ไทย-สหรัฐ ปิดการฝึกทหารคอบร้าโกลด์ ครั้งที่ 39

อารยา โพธิ์จา และ นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.03.06
สุโขทัย
200306-TH-cobra-gold-1000.jpg เฮลิคอปเตอร์แบล็คฮอว์ค บินอยู่เหนือสนามฝึกกองทัพภาคที่ 3 บ้านด่านลานหอย ในจังหวัดสุโขทัย ระหว่างการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง ก่อนการปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 2020 วันที่ 6 มีนาคม 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์นี้ กองทัพไทย และสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมเป็นประธานในพิธีปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 2020 อย่างเป็นทางการ ณ สนามฝึกกองทัพภาคที่ 3 อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย หลังจากได้ร่วมกิจกรรมฝึกมาตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 โดยวันนี้ มีกองทัพไทย กองทัพสหรัฐอเมริกา กองทัพสิงคโปร์ กองทัพมาเลเซีย และกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นร่วมฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริงกว่า 700 นาย

พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วย นายไมเคิล จี. ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก พลเอก โคจิ ยามาซากิ ประธานเสนาธิการร่วม กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น และพลโท เฮอร์แมน สเตซี่ แคลร์ดี ผู้บัญชาการกำลังรบนอกประเทศ นาวิกโยธินที่ 3 ร่วมพิธีปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ ครั้งที่ 39 วันนี้

นายไมเคิล จี. ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้กล่าวแก่สื่อมวลชน หลังเสร็จสิ้นพิธีปิดว่า การฝึกซ้อมร่วมกันของกองทัพสหรัฐอเมริกา และไทยในคอบร้าโกลด์ 2020 จะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่แนบแน่นอยู่แล้วให้แนบแน่นขึ้นไปอีก

“ความสัมพันธ์ของเรากับทหารไทยนั้นมีความแน่นแฟ้นอย่างมาก คอบร้าโกลด์ เป็นเครื่องแสดงความมุ่งมั่นที่ไม่สั่นคลอนของเรา ต่อทั้งความเป็นพันธมิตรของสหรัฐ-ไทย และต่อทั้งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และความสัมพันธ์ระหว่างทหารสหรัฐกับไทย จะเพิ่มพูนจากความเน่นแฟ้นสู่ความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” นายไมเคิล กล่าว

“จีนเข้าร่วมในการฝึกแบบมีบทบาทจำกัด ซึ่งเรามีความยินดีที่เราได้ทำงานร่วมกัน แต่ในบริบทการฝึกเราได้มุ่งเน้นไปยังประเทศที่ร่วมฝึกเต็มรูปแบบ ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานร่วมกัน ในวันนี้” ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของจีน ซึ่งร่วมฝึกในด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรรม

สำหรับการฝึก ณ จังหวัดสุโขทัยครั้งนี้ เป็นการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (CALFEX) มีกิจกรรมคือ การโดดร่มแทรกซึมเบื้องสูง การซุ่มยิง การบินขัดขวางทางอากาศ การยิงเตรียมและการยิงสนับสนุนของปืนใหญ่ การเจาะช่องเปิดเส้นทางของทหารช่าง การเคลื่อนที่ประกอบการยิง การโจมตีทางอากาศ การสนับสนุนทางอากาศใกล้ชิด การยุทธ์เคลื่อนที่ทางอากาศ การส่งกลับสายแพทย์ทางอากาศ และการเข้ายึดที่หมาย

โดยมีการใช้ยุทโธปกรณ์สำคัญที่เข้าร่วมการฝึกฯ ประกอบด้วย รถถัง Stingray ปืนใหญ่ M101A1 เครื่องบินขับไล่ F-16 รถโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก จากกองทัพไทย จรวดหลายลำกล้อง HIMARS รถโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก AAV เครื่องบินขับไล่ F-35B Lightning II, F-16 เครื่องบิน P-8 จากกองทัพสหรัฐอเมริกา รถโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก และปืนใหญ่ขนาด 155 มิลลิเมตร

ด้าน สิบเอกสก็อต เจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐอเมริกา ที่ได้ร่วมฝึกคอบร้า โกลด์ ครั้งที่ 39 นี้ กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า รู้สึกภูมิใจมากที่ได้มาฝึกครั้งนี้

“ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้ฝึกซ้อมร่วมกับทหารไทย และผมหวังว่าจะได้กลับมาฝึกอีกหลาย ๆ ครั้งครับ” สิบเอกสก็อต กล่าว

ขณะที่ จ่าสิบเอกพิเศษมัวร์ ระบุว่า การร่วมฝึกคอบร้าโกลด์ ครั้งนี้ ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ยอดเยี่ยมสำหรับตนเอง

“ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากที่ได้ฝึกร่วมกับกองทัพของหลายประเทศ โดยเฉพาะกองทัพไทย เป็นครั้งแรกของผมที่ได้มาฝึก ซึ่งผมรู้สึกสนุกมากครับ” จ่าสิบเอกพิเศษมัวร์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในพิธีเปิดคอบร้าโกลด์ก่อนหน้านี้ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวไว้ในพิธีเปิดการฝึกว่า "กองทัพไทยได้วางมาตรการความปลอดภัยให้กับกำลังพลทุกคนที่เข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มการฝึกมา เรายังไม่ได้รับรายงานการติดเชื้อ ผมยืนยันว่าเรามีแผนในการรับมือการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว และมาตรการที่จะรักษาสุขภาพและให้ความปลอดภัยแก่ทุกคน”

โควิด-19 ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน ขณะนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกา และประเทศเจ้าภาพประเทศไทย ซึ่งมีผู้ป่วยติดเชื้อ 47 ราย ตามรายงานวันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม องค์การอนามัยโลกได้บันทึกมีผู้ป่วยอย่างน้อย 95,000 ราย และเสียชีวิต 3,200 ราย ใน 85 ประเทศ

ปัจจุบัน การฝึกคอบร้าโกลด์ ถือเป็นการฝึกทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทยและกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด - แปซิฟิก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี การฝึกคอบร้าโกลด์ที่ผ่านมา นับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูง ในการพัฒนาขีดความสามารถกำลังพลของประเทศที่เข้าร่วมการฝึกฯ และเป็นศูนย์รวมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ หลักนิยม และเทคโนโลยีทางทหาร รวมทั้งเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับกำลังพลของกองทัพไทย และกองทัพมิตรประเทศในปฏิบัติการร่วม/ผสม

การฝึกคอบร้าโกลด์ ปีนี้ มีประเทศที่เข้าร่วมการฝึกในระดับต่าง ๆ รวม 29 ประเทศ มียอดผู้เข้าร่วมการฝึกจำนวนกว่า 9,650 นาย ประกอบด้วยไทย 3,750 นาย สหรัฐฯ 5,500 นาย สิงคโปร์ 47 นาย ญี่ปุ่น 142 นาย อินโดนีเซีย 50 นาย สาธารณรัฐเกาหลี 30 นาย มาเลเซีย 51 นาย จีน 32 นาย และอินเดีย 13 นาย โดยทางสหรัฐอเมริกาส่งเรือรบมาร่วมฝึก 2 ลำ คือ เรือ USS America และ USS Green Bay ทั้งยังได้จัดเตรียมเครื่องบินรบ 64 ลำ และยังได้ส่งเครื่องบิน F-15 และ F-35 ซึ่งใช้เทคโนโลยีลดการสะท้อนเรดาร์มาร่วมฝึกอีกด้วย

ทั้งนี้ ตลอดหลายวันที่ผ่านมา มีการฝึกที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibious Exercise: AMPHIBEX) ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หาดยาว จังหวัดชลบุรี และ การฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (Combined Arms Live Fire Exercise: CALFEX) ในวันที่ 6 มีนาคม 2563 ณ สนามฝึกกองทัพภาคที่ 3 อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย

โดย นอกจากประเทศที่เข้าร่วมการฝึกหลัก 7 ประเทศแล้ว ยังมีประเทศที่ร่วมฝึกในโครงการช่วยเหลือประชาชน 2 ประเทศ ได้แก่ จีนและอินเดีย ส่วนประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation Team) ที่ฝ่ายสหรัฐฯ เสนอให้เข้าร่วม 10 ประเทศนั้น ประกอบด้วยออสเตรเลีย บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และฟิจิ และประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึก หรือ COLT (Combined Observer Liaison Team) ที่ฝ่ายไทยเสนอจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ ลาว เวียดนาม บรูไน เมียนมา ปากีสถาน กัมพูชา อิสราเอล เยอรมนี สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง