ครม. ประยุทธ์ 2 ถวายสัตย์ปฏิญาณตน
2019.07.16
กรุงเทพฯ
ในวันอังคารนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ถือเป็นการสิ้นสุดบทบาทของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามกฎหมายหลังจากทำหน้าที่มากว่า 5 ปี
พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากในวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองกาประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี รวมถึงรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลใหม่นี้รวมทั้งสิ้น 36 คน
“ข้าพระพุทธเจ้า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวคำถวายสัตย์ฯ
ขั้นตอนต่อไป คณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ จะเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา 250 คน และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยการแถลงนโยบายอาจจะใช้เวลามากกว่า 1 วัน เนื่องจากสภาจะเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาสามารถอภิปรายรัฐบาลชุดใหม่นี้ได้เต็มที่
ทั้งนี้ เมื่อมีพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเรียบร้อยแล้ว ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุใน มาตรา 265 ให้ คสช. พ้นจากตำแหน่งด้วย
รัฐบาลประยุทธ์ 2 คงอำนาจจำกัดการแสดงออกทางการเมือง
เมื่อวันจันทร์วานนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวแถลงอำลา มีสารจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี ในโอกาสจะสิ้นสุดภารกิจ และการปฏิบัติหน้าที่ในวันพรุ่งนี้ ในฐานะหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีคณะเดิม โดยระบุในตอนหนึ่งว่า
“บัดนี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่ขั้นตอนของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยสมบูรณ์ มีสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากความเห็นชอบของรัฐสภา สิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ได้รับหลักประกันคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญตามแบบอย่างนานาอารยประเทศ”
“ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขตามกฎเกณฑ์ปกติในระบอบประชาธิปไตยโดยไม่มีอำนาจพิเศษใด ๆ อีกต่อไป”
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หลังจากเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการพรรคเพื่อไทย โดยต่อมามีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สนช. ได้เลือก พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ซึ่งนอกจากจะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีอำนาจ ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในการออกคำสั่ง หัวหน้า คสช. ใช้แทนกฎหมายได้โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาด้วย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ ได้ยกเลิกคำสั่ง คสช. 66 ฉบับ เช่น การยกเลิกนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร การควบคุมสื่อ เป็นต้น แต่รัฐบาลยังคง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และ 13/2559 ให้เจ้าหน้าที่บุกค้น โดยไม่ต้องมีหมายค้น และควบคุมตัวได้ 7 วัน ซึ่งตามการตีความของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เจ้าหน้าที่จะยังสามารถดำเนินการปรับทัศนคติบุคคลได้ โดยเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ คสช. มาเป็น เจ้าหน้าที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
“ทุกวันนี้ ก็มีเชิญไปปรับอยู่แล้ว คือ ขอร้อง อย่านะ แต่ไม่สามารถเอาไปควบคุมตัวได้ การจะคงอำนาจแบบนี้ไว้ก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นอำนาจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ดีกว่าเอะอะแล้วประกาศกฎอัยการศึก ไม่เช่นนั้นเขาก็จะประกาศกฎอัยการศึก" นายวิษณุ กล่าวแก่สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลในวันจันทร์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งแม้พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. มากที่สุดถึง 136 คน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ทำให้ พรรคพลังประชารัฐ กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และใช้เวลากว่า 3 เดือนในการเลือกรัฐมนตรีตำแหน่งต่างๆ
องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และยังอาศัยเครื่องมือพิเศษเพื่อรักษาอำนาจ
“พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี พยายามชักจูงทั่วโลกให้เข้าใจว่าตนเป็นประชาธิปไตย แต่เขาได้อำนาจมาจากการหนุนของทหาร วุฒิสมาชิกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญที่ละเมิดสิทธิ รวมทั้ง การดำเนินคดีกับผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับตนในทางการเมืองและผู้วิพากษ์วิจารณ์การเมือง” นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการ ภาคพื้นเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว
“ไม่เป็นที่แปลกใจที่พลเอกประยุทธ์ ยังคงไว้ซึ่งคำสั่ง คสช. ที่เป็นเผด็จการและละเมิดสิทธิ ไว้ให้มากที่สุดเพราะเขาทราบดีว่า อาจจะต้องการใช้คำสั่งเหล่านั้น เพื่อการรักษาอำนาจ ดูเหมือนว่ารัฐบาลของเขาจะมีช่วงฮันนีมูนสั้นที่สุดในบรรดารัฐบาลทั้งหลายในช่วงหลังๆ นี้” นายแบรด กล่าวเพิ่มเติม
สหรัฐอเมริกาแถลง และความเห็นประชาชนไทยทั่วไป
นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงความยินดีแก่คณะรัฐบาลใหม่ของไทย ตามแถลงการณ์ในวันนี้ จากกรุงวอชิงตัน
“สหรัฐอเมริกามุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยชุดใหม่ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ทั้งสร้างมิตรภาพที่มีมาอย่างยาวนานกว่าสองศตวรรษ ระหว่างประชาชนของเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สหรัฐอเมริกาสนับสนุนความโปร่งใสและธรรมาภิบาลทั่วโลก และจะทำงานร่วมกับประชาชนไทยและรัฐบาลไทยต่อไป”
“ความเป็นพันธมิตรของสหรัฐ-ไทย ยังคงแข็งแกร่ง และเรายังคงสนับสนุนบทบาทของประเทศไทยในฐานะผู้นำระดับภูมิภาค รวมถึง การเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ พันธมิตรของเราจะเติบโตยิ่งขึ้น เมื่อเราทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาเป้าหมายร่วมกันทั้งสองประเทศ อาทิ ความมั่นคง สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และทั่วโลก”
นายสมจิต สำราญใจ วิศวกร อายุ 34 ปี จากจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า แม้รัฐบาลชุดใหม่จะได้อำนาจมาแบบไม่โปร่งใสนัก เขาก็ยังหวังว่า รัฐบาลชุดนี้จะบริหารประเทศ และแก้ปัญหาให้ประชาชนได้
“ผมยังหวังว่ารัฐบาลที่มาแบบไม่โปร่งใสนี้ จะกลับใจ บางทีท่านนายกฯ อาจจะเก็บกดจากความล้มเหลว และเสียงด่าทอ คงคิดจะฝากผลงานอะไรเป็นชิ้นโบว์แดงบ้าง ฝากความหวังกับคุณสมคิดที่เคยอยู่รัฐบาลทักษิณ แต่ขออย่ามีนโยบายที่เอาใจคนบางกลุ่มมากเกินไปก็พอ” นายสมจิต กล่าว
ด้าน นายดอน หอมมณี คนขายก๋วยเตี๋ยว อายุ 37 ปี จากจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ถืออำนาจเด็ดขาดแบบรัฐบาลทหารแล้ว และประชาชนที่มีรายได้น้อยจะได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลชุดนี้
“รัฐบาลนี้ ความขี้เหร่ไม่หนีจากช่วงรัฐบาลผสมยุคประชาธิปไตย การเอาพวกนักการเมืองอาชีพมาเป็นคณะรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่าทหารไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จจริงๆ การคงไว้ซึ่งนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สะท้อนว่าพวกเขาไม่ทิ้งคนจน พวกเขามองคนจนเป็นฐานเสียงแบบหนึ่งเหมือนนักการเมืองมองนั่นแหละ” นายดอน กล่าว