ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 6 เมษายน ศกนี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.04.03
กรุงเทพฯ
TH-monument-620 ประชาชนชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวาระครบ 2 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์ (3 เมษายน 2560) นี้ สำนักพระราชวัง ได้เผยแพร่หมายกำหนดการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยบนรัฐธรรมนูญ และพระราชทานแก่นายกรัฐมนตรีเพื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 6 เมษายน 2560 นี้

“ทรงโปรดเกล้าฯให้พระราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว พระราชทานแก่นายกรัฐมนตรี เจ้าพนักงานอาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประทับพระราชลัญจกรแล้วเชิญไปประดิษฐานบนพานทองที่เสาบัวหน้ามหาสมาคม” ตอนหนึ่งของหมายกำหนดการระบุ

หมายกำหนดการระบุอีกว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ่านกระแสพระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 จบแล้ว เจ้าพนักงานประโคมฆ้องชัยสังข์ แตร ดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทหารบกทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่ฝ่ายละ 21 นัด และวัดทั่วราชอาณาจักรย่ำระฆังและกลอง ครั้นสุดเสียงปืนใหญ่ มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตรมโหระทึก วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับ

โรดแมปสู่ประชาธิปไตยและความล่าช้า

หลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวให้คำมั่นว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งภายใน 15 เดือน ซึ่งจะอยู่ในเดือนสิงหาคม 2558 และต่อมาได้ระบุเรื่องแผนการเลือกตั้งครั้งแรก ในระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยกล่าวต่อตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นว่า ประเทศไทยจะมีเลือกตั้งในต้นปี 2559

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวแสดงถึงความไม่แน่นอนของวันเลือกตั้งอยู่เป็นระยะๆ เพราะเหตุผลเรื่องการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

ล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม 2560 นี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า รัฐบาลไม่ได้เลื่อนโรดแมป แต่จะจัดการเลือกตั้งขึ้น หลังจากเสร็จสิ้นพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพิธีราชาภิเษกพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งยังไม่ได้มีการระบุชัดเจน แต่มีการประมาณว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี-กลางปี 2561

พรรคเพื่อไทยขอทราบกำหนดคลอดกฎหมายลูก

นายสมคิด เชื้อคง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดให้ชัดว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะเสร็จเมื่อใด และจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด เนื่องจากเชื่อว่า หากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะทำให้เศรษฐกิจกลับสู่สภาวะปกติ

“เวลาผ่านมาเกือบ 3 ปีอะไรมันไม่ดีขึ้น รัฐบาล หรือ คสช. บอกว่าจะมีโรดแมป แต่เลื่อนไปเรื่อย มันเหมือนเรือออกจากฝั่งแล้วไม่เจอฝั่งเลย คุณไม่รู้จะเจอมรสุมเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นควรหาฝั่งให้เจอ คือกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดว่า จะทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญระยะเวลาเท่าไหร่ มีกระบวนการเลือกตั้งซะ มันถึงเวลาแล้ว ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ควรจะเร่งรัดกฎหมายลูกโดยเร็ว จะช้าจะเร็วคนที่มีอำนาจก็ต้องไปดู” นายสมคิดกล่าว

ด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ประชาชน และพรรคการเมืองน่าจะมีความพร้อมที่จะเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง และกลับสู่ประชาธิปไตยแล้ว

“การประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรแปลกใจ เพราะมันสมควรแล้วที่จะประกาศใช้เนื่องจากลงประชามติแล้ว มันก็เป็นการส่งสัญญาณว่า การเมืองต้องเดินไปข้างหน้า เข้าสู่ประชาธิปไตย เข้าสู่การเลือกตั้ง และนับถอยหลังของ คสช. ผมว่าคนไทยพร้อมที่จะเลือกตั้ง ควรจะให้พรรคการเมืองได้เตรียมพร้อมภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ควรให้มีการจดทะเบียนพรรคการเมือง หรือการหาผู้สมัคร คือถ้าประกาศปีนี้ได้ ก็เหมือนปีนี้จะพร้อมให้มีการเลือกตั้ง” นายสมบัติกล่าว

ทั้งนี้ ในวันออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ประชาชนลงคะแนนเสียง ในประเด็นที่ 1 ร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ 16,820,402 = 61.35% ไม่เห็นชอบ 10,598,037 = 38.65%  ในประเด็นที่ 2 ประเด็นคำถามพ่วง (เพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เห็นชอบ 15,132,050 = 58.07% ไม่เห็นชอบ 10,926,648 = 41.93%

และจากนั้น กรรมการการเลือกตั้ง ได้ประกาศรับรองผลประชามติอย่างเป็นทางการ ทั้งในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง เมื่อวันที่10 ส.ค. 2559

ในวันที่ 13 ม.ค. 2560 ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบ 3 วาระรวด แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อให้นายกฯ ขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ผ่านการออกเสียงประชามติ กลับมาแก้ไขเพิ่มเติมได้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง