นายกฯ ระบุ ไม่ขวางแผน ทร. ซื้อเรือดำน้ำจีนเพิ่ม

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.07.30
กรุงเทพ
190730-TH-chinasub-1000.jpg บริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นำโมเดลจำลองเรือดำน้ำมาแสดงไว้งาน Defense and Security 2017 วันที่ 6 พฤศจิกายน 2560
(ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์)

ในวันอังคารนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามสื่อมวลชน เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 จากประเทศจีนว่า แผนการซื้อเรือดำน้ำของทางกองทัพเรือนั้นจบเรียบร้อยแล้ว และขอให้ดูถึงความจำเป็นและความเหมาะสมว่าจะต้องซื้อหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวที่กระทรวงกลาโหมเป็นครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลชุดใหม่นี้ โดยเมื่อถูกถามว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ จะยังสนับสนุนโครงการการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวให้คำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสม

“ก็มันจบไปแล้วนี่ ทำไมล่ะ มันก็ควรจะต้องมีไหมล่ะ มันควรจะต้องมีลำเดียวแล้วพอโดยที่มันเสียแล้วก็ใช้ไม่ได้หรือไง มันต้องพักหมุนเวียนกันหรือเปล่า... ก็ดูความจำเป็นนะ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ มิได้ขยายความ หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำสำหรับกองทัพเรือแต่อย่างใด ทางเบนาร์นิวส์พยายามติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกองทัพเรือ และเจ้าหน้าที่ทหารเรือระดับสูง แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า ชั้นหยวน แบบ S26T ซึ่งปรับปรุงมาจากเรือดำน้ำชั้นหยวน (Yuan Class หรือ Type 039B) จำนวน 1 ลำ เรียบร้อยแล้ว

โดย พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) คนปัจจุบัน ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำขณะนั้น ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ทาง ทร. มีความต้องการจัดหาเรือดำน้ำรวมสามลำ คิดเป็นมูลค่า 36,000 ล้านบาท เป็นเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า แบบ S26T จากประเทศจีน 1 ลำ ใช้เงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560

การจัดซื้อครั้งนี้ พล.ร.อ.ลือชัย เป็นผู้ลงนามร่วมกับบริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd.) ผู้แทนรัฐบาลจีน ตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 เป็นข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล ได้ลงนาม ณ อาคารรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ่ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และได้มีการวางกระดูกงูเรือดำน้ำลำแรกไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2561

การเซ็นสัญญาซื้อเรือดำน้ำลำแรก ซึ่งใช้งบประมาณ 13,500 ล้านบาท แบ่งชำระเงินเป็น 7 ปี รวม 17 งวด เริ่มจ่ายงวดแรกปี 2560 เป็นเงิน 700 ล้านบาท และงวดที่เหลือระหว่างปี 2561-2566 ชำระเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท เดือนกันยายน 2561 จีนได้เริ่มต่อเรือดำน้ำที่ไทยสั่งซื้อแล้ว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์ด้านการทหารผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวว่า คุณภาพของเรือดำน้ำจีนยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ เพราะจีนมีประสบการณ์การต่อเรือดำน้ำมาไม่นานนัก และที่ผ่านมา จีนไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลข้อดีข้อเสียของเรือดำน้ำของตน

“เรื่องสมรรถนะ วัสดุที่ใช้ ความทนทาน ระบบโซนาร์ และระบบอาวุธ ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ไม่เหมือนของชาติตะวันตกที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว อายุใช้งานของเรือดำน้ำจีนประมาณ 10-15 ปี ในขณะที่ของชาติตะวันตกมีอายุใช้งาน 30 ปี ขึ้นไป” ผู้สังเกตการณ์ท่านดังกล่าวให้ทัศนะผ่านเบนาร์นิวส์

ต่อประเด็นการจัดซื้ออาวุธ และยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสมัยที่ผ่านมา กล่าวแก่ที่ประชุมรัฐสภา ในวันแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ว่า การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต่างๆ เป็นการซื้อเพื่อทดแทนของเก่า ซึ่งใช้งานมาเป็นระยะเวลานานแล้ว

“การใช้จ่ายของกระทรวงกลาโหมนั้น เราแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน… ยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ซึ่งเรามีแผนการจัดหายุทโธปกรณ์ของเราอย่างชัดเจน ยุทโธปกรณ์ที่เราใช้อยู่ขณะนี้ ใช้เป็นระยะเวลา 20-30 ปีทั้งนั้น ก็ถึงคราวที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง... เป็นเรื่องของเหล่าทัพที่เขาจะพิจารณาใช้ มาให้กระทรวงกลาโหมได้พิจารณา” พล.อ.ประวิตร กล่าว

โดยจากเอกสารงบประมาณของรัฐบาล ปี 2562 กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรงบประมาณ 117,583,067,200 บาท แบ่งเป็น กองทัพบก 49,480,319,200 บาท กองทัพเรือ 23,295,212,200 บาท และกองทัพอากาศ ได้ 28,232,821,800 บาท

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง