรูปหรือการมีรัฐประหารแล้วปฏิรูป เพราะการได้มาซึ่งรัฐมนตรี จุดยืนไม่ได้อยู่บนความสามารถ แต่อยู่บนผลประโยชน์เป็นหลัก ทำให้เห็นว่าอีก 4 ปีข้างหน้า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย หลายๆ อย่างที่เป็นประเด็น เช่น สิทธิมนุษยชน หรือเสรีภาพในการแสดงออก คงจะเป็นไปแบบเดิม คงมีการละเมิดสิทธิของคนต่อไป” นายฐิติพล ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

“การที่พลเอกประยุทธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ยังทำให้เห็นว่ามีเงาของ คสช. อยู่ โดยนัยยะ ยังเห็นการคงอยู่ของอำนาจของทหาร ไม่ได้อยู่ในรูปรัฐบาลพลเรือน คสช. ก็ยังไม่ได้หายไปไหน บทบาททหารยังคงอยู่ ยังเห็นว่า คณะรัฐมนตรีชุดนี้ไม่ได้จะส่งเสริมประชาธิปไตย ยังใช้ทหารสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้กับรัฐบาลอยู่” นายฐิติพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายฐิติพล กล่าวว่า หากจะพูดให้แฟร์กับรัฐบาลทหาร การตั้งรัฐบาลนี้ ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลที่ผ่านๆ มา เพราะก็จัดสรรผลประโยชน์ของพรรคร่วมฯ มากกว่าผลประโยชน์ของชาติ ทั้งที่จริงๆ ควรจะดูคุณสมบัติของผู้มาดำรงตำแหน่งเป็นสำคัญ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ร่วมรายงานข่าวฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง