สามพรรคการเมืองลุ้นเก้าอี้สามจังหวัดชายแดนใต้
2019.03.05
ปัตตานี
เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สามพรรคการเมืองที่ถือว่ามีศักยภาพในการชิง ส.ส. 11 ที่นั่ง ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าถิ่นภาคใต้เก่า พรรคประชาชาติ ที่นำโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มวาดะห์ในพื้นที่ และพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นพรรคหน้าใหม่พุ่งแรง ได้ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเปิดเวทีปราศรัย ชูนโยบายการแก้ปัญหารุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง และดำเนินมายาวนานเป็นปีที่ 15 รวมทั้งเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ในการเลือกตั้งคราวนี้ พรรคใดจะได้เสียงมากน้อยเพียงใด เราลองมาดูนโยบายที่แต่ละพรรคได้หาเสียงสัญญากับพี่น้องประชาชนไว้
พรรคประชาธิปัตย์
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการหาเสียงในปัตตานี เมื่อวันอาทิตย์ว่า ทางพรรคจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ด้วยการใช้การเมืองนำการทหาร ซึ่งในอดีตที่พรรคเคยเป็นรัฐบาล ได้นำวางระบบการแก้ปัญหาด้วยการให้ประชาชนมีส่วนร่วม
“จะนำแนวทางการเมืองนำการทหารในการแก้ปัญหา ประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่สมัยเป็นรัฐบาลใช้หลักการเมืองนำการทหารจริงๆ เพราะเราไม่ได้มองว่าปัญหานี้จะแก้ได้โดยอาศัยฝ่ายความมั่นคงฝ่ายเดียวเพียงลำพัง แล้วปล่อยให้ทหารตำรวจดูแลไป แต่เราทำเป็นระบบ เราก็เลยผลักดันกฎหมาย ศอ.บต. หรือพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ออกมาเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารพื้นที่” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ทางพรรคจะสนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งจริงๆ แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินนโยบายนี้มาในทางลับ ก่อนที่จะมีการเปิดเผยในสมัยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
“การพูดคุยเป็นนโยบายที่ทำกันมานานแล้ว แต่มาเปิดเผยในรัฐบาลชุดที่แล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ฉะนั้น หลังจากนี้ก็ต้องเดินต่อ แต่ต้องเป็นการพูดคุยที่มีทิศทาง ไม่ใช่เป็นการพูดคุยโดยไม่มีความชัดเจนว่าจะคุยกันเรื่องอะไร” นายอภิสิทธิ์กล่าว
"เรามองว่า ในที่สุดการพูดคุยไม่ใช่เรื่องของความมั่นคงที่จะเป็นตัวชี้ขาด แต่เป็นเรื่องของการเมืองว่า ข้อเรียกร้องคืออะไร แล้วรัฐบาลไทยคิดว่าการจะตอบสนองความคิดเห็นที่มันแตกต่างอยู่ในรูปแบบไหน อย่างไร เพราะฉะนั้น การพูดคุยจะเน้นเอามิติตรงนี้เข้าไป ก็ต้องไปหาบุคคลที่เหมาะสม" นายอภิสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติม
ในเรื่องเขตปกครองพิเศษ หรือ เขตปกครองตนเอง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “เราคิดว่าเวลาไปใช้คำว่า การปกครองตนเอง มันฟังแล้วอาจจะน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วหลักของเราคือ การกระจายอำนาจ และพรรคประชาธิปัตย์ก็มีนโยบายเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการประจำจังหวัดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าการที่จะหาคำตอบในเชิงการกระจายอำนาจที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ น่าจะเป็นทางออกที่ดี และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่กระทบกระเทือนกับคนอื่นๆ เพราะในนั้นมีความหลากหลาย เป็นพหุวัฒนธรรมอยู่ ก็ต้องรักษาความสมดุลกันให้ได้ด้วย ผมคิดว่าไม่ได้ยากเกินไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นอกจากนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การที่จะทำให้ประชาธิปไตยในประเทศมีความยั่งยืน คือ แก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากในสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำ มีการผูกขาดของภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ ด้านเศรษฐกิจ และ กฎหมาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากต่อการรักษาประชาธิปไตย
นโยบายพรรคประชาชาติ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำกลุ่มวาดะห์ เป็นแกนนำ กล่าวในระหว่างการหาเสียงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า การแก้ปัญหาต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน
“ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาโดย ทวิรัฐ ไม่ใช่พหุรัฐ หรือพหุวัฒนธรรม คือ แก้ปัญหาโดยฝ่ายความมั่นคงกับกลุ่มผู้เห็นต่าง แต่พอเกิดเหตุ คนที่ได้รับผลกระทบกลับเป็นผู้หญิง เด็ก คนบริสุทธิ์ ฉะนั้นวันนี้ต้องนำแนวทางพหุสังคมพหุรัฐ มาแก้ปัญหา” พ.ต.อ.ทวี ซึ่งอดีตเคยดำรงตำแหน่างเลขาธิการองค์การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงการพุดคุยเพื่อสันติสุข ว่าจะยังคงมีต่อไป ส่วนการใช้กฎหมายพิเศษในการรักษาความปลอดภัยต้องมีภาคประชาชนร่วมด้วย
“สำหรับการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง รัฐบาลปัจจุบันก็สนับสนุน เพราะไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการพูดคุย ส่วนกฎหมายพิเศษในพื้นที่นั้น ผมมองว่าในช่วงแรกเรื่องแก้กฎหมายเป็นเรื่องยาก แต่ต้องเปลี่ยนคนใช้กฎหมาย จากเดิมที่ทหารใช้คนเดียว ต่อไปก็จะต้องให้ประชาชนใช้ด้วย ถ้ามีการคุมตัวต้องมีประชาชนเข้าไปด้วย” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
“ส่วนกฎหมายพิเศษที่ใช้ในพื้นที่ เช่น พระราชกำหนด กฎอัยการศึก ในพื้นที่ที่มีปัญหาวิกฤติ บางทีต้องเอามาใช้” พ.ต.อ.ทวี กล่าวเพิ่มเติม
ในเรื่องรูปแบบการปกครองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า “สามจังหวัดใต้ อาจจะเป็นรูปแบบที่เคยมีงานวิจัยศึกษาเอาไว้ เช่น รูปแบบ ศอ.บต. ที่มีสภา ศอ.บต. มีพระ สตรี พุทธ มุสลิม ปอเนอะ ตาดีกา เป็นตัวแทนอยู่ในสภา จากนั้น ให้สภาไปเลือกเลขาธิการ ศอ.บต. สรรหาเลขาธิการ แต่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเป็นพหุวัฒนธรรมในการบริหาร เช่น ถ้าเลขาธิการที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นมุสลิม รองเลขาฯ ต้องเป็นพุทธ เป็นสตรี เป็นคริสต์ นี่ยกตัวอย่าง เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่สุดท้ายรูปแบบจะเป็นอย่างไร ต้องให้คนพื้นที่คิด”
พรรคอนาคตใหม่
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เดินทางไปหาเสียงที่ปัตตานี เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยได้กล่าวว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องทำในสามประการหลัก
“...พรรคอนาคตใหม่ เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ หนึ่ง ต้องใช้เศรษฐกิจ ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สอง ปัญหาการเมืองต้องแก้เรื่องอำนาจ เอาอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นจัดการตัวเองให้มากขึ้น และ สาม ต้องแก้ด้วยการทูต สามอย่างนี้ต้องแก้ด้วยกัน” นายธนาธร กล่าว
“ปัญหาเรื่องความมั่นคง อย่ามองที่นี่เป็นปัญหาเรื่องการทหาร ให้มองด้วยว่าความยากจน เป็นสิ่งที่ทำให้คนคับแค้นถึงขนาดนี้ เป็นเพราะคนที่นี่ไม่มีงาน เป็นเพราะคนที่นี่จน คนสามจังหวัดชายแดนเป็นภูมิภาคที่จนที่สุดในประเทศไทย” นายธนาธร กล่าวเพิ่มเติม
นายธนาธร กล่าวถึงเรื่องการปกครองแบบพิเศษ ที่อาจเป็นทางออกของปัญหาความรุนแรง
“เราจะใช้วิธีการปกครองพิเศษ ให้คนในพื้นที่ทำงานร่วมกันระหว่างรัฐส่วนกลางกับฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐ รวมถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ด้วย เราต้องการเดินทางไปหาเสรีภาพ ให้หาสันติภาพ มีอยู่วิธีเดียว ต้องทำอย่างมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง... อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่ทำงานร่วมกันระหว่างรัฐส่วนกลาง กับฝ่ายที่เห็นตรงข้ามรัฐ รวมถึงประชาชนในพื้นที่”
ด้าน ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า การเมืองย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ถ้าการเมืองดี ก็จะทำให้ชีวิตของประชาชนดีไปด้วย ซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเป็นเป้าหมายหนึ่งในหลักอิสลาม สังคมจึงต้องการความยุติธรรม
“ในเมื่อเราอยู่ในช่วงเลือกตั้ง เราก็ต้องเลือกคนที่สามารถสร้างความเป็นธรรม สร้างความเสมอภาค ความเท่าเทียม สร้างความสงบสุข ความร่มเย็นเท่าที่เรามีอยู่ในกรอบกติกาของสังคมบ้านเมือง” ดร.วิสุทธิ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
"เราอยากได้นายกรัฐมนตรี ใครก็ได้ที่แก้ปัญหาราคายาง เศรษฐกิจ ประมง การศึกษา หนี้ กยศ. และสวัสดิการของชาวบ้าน แต่ไม่เอาพรรคเผด็จการ ไม่เอาคนที่กลืนน้ำลายตัวเอง ก็จะออกไปเลือกคนที่จะเข้ามาแก้ปัญหาแบบนี้ให้ประเทศเจริญและมีความสงบ" นายซอบรี สาและ ชาวบ้านในจังหวัดปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ในการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นี้ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้สมัคร สส. มากถึง 391 คน โดยมีที่นั่งเพียง 11 ที่นั่ง ซึ่งในครั้งการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ในแต่ละจังหวัดมีมากกว่า 76 เปอร์เซ็นต์