ตำรวจทลายเครือข่ายการค้ามนุษย์ 20 คดี ได้ผู้ต้องหากว่า 30 ราย

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.08.07
กรุงเทพฯ
180807-TH-trafficking-1000.jpg พล.ต.ต สุรเชษฐ์ หักพาล (ขวาสุด) และ พล.ต.ต. กรไชย คล้ายคลึง (กลาง) รับฟังผลการปฏิบัติการปราบปรามสื่อลามกเด็กของ TICAC วันที่ 7 สิงหาคม 2561
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารที่ 7 สิงหาคม พล.ต.ต. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ร่วมกับ พล.ต.ต.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ แถลงผลการปฏิบัติการร่วมในการทลายเครือข่ายการค้ามนุษย์ได้ถึง 20 คดี ในเดือนที่แล้ว สามารถจับกุมต้องหาชาวไทยและต่างชาติได้กว่า 30 ราย พร้อมช่วยเหลือเหยื่อได้ 17 ราย บางรายเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยผู้บังคับการปรามปรามการค้ามนุษย์แสดงความกังวลว่า เทคโนโลยีในยุคปัจจุบันสนับสนุนให้เกิดการค้ามนุษย์บนสังคมออนไลน์มากขึ้น แต่จัดการได้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น

คดีที่สำคัญคือ ปฏิบัติการทลายเครือข่ายการซื้อบริการทางเพศเด็กชายอายุต่ำกว่า 18 ปี ผ่านสังคมออนไลน์ หลังจากชุดปฏิบัติการสืบสวนพบว่า นายนำพล สมงาม หรือ นิว อายุ 27 ปี เป็นผู้เปิดเฟสบุ๊คและแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อใช้ในการซื้อขายคลิปวิดีโอลามกเด็กชายและบริการทางเพศเด็กชาย อายุต่ำกว่า 18 ปี กับลูกค้าที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ โดยผู้สนใจต้องเสียค่าสมัครสมาชิกจำนวน 300 บาท ก่อนเพื่อเข้าร่วมกลุ่ม “รักเด็ก” และต้องจ่ายอีก 500-1,000 บาท เป็นค่านายหน้า หากต้องการซื้อบริการทางเพศเด็กชาย

ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการสามารถเข้าช่วยเหลือเหยื่อได้ 7 ราย เป็นเด็กชายอายุระหว่าง 10-16 ปี และรวบรวมพยานหลักฐานให้ศาลอนุมัติหมายจับ นายนำพล ได้ในความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณี เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือ ชักพาไปซึ่งบุคคลอายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปี และจากการผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ใดๆ มีลักษณะลามกอนาจารเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเพศสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

“ต่อมาศาลอนุมัติหมายจับ ผู้ซื้อบริการทางเพศ 8 คน ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับการสนับสนุนการค้าประเวณีและพรากผู้เยาว์ โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหากับทั้ง 8 คนและนำตัวยื่นฝากขังต่อศาล ซึ่งทั้งหมดให้การปฏิเสธและได้ขอประกันตัวไปในวงเงิน 300,000 บาท” พล.ต.ต.กรไชย แถลงต่อผู้สื่อข่าว

โดยผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ ระบุว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์บนสื่อสังคมออนไลน์เพิ่มมากขึ้นจนน่าเป็นกังวล เนื่องจากเยาวชนตกเป็นเหยื่อในการแสวงหาผลประโยชน์ได้ง่าย จากเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า ประเทศไทยเป็นศุนย์กลางของการค้ามนุษย์ออนไลน์ แต่ในทางกลับกัน ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากสหรัฐอเมริกา ในการเป็นผู้นำด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาค

สถานการณ์ค้ามนุษย์บนไซเบอร์

Thailand Internet Crimes Against Children – TICAC หรือ คณะทำงานในการป้องกันและปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต จัดตั้งขึ้นหลังจากพบว่าสถานการณ์การค้ามนุษย์บนโลกออนไลน์มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยผลการปฏิบัติการช่วงเวลา 23 วัน ระหว่างวันที่ 14 พ.ค.–6 มิ.ย. สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ทั้งหมด 17 คดี แบ่งเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ 3 คดี ความผิดฐานครอบครองสื่อลามกเด็ก 11 คดี และความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศเด็ก 3 คดี ได้ตัวผู้ต้องหาจำนวน 17 คน เป็นชาวไทย 14 คน เยอรมัน 1 คน รัสเซีย 1 คน และชาวสวิส 1 คน โดยมีผู้เสียหายจำนวน 8 คน เป็นเด็ก 6 คน และเป็นผู้ใหญ่อีก 2 คน

คดีที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา US Homeland Security Investigation – HSI ให้ความสนใจ เป็นคดีที่ผู้ต้องหาที่เป็นพ่อของเด็กแสดงการสำเร็จความใครผ่านการ LIVE SHOW บนสื่อออนไลน์ แล้วนำน้ำอสุจิของตน ไปป้ายที่อวัยวะเพศของเด็กที่เป็นลูกสาวของตนเอง ซึ่งทาง HSI ชื่นชมทีมปฏิบัติการที่สามารถจับกุมได้โดยเร็ว เพราะผู้กระทำความผิดอยู่ใกล้ตัวเด็ก และมีแนวโน้มที่เด็กจะตกเป็นเหยื่อจากการกระทำของผู้ต้องหาที่รุนแรงขึ้น

พล.ต.ต.กรไชย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับเบนาร์นิวส์ ระบุว่า ทางกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้มองเห็นปัญหาเรื่องนี้มานานแล้ว เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก และเส้นทางการค้ามนุษย์มันเริ่มจากสื่อลามก ซึ่งเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง และเข้าถึงได้ง่ายในปัจจุบัน เพราะสามารถออนไลน์แล้วเข้าถึงวิดิโอโป๊ ได้ในเวลาไม่เกินสิบวินาที

“สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่การจับกุม แต่กำลังป้องกันต้นทางของการค้ามนุษย์ การนำสื่อลามกไปขายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เป็นหนึ่งในแปดข้อของฐานการกระทำความผิดในคดีค้ามนุษย์” ผู้บังคับการ ปคม. ระบุ

พ.ต.อ.ฐากูร นิ่มสมบุญ รอง ผบก.กองบังคับการตำรวจรถไฟ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ TICAC ได้ลงนามในข้อตกลงแบ่งปันข้อมูลเพื่อต่อต้านการแสวงประโยชน์จากเด็ก กับศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (U.S. National Center for Missing and Exploited Children หรือ NCMEC) ทำให้ TICAC ได้รับเบาะแสส่งตรงจาก NCMEC มากกว่า 70,000 เคสต่อปี แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้รับความร่วมมือย่างดีจากสหรัฐอเมริกาในการปราบปรามสื่อออนไลน์ ต้นทางของการค้ามนุษย์

“จากการที่เราทำเรื่องสื่อลามกเด็ก เท่าที่ผมจับมา 100 กว่าเคส มีเพียงจำนวน 1 ใน 4 ของ 100 กว่าเคสที่ผมจับ กลายเป็นเรื่องค้ามนุษย์ ทั้งหมดมันอยู่ที่กระบวนการคัดแยก” พ.ต.อ.ฐากูร กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“ตอนนี้เราเน้นการจับกุมสื่อลามกในระบบไซเบอร์ ไม่ได้หมายความว่า ทุกคดีต้องเป็นคดีค้ามนุษย์ แต่เรากำลังจะเน้นว่าทำอย่างไรให้การค้ามนุษย์มันลดลง” ผู้บังคับการ ปคม. กล่าว

การบังคับใช้กฎหมายค้ามนุษย์

พ.ต.อ.ฐากูร นิ่มสมบุญ รองผู้บัญชาการฯ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต TICAC เปิดเผยสถิติการจับกุมในคดีค้ามนุษย์ในปีที่ผ่านมาว่า มีจำนวนที่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยระบุว่า ในปี 2557 บก.ปคม. สามารถจับกุมคดีค้ามนุษย์ได้จำนวน 280 คดี ในปี 2558 จับกุมได้ 317 คดี ในปี 2559 จับกุมได้ 333 คดี ในปี 2560 จับกุมได้ 302 คดี และปัจจุบันปี 2561 จับกุมได้ 165 คดี

ทั้งนี้ หัวหน้าคณะทำงาน TICAC ย้ำว่า การจับสื่อลามกได้รวดเร็วมากขึ้นเท่าไหร่ จะเป็นการป้องกันการซื้อบริการทางเพศเด็กได้เร็วขึ้น และเป็นการป้องกันการค้ามนุษย์ด้วย เพราะฉะนั้นคดีค้ามนุษย์จะลดลงเองโดยธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม จำนวนคดีที่ลดลงมาไม่ได้หมายความว่ามีการกระทำความผิดที่ลดลง แต่เป็นการทำงานแบบบูรณาการที่ใช้หลักผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง ทำให้สามารถขยายผลได้มากขึ้น และคดีที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

ประเทศไทยเคยถูกจัดให้อยู่ในอันดับเทียร์ 2 ในปี พ.ศ.2551 และ พ.ศ.2552 ก่อนจะตกลงมาอยู่ในอันดับเทียร์ 2 ต้องระวัง ในปี พ.ศ.2553-พ.ศ.2556 และ ตกลงไปอยู่ในอันดับเทียร์ 3 ในปี พ.ศ.2557 หลังการรัฐประหาร ต่อเนื่องถึงปี พ.ศ.2558 และได้รับการยกระดับให้ขึ้นมาอยู่ในเทียร์ 2 ต้องระวังในปี พ.ศ.2559 และ พ.ศ.2560 ก่อนจะได้รับการปรับระดับให้กลับมาอยู่ในเทียร์ 2 อีกครั้ง ในปี พ.ศ.2561 นี้

ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ฉบับปัจจุบัน ระบุว่า รัฐบาลไทยได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างมาก ในการปราบปรามการค้ามนุษย์ เมื่อเทียบกับรายงานปีที่ผ่านมา แม้ว่าการปราบปรามฯ ของรัฐบาลไทยยังไม่ได้ตรงตามมาตรฐานขั้นต่ำ แต่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการดำเนินคดีลงโทษผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยใช้กฎหมายพิเศษเพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินคดี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง