ครบรอบ 4 ปี คสช. ประชาชนต้องการสิทธิเสรีภาพ ทหารหวังสานต่ออำนาจ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.05.17
กรุงเทพฯ
180517-TH-protesters-1000.jpg ประชาชนรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อประท้วงการรัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วันที่ 24 พ.ค. 2557
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

ในห้วงเวลาที่จะครบรอบการรัฐประหารเป็นปีที่สี่ และย่างเข้าปีที่ห้า ในสัปดาห์หน้า นักศึกษาและประชาชนกลุ่มหนึ่ง ยังเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรีบจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่รัฐบาลทหารภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ซึ่งขึ้นสู่อำนาจหลังทำการยึดอำนาจรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงไม่ระบุวันเลือกตั้งที่ชัดเจน พร้อมทั้งพยายามที่จะเดินหน้าหาพันธมิตรทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง จนทำให้นักวิเคราะห์และฝ่ายนิยมประชาธิปไตย มองว่า เป็นท่าทีที่บ่งบอกว่าทหารต้องการคงอำนาจไว้ แม้จะมีการเลือกตั้งใหม่แล้วก็ตาม

หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ได้วางโรดแม็ปกลับคืนสู่ประชาธิปไตย โดยจะใช้เวลาหนึ่งปีครึ่ง แต่ล่าสุด หลังจากคำนวณเรื่องการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้ว ควรจะมีการเลือกตั้งได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์ ไม่เคยระบุอย่างชัดเจนว่า จะลงเลือกตั้งหรือไม่ และยังปฎิเสธว่าการเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อช่วงเวลาสามสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มิใช่การเจรจากับนักการเมืองให้สนับสนุนทหาร

“เห็นการพยายามสร้างเครือข่ายกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่อย่างสนิทสนม สะท้อนภาพการเมืองแบบเดิมๆ เพื่อเสถียรภาพของทหาร หลังการเลือกตั้ง” ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความคิดเห็นต่อเบนาร์นิวส์

“ไม่น่าแปลกที่เห็นลงพื้นที่ช่วงนี้ สิ่งนี้สะท้อนพฤติกรรมปกติของการเมือง แม้นายกฯ พูดหลายครั้งว่า นักการเมืองเป็นสิ่งเลวร้าย สิ่งที่ทหารทำอยู่ปัจจุบัน ก็ไม่ต่างจากนักการเมือง สิ่งที่เราเห็นเป็นเหมือนการเพิ่มพลังให้กลุ่มการเมืองที่ว่าเลวร้าย” ดร.ฐิติพล กล่าว

เมื่อเดือนตุลาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่า จะจัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ 19 จังหวัด ภายในระยะเวลาเพียง 5 เดือน

การปรากฎภาพ พล.อ.ประยุทธ์ กับสมาชิกครอบครัวสะสมทรัพย์ ผู้กว้างขวางแห่งนครปฐม การแต่งตั้งคนในครอบครัวคุณปลื้ม ผู้มีอิทธิพลทางการเมืองของชลบุรี เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และการจัดคนมาฟังคำปราศรัยของพลเอกประยุทธ์ ในสนามฟุตบอลในบุรีรัมย์ โดยนายเนวิน ชิดชอบ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอีสานใต้ ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ และพวก กำลังพยายามหาแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาล

หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีผลงานหลายอย่างที่สำเร็จ และลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพื่อรับฟังปัญหา ไม่ใช่การดูดนักการเมือง

“ลงพื้นที่แล้วมันเป็นยังไง ฉันไม่เคยดูดใคร ทำอะไรตั้งเยอะแยะก็หาว่ามาหาเสียง ไอ้นี่ทำเพื่อประเทศ ผมไม่พูดหรอกว่าผมอยู่พรรคไหน ผมจะอยู่กับใครยังไม่รู้ หรือไม่อยู่ก็ไม่รู้ ผมไม่เคยคิดว่าใครจะหนุนผม ไม่หนุนผม วันนี้เป็นนายกฯ วันหน้าไม่รู้ ยังไม่กำหนด(วันเลือกตั้ง) ดูความพร้อม ไปทีละขั้น จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าบ้านเมืองจะไม่มีปัญหา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ-ควบคุมการประท้วง

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รวบรวมสถิติหลังการรัฐประหาร จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2561 พบว่า มีประชาชนถูกเรียกไปรายงานตัวหรือเยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,319 คน, ถูกจับกุมอย่างน้อย 597 คน, ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 94 คน, ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 75 คน

พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 333 คน มีกิจกรรมถูกปิดกั้น-แทรกแซง อย่างน้อย 152 ครั้ง และใช้อำนาจผ่าน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควบคุมหรือลงโทษสื่ออย่างน้อย 52 ครั้ง

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลแสดงความพยายามในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างน่าชื่นชม แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาอีกหลายประเด็นที่รอการแก้ไขเช่นกัน

“การห้ามชุมนุม ทั้งที่รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพ นักปกป้องสิทธิยังถูกฟ้องดำเนินคดี สิทธิความเท่าเทียมทางเพศหรือศาสนายังมีปัญหา ปัญหาสิทธิมนุษยชนหลายเรื่อง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รวบรวม เป็นรายงาน และเสนอให้รัฐบาลแก้ไข ซึ่งหลายประเด็นก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร” นางอังคณาระบุ

การเปลี่ยนกำหนดวันเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้ง​โดยเร็ว นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่จัดกิจกรรมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งหลายครั้งนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ระบุว่า ตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลทหารมีอำนาจ ไม่มีผลงานที่จับต้องได้ ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และต่างชาติ จึงควรนำประเทศกลับสู่การเลือกตั้งเพื่อให้ประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย

“การเลือกตั้งถูกเลื่อนนับแล้วเกินกว่าสิบครั้ง เราพยายามจะเชื่อใจ เพราะมันถูกสัญญาไว้... เราเลยเรียกร้องให้เขาทำตามสัญญา นั่นคือเดือนพฤศจิกายน 61” นายรังสิมันต์กล่าว

ในการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ที่ลานบนทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬา อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน หรือหน้ากองทัพบก ทำให้มีแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น กฎหมายอาญามาตรา 116 และ ความผิดใน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยังยืนยันว่า จะจัดการชุมนุมใหญ่ในวันครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร คสช. 22 พฤษภาคม 2561 นี้ แม้มีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีก็ตาม

นายรังสิมันต์กล่าวว่า กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองและประชาชนสามารถทำกิจกรรมต่างๆ และแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งที่จะมาถึงเป็นการแข่งขันอย่างยุติธรรม และเท่าเทียม ในขณะที่รัฐบาลเองลงพื้นที่ในแต่ละจังหวัด เพื่อการสนับสนุนของชาวบ้าน

“ถ้าเลือกตั้งแล้วมีนายกฯ คนนอก อาจได้เห็นการชุมนุมอีก อาจเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างการเมืองในสภา กับการเมืองท้องถนน หรือไม่มีการเลือกตั้งเลย การเมืองถนนก็คงออกมา จะไปไกลแบบยุคสุจินดาหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ ถ้าบิ๊กตู่เป็นนายกฯ ตามระบบ ไม่มีการเอาเปรียบ หรือเข้ามาโดยไม่ชอบธรรมก็คงไม่มีปัญหา” นายรังสิมันต์ กล่าว

ด้าน ดร.ฐิติพล ให้ทรรศนะว่า การเมืองคงไม่มีแรงต่อต้านอย่างรุนแรง เพราะคนรายได้ต่ำจำนวนหนึ่ง ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายเชิงประชานิยม ซึ่งลดแรงต้านต่อทหารได้ ในขณะที่ตัวนายกหรือทหาร ก็พยายามหาแนวร่วมสนับสนุนเป็นพรรค และกลุ่มธุรกิจที่สนับสนุนรัฐบาลอยู่ เพราะฉะนั้นไม่น่าจะมีการประท้วง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง